เมื่อปี พ.ศ.2550 ตำบลเนินมะปรางเกิดสถานการณ์ปัญหาขยะล้นตำบล โดยมีการทิ้งขยะบริเวณตลาดและพื้นที่สาธารณะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วตำบล มีแมลงวันซึ่งเป็นพาหะนำโรคสู่มนุษย์ เกิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค พอในฤดูฝนน้ำฝนจะไหลพาขยะลงไปในคลองทำให้น้ำไหลท่วมกระจายไปทั้งตำบล จึงทำให้คนในชุมชนต้องระดมความคิดที่จะนำปัญหาในการกำจัดขยะนำเข้าที่ประชุมสภาตำบล โดยมีมติร่วมกันของทุกหมู่บ้านจากทั้งหมดที่มี 9 หมู่ในตำบลเนินมะปรางเป็นตำบลนำร่องในการกำจัดขยะของชุมชน
ดังนั้นชุมชนจึงลุกขึ้นมาจัดการขยะด้วยตัวเองโดยมีแนวคิดหลัก คือ เพื่อลดขยะมลพิษต่างๆ ในชุมชนเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินเพราะขยะเริ่มมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวันถ้าไม่คิดทำในวันนี้ ปัญหาจะหมักหมมเพิ่มขึ้นและอาจจะแก้ไขยากหรือแก้ไขไม่ได้เลย
โดยหลังจากมีมติการจัดการขยะร่วมกันแล้วจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยพิจารณาคณะทำงานกำหนดให้หมู่ 3 และหมู่ 9 เป็นหลักเพราะเป็นหมู่ที่อยู่ในเขตชุมชน ซึ่งได้ขออาคารที่เลิกใช้แล้วของโรงเรียนบ้านหนองขอนประชาสรรค์เป็นโรงเรือนในการจัดการขยะจากทั้ง 9 หมู่บ้านจัดตั้งเป็นธนาคารขยะ นำคณะทำงานไปศึกษาดูงานที่บ้านผารังหมีของตำบลไทรย้อยอำเภอเนินมะปรางโดย อบต.เนินมะปรางสนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรมให้ความรู้คนทั้ง 9 หมู่บ้านในเรื่องการจัดการขยะเน้นให้ทุกคนเรียนรู้คุณค่าของขยะและจัดการขยะให้เป็นเงิน
มีการระดมหุ้นเพื่อสร้างกระบวนการให้ทุกคนตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของร่วมกันนอกจากนี้ อบต.เนินมะปรางให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินมะปรางสนับสนุนในเรื่องอบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะพร้อมกับจัดสวัสดิการสำหรับคณะทำงาน และผู้ดูแลคัดแยกขยะโดยเน้นการทำงานจึงจะได้รับสวัสดิการนั้น ทั้งนี้ได้มีกลไกการจัดเชื่อมกับอบต.ท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสนับสนุนการทำงานพร้อมงบประมาณ โดยโรงเรียน วัด ร้านค้าให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ รพ.สต.อบรมให้ความรู้เรื่องสุขภาวะ ของการคัดแยกขยะ
จากการทำงานเรื่องขยะทำให้มีความรู้ด้านการจัดการขยะ ก่อให้เกิดภาคีใหม่ๆ ขึ้น การคัดแยกขยะเปียกขยะแห้ง ขยะอันตรายและรู้จักการคัดแยกขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากบริษัทวงษ์พาณิชย์ชุมชนให้ความร่วมมือในการกำจัดขยะ คัดแยกขยะ มีการชักชวนนักเรียนโรงเรียนเข้าร่วมและหน่วยงานอื่นๆ วงษ์พาณิชย์จะมารับซื้อขยะโดยตรงพร้อมกับให้อบรมความรู้ให้ด้วย
ผลที่เกิดขึ้นนอกจากการที่ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ได้แล้วนั้น องค์กรชุมชนเองก็เข้มแข็งขึ้นและมีความสามารถในการบริหารจัดการ เริ่มแรกยังไม่ร่วมงานกันทั้งหมดแต่ต่อมามีสมาชิกเพิ่มจากเดิมเป็นทุกครัวเรือน การที่มีถังขยะเปียกในครัวเรือนมีหลุมขยะเปียกตามโคนต้นไม้เป็นการเพิ่มปุ๋ยให้ต้นไม้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ย และในการทำงานทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
หลังจากเกิดความร่วมมือในการจัดการคัดแยกขยะแล้ว ทำให้มีรายได้ทุกครัวเรือนเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขยะมีมลพิษลดลง ผลพลอยได้ตามครัวเรือนก็ตามมา ต้นไม้ได้ปุ๋ยตามธรรมชาติเติบโตแข็งแรงจากการตรวจสารพิษในร่างกายของประชากรไม่พบสารพิษตกค้าง และยังได้รับการสนับสนุนจากอบต.รวมถึงหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเรื่องการกำจัดขยะเพิ่มขึ้นหรือทางปกครอง อำเภอ สภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรประชาชนจังหวัดพิษณุโลก
ในแนวทางข้างหน้าก็จะอาศัยโครงการของจังหวัดที่ให้ตำบลละ 200,000 บาท มาทำการพัฒนาโรงเรือนและพัฒนาการทำปุ๋ยจากขยะเปียกจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ตำบลอื่นต่อไป