“เปลญวณสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน”
ตำบลธำมรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ตำบลธำมรงค์ เดิมเรียกว่าบ้านเกาะธำมรงค์ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นตามลำน้ำปิง และได้ประทับแรมที่เกาะแห่งนี้ เมื่อทรงสรงน้ำ (อาบน้ำ) พระธำมรงค์ (แหวน) ได้หลุดหายจากพระหัตถ์ จึงได้ทรงให้ทหารมหาดเล็กงมหา ซึ่งในประวัติไม่ได้ระบุว่าหาพบหรือไม่ ชาวบ้านจึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะธำมรงค์” จนเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้นมา เดิมอยู่ในเขตตำบลไตรตรึงษ์ แล้วต่อมาได้แยกเป็นตำบลธำมรงค์เมื่อเดือนธันวาคม 2536
จากปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2559 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลธำมรงค์ ทำให้ชาวบ้านในตำบลไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทำให้ประชาชนขาดรายได้และประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากเกิดภาวะว่างงาน จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะลดปัญหาความเดือดร้อนในชุมชน สร้างอาชีพเสริมในชุมชนอย่างยั่งยืน ให้สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาการว่างงาน คนในชุมชนมีความสุขมีรายได้ มีงานทำ
สภาองค์กรชุมชนตำบลธำมรงค์ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2553 โดยมีการจัดตั้งทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีสมาชิกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดจำนวน 38 กลุ่ม มีการจัดกลไกคณะทำงานสภาเพื่อขับเคลื่อนงานในระดับตำบล ซึ่งมีภารกิจแรกในการขับเคลื่อน คือ การพัฒนาอาชีพในชุมชน ตำบล
เมื่อปี 2559 เกิดภัยแล้งในพื้นที่ตำบลเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้บางส่วน สภาองค์กรชุมชนในตำบลจึงมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ปรึกษาหารือกันถึงแนวทางแก้ไขปัญหา จึงเกิดการรวมกลุ่มของแม่บ้านและประชาชนที่ประสพปัญหาจากภัยแล้งในพื้นที่ รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาอาชีพ เพื่อก่อเกิดรายได้เพิ่มในครัวเรือน และมีการส่งจำหน่ายในพื้นที่ตำบล และตำบลใกล้เคียง
ในปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการอาชีพและรายได้เสริมเพื่อจุนเจือครอบครัว ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อระดมความคิดเห็นและค้นหาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับคนในชุมชน และได้เล็งเห็นว่าอาชีพถักเปลญวณน่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะสมเพราะสามารถทำได้ในเวลาว่าง และนอกจากนี้คนในชุมเองก็มีความรู้ในการถักเปลญวณมาตั้งแต่อดีตรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำเชือกมาถักเป็นเปลนอน นิยมใช้เลี้ยงเด็กอ่อน และเป็นของใช้ของคนทั่วไป
สภาองค์กรชุมชนตำบลธำมรงค์ได้เป็นตัวกลางในการประสานงาน และจัดเวทีฝึกอบรมให้กับกลุ่มแม่บ้านและผู้ที่สนใจฝึกอาชีพการถักเปลญวณขึ้น โดยการเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้รู้ ครูภูมิปัญญาในตำบลมาสอนวิธีการถักเปลญวณ เมื่อกลุ่มแม่บ้านได้รับการฝึกอบรมก็นำความรู้ที่ได้มาประกอบอาชีพโดยการรวมกลุ่มกันซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการถักเปลญวณ และหาตลาดในการขายเปลญวณ โดยเริ่มจากตลาดภายในชุมชนก่อน และต่อมาได้ขยายผลิตภัณฑ์เปลญวณออกนอกชุมชน
เบื้องต้นมีการประชุมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ และประสานงานกับท้องถิ่น ท้องที่ในชุมชนและเกษตรตำบล มีการประชาคมชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน จนเกิดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาอาชีพเกิดขึ้น โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงเกษตรเป็นทุนตั้งตน จำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อพัฒนาอาชีพ จากนั้นชาวบ้านได้จัดตั้งกลุ่ม เริ่มแรกมีสมาชิก 30 คนที่เข้าร่วมฝึกอาชีพ และองค์การบริหารส่วนตำบลธำมรงค์ โดยพัฒนาการชุมชนเป็นผู้จัดหาครู ผู้รู้ในตำบลและวิทยากรจากภายนอกมาฝึกอบรมพัฒนาอาชีพและสภาองค์กรชุมชนตำบลมีหน้าที่จัดหาตลาดในชุมชนและสถานที่จำหน่าย รวมถึงช่วยประชาสัมพันธ์
ในการทำเปลญวณของตำบลธำมรงค์มีการจัดทำอุปกรณ์เพื่อสะดวกกับการทำเปล เช่น มีไม้สำหรับใช้วัดตาเพื่อให้เปลมีรูปแบบเดียวกันและสวยงาม มีการต่อเชือกแบบซ่อนตาเพื่อความแน่นหนาและสวยงาม จัดหาช่องทางและเทคนิคการขายทางตลาดออนไลน์ โดยราคาขายเปลญวณแบบหูถักผ้ายืด หนาทนทาน + ไม้กางเปลราคาปลีก 180 บาท/ชิ้น ราคาส่ง 130 บาท/ชิ้น (10 ชิ้นขึ้นไป)
สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนนอกจากการที่มีคนในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วนั้น การรวมกลุ่มของแม่บ้านที่มารวมตัวกันในการสาน ถักเปลทำให้มีการพบปะ พูดคุยกันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมีการแลกเทคนิค ทักษะในการผลิตเปลให้สวยงาม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการภายในกลุ่มและมีการปันผลอย่างเป็นธรรม และสามารถชักชวนกลุ่มพัฒนาสตรีตำบลเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ อย่างไรก็ตามในอนาคตก็ได้วางแผนจะพัฒนาในด้านการส่งเสริมการขาย การหาตลาด หาลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม และพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีหลากหลายขนาด/รูปแบบหลากหลายเพื่อก่อเกิดรายได้มากขึ้น