ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านท่าตาลได้รวมกลุ่มปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อส่งรังไหมให้โรงงานผลิตผ้าไหมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาการตลาดไม่ดีมีปัญหาในการขนส่ง จึงเลิกเลี้ยงไหม ทำให้ต้นหม่อนที่มีอยู่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ในตอนนั้น กำนันราวิลย์ ภู่ยางโทน จึงได้ส่งกลุ่มคนผู้ปลูกหม่อน จำนวน 10 คน ไปศึกษาดูงานการผลิตชาใบหม่อนจากชาวบ้านด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา และมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชาใบหม่อน ผลิตชาเป็นสินค้าโอทอบของตำบลได้เป็นสินค้า 5 ดาว ตัวแรกของชุมชน
ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ชาวบ้านมีการปลูกถั่วดาวอินคาเพื่อเป็นอาชีพเสริม ขายผักส่งบริษัทเพื่อสกัดน้ำมันอินคา กิโลกรัมละ 50-80 บาท ส่วนของใบอินคามีการทำเป็นชาเพื่อสุขภาพ ดังนั้นชาวบ้านจึงใช้องค์ความรู้จากการทำชาใบหม่อน มาทำชาอินคาเพื่อบริโภคและมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนไทยอินคาท่าตาลในปี พ.ศ.2558 ผลิตชาอินคาภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ นันฺทวดี ปัจจุบันกลุ่มตั้งอยู่เลขที่ 126/2 หมู่2 ต.ท่าตาล อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ประกอบด้วยกลุ่มคนผู้ปลูกถั่วดาวอินคาและชาวบ้าน โดยมีหน่วยงานของตำบล อำเภอ จังหวัดเข้ามาสนับสนุนให้ความรู้ด้านต่างๆ
เนื่องจากพืชถั่วดาวอินคามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและคนในชุมชนมีปัญหาสุขภาพเรื่องไขมันสูง ความดันและภาวะเบาหวาน จึงได้หาข้อมูลของพืชถั่วดาวอินคาตามสื่อต่างๆ และพบว่าสารในใบอินคาช่วยลดไขมันและความดันในเลือดได้ จึงลองมาใช้กรรมวิธีผลิตชาสูตรของบ้านเรา คือการคั่วชาด้วยมือ ออกมาเป็นชาเขียว มีกลิ่นหอมพิเศษ รสชาติอร่อยไม่ฝาดเหมือนชาจีนดื่มง่าย มีการบริโภคในกลุ่มคนที่ภาวะไขมันและความดันสูง ช่วยให้คนกลุ่มนี้มีสุขภาพดีขึ้นสามารถควบคุมระดับเลือดได้
กระบวนการสำคัญของการทำชาที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ การใช้ทักษะในการคั่วชาด้วยมือ ซึ่งเป็นกรรมวิธีทำชาจีนสูตรโบราณ ด้วยการใช้ใบอินคาสดมาคั่วจนแห้ง ใช้เวลาคั่วในกระทะใบบัวประมาณ 45 นาที ชาที่ได้จะมีกลิ่นหอม รสดี ไม่ขม ไม่ฝาด
จนกระทั่งปี พ.ศ.2559 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับงบวิจัยของสถาบันวิจัยแห่งชาติ นำเอาใบชาของกลุ่มไปศึกษาวิจัยเป็นกลุ่มต้นแบบ เพื่อศึกษาปริมาณโพลีฟีนอล คาเตชิน และองค์ประกอบทางโภชนะ ของชาใบดาวอินคาซึ่งพบสาระสำคัญหลายตัว
ความสำเร็จส่วนหนึ่งจากการดำเนินงานเกิดจากกลุ่มกลุ่มมีพื้นที่ปลูกถั่วดาวอินคากันเอง โดยปลูกกันเป็นอาชีพเสริม มีมากกว่า 500 ต้นมีใบเพียงพอในการผลิตชา และคนในชุมชนเองก็มีองค์ความรู้ในการทำชาด้วยมือ ที่ไม่เหมือนใคร อุปกรณ์ในการผลิตชามีพร้อมในการผลิตและมีโรงเรือนการผลิตสะอาดเป็นเรือนทำชาโดยเฉพา นอกจากนั้นยังมีการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีที่เข้ามาร่วมกัน อาทิเช่น เมื่อปี พ.ศ.2560 อบต.ท่าตาลได้ให้งบสนับสนุนในการซื้อตู้อบชาและอุปกรณ์ 50,000 บาท สำนักงานเกษตรให้งบโครงการ 9101 ในโครงการปลูกถั่วดาวอินคาในชุมชนและสภาอุตสาหกรรม,อุตสาหกรรมจังหวัดได้เข้ามาช่วยออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ให้ ซึ่งล้วนเป็นการช่วยเหลือจากภาคีวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ
เป้าหมายของการดำเนินการในภายภาคหน้ามีการออกแบบแผนงานไว้จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และศูนย์สุขภาพ หนึ่งในของดีจังหวัดพิษณุโลกให้ได้