ทางบริเวณทิศใต้ของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่ตั้งของตำบลระวิง ซึ่งมีอาณาเขต 74.9 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 46,812.5 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม และประชากรส่วนมากยึดอาชีพหลักโดยการทำการเกษตร และในขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่นี้ก็ยังมีการรวมกลุ่มกันสร้างของดีของอร่อยจากวัตถุดิบที่หาได้จากธรรมชาติในพื้นที่นั่นคือ “มะขาม”
โดยเมื่อปี พ.ศ.2550 เนื่องจากมะขามเป็นผลไม้ที่ออกผลตามฤดูกาลทำให้เมื่อผลิตผลออกมามากเกินไปราคาเริ่มตกต่ำ คนในชุมชนจึงเริ่มมีความคิดแปรรูปมะขามโดยเริ่มแรกนั้นได้นำมะขามมาแปรรูปเป็นมะขามคลุก และเริ่มลงมือทำมะขามกวนส่งออกขายภายในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งมะขามกวน มะขามคลุก มะขามแช่อิ่ม มะขามอบแห้งโดยใช้มะขามพันธุ์สีชมพู เนื่องจากมีสีสวย รสชาติไม่เปรี้ยวมากไม่หวานมาก กลมกล่อมกำลังพอดี ในช่วงฤดูมะขามเปรี้ยวจะนำมาทำแช่อิ่ม
เมื่อพัฒนาสูตรจนมีรสชาติอร่อยและมีสูตรเฉพาะเป็นที่พอใจของคนในพื้นที่แล้ว จึงเริ่มมีความคิดที่จะผลิตเพื่อส่งขายนอกพื้นที่ จึงมีการกลุ่มกันเกิดขึ้นเป็นกลุ่มแปรรูปมะขาม โดยสมาชิกจะลงหุ้นกันโดยนัดกันมาทำที่กลุ่ม วัตถุดิบที่ใช้ก็จะซื้อจากทางสมาชิก เมื่อขายได้ก็จะหักบางส่วนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน สิ้นปีก็มีการปันผลพร้อมทั้งนัดประชุมสมาชิก จะมีกลุ่มแม่บ้าน และสมาชิกของกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้วช่วยกันผลิต มีหน่วยงานจากกรมส่งเสริมการเกษตร ของกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ให้การสนับสนุนงบประมาณ
สภาองค์กรชุมชนตำบลระวิงมีการประชุมทุกๆ เดือนเพื่อพูดคุยปัญหาในพื้นที่ตำบล รวมถึงการพูดคุยการทำมะขามแปรรูปด้วย และมีเกษตรอำเภอ/ตำบล ได้ให้การสนับสนุนในเรื่อง การบรรจุภัณฑ์และแปรรูป รวมถึงการถนอมอาหารด้วย โดยมีพื้นฐานทางความคิดร่วมกันของคนในชุมชนว่าต้องการให้มีผลิตภัณฑ์จากมะขามตลอดทั้งปี ด้วยการเพิ่มมูลค่าของมะขามเปรี้ยวที่มีราคาถูกสู่การเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่หาได้ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์
ปี 2561 มีการประชาคมในหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนในตำบลเห็นว่าการทำมะขามนั้นควรเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ 9101 มาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อให้เก็บรักษาได้นานขึ้น โดยปัจจุบันมีการส่งออกมะขามแปรรูปอย่างมะขามกวนหวาน มะขามกวนเปรี้ยว มะขามคลุกและมะขามไร้เมล็ด มีการออกบูธเทศกาลต่างๆ รวมถึงการขายออนไลน์ เช่น ง เป็นต้น จำหน่ายไปทั่วจังหวัดเพชรบูรณ์และต่างจังหวัดเพื่อเป็นของฝาก สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ตำบล ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่มีความขยันหมั่นเพียรและใฝ่เรียนรู้ที่จะทำให้ของที่มีอยู่ในตำบลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ทำให้คนชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
เหตุปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการของกลุ่มเป็นไปได้ด้วยดีนอกจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีในชุมชนมาผลิตให้เกิดรายได้แล้ว ก็ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น คือ การจัดกลไกการทำงาน และการจัดการที่ชัดเจน โดย
1) มีคณะทำงานดำเนินการที่มาจากการรวมกลุ่มอาชีพมะขามแปรรูป มีการกำหนดบทบาทคณะทำงาน คือ การเชื่อมประสานงานกับสมาชิกหรือคนในชุมชน หน่วยงานและภาคีร่วมมือ ตลอดจนการจัดหาตลาด จัดหาวัตถุดิบและการผลิตสินค้า
2) สภาองค์กรชุมชนตำบลระวิง มีบทบาทเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไขปัญหาและเป็นหน่วยประสานงานภาคีต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนได้
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและหนุนเสริมการพัฒนา และยกระดับให้เกิดการต่อยอดงานการพัฒนามากขึ้น ดังนี้
– สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ หนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ชุมชน พัฒนาศักยภาพแกนนำกลุ่ม
– องค์การบริหารส่วนตำบลระวิง สนับสนุนด้านการวางแผน/งบประมาณ
– เกษตรตำบล/อำเภอ อบรมให้ความรู้ด้านการผลิต/แปรรูป
– สภาองค์กรชุมชน เป็นเวทีกลางในการพูดคุย การประสานงานต่างๆ
– กำนันผู้ใหญ่บ้าน สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มและประสานงานกับวิทยากรที่มาให้ความรู้เรื่องการแปรรูป
– กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากกรมส่งเสริมการเกษตร ให้การสนับสนุนงบประมาณ
ปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อคนในชุมชนตำบลระวิงทั้งด้านรายได้ของสมาชิกกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้า ทำให้คนในชุมชนเกิดการใฝ่เรียนรู้ที่จะสร้างอาชีพเสริมโดยการพัฒนาความรู้ความสามารถในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และทำให้มีผลิตภันฑ์ที่เป็นความภาคภูมิใจในตำบลระวิง ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดชุมชนสู่ตลาดระดับจังหวัด จนมีเงินทุนหมุนเวียนและเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้สมาชิกรุ่นใหม่ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนก็ดีขึ้นตามเนื่องจากคนในชุมชนมีความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมากขึ้น มีความสามัคคีกันมากขึ้น
หลังจากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้มีการออกแบบและวางแผนที่จะขยายสมาชิกกลุ่มให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม ซึ่งเหล่านี้สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปตามแผนในอนาคต
ผู้ประสานงาน
นางเสมอ นามวงศ์ ผู้จัดทำ
คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ชุมชน ตำบลระวิง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
วันที่ 14 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2562