บ้านท่าสะแกเป็นหมู่บ้านเก่าแก่โดยมีพื้นฐานประชากรที่อพยพมาจากประเทศลาว และที่อพยพจากจังหวัดต่าง ๆ มาอยู่รวมกัน ซึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ที่บ้านท่าสะแกนี้เพราะเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก จนเมื่อปี พ.ศ. 2457 มีการจัดตั้งระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2547 บ้านท่าสะแกในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครไทยและเป็นส่วนหนึ่งของตำบลป่าแดงเมื่อมีความเจริญขึ้น ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะการปกครองเป็นตำบลท่าสะแก เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2535
ที่มาของชื่อ“บ้านท่าสะแก” เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านชอบหาที่ตั้งหมู่บ้านใกล้แม่น้ำ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้น้ำเพื่ออุปโภค –บริโภค ซึ่งมีท่าน้ำที่คนในหมู่บ้านได้ใช้เป็นสถานที่อาบน้ำ และท่าน้ำนั้นได้มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “ต้นสะแก” อยู่ริมน้ำภาคเพราะความเคยชินของคนในหมู่บ้าน จึงได้เรียกชื่อว่าท่าสะแกและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านท่าสะแก”
ชาวบ้านในตำบลท่าสะแกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฝ้าย ถั่ว งา มีเลี้ยงสัตว์และประมงพื้นบ้านเพียงเล็กน้อย งานหัตถกรรมพื้นบ้านมีการทอผ้า และงานจักสานจากไม้ไผ่ และจากการที่บรรพบุรุษของชาวตำบลท่าสะแกส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศลาว จึงมีขนบประเพณี วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีงานแห่ต้นผึ้งซึ่งมีการอนุรักษ์ สืบสาน ให้เป็นประเพณีของตำบลท่าสะแก
นับจากปี พ.ศ.2451 ชาวบ้านน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสะแก ได้ทำการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้าเพื่อนำมาเป็นเครื่องนุ่งห่มและของใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง แต่ทว่าภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นบ้านนี้กำลังจะสูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีเพียงผู้สูงอายุที่ใช้เวลาว่างปั่นด้ายทอผ้าใช้ในครัวเรือนตนเองเท่านั้น ดังนั้นภูมิปัญญาเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปกับผู้สูงอายุที่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมการพัฒนาชุมชน จัดทำโครงการ “หมู่บ้านท่องเที่ยว ชุมชนโอทอป นวัตวิถี” ช่วยฟื้นฟูและสืบทอดความรู้เรื่องการทอผ้า การย้อมด้ายจากสีธรรมชาติ แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ และพัฒนาจนเป็นสินค้า OTOP โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะแกและสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าสะแก ร่วมขับเคลื่อนขบวนการ สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ จากรุ่นปู่ย่า สู่รุ่นลูกหลาน เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้ชุมชนจนเป็นที่รู้จักของชุมชนและคนทั่วไป
สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าสะแกได้มีบทบาทในการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะแก มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งหน่วยราชการอื่นๆ ทำให้กลุ่มทอผ้ามีความเข้มแข็ง ประชาชนได้ประโยชน์และเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาท้องถิ่นตนเอง จากงานหัตถกรรมพื้นบ้าน การทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ยกระดับขึ้นมาเป็นสินค้า OTOP ที่คงเอกลักษณ์ตัวตนของชุมชนไว้ครบถ้วน อีกทั้งพัฒนาชุมชนอำเภอชาติตระการ ได้ส่งเสริมให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าฝ้ายขึ้น เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้จากการทอผ้า การขายสินค้าอื่นๆจากศูนย์เรียนรู้ชุมชนจากการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนได้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการที่ดี
ในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 15 คน การทำงานจะแบ่งกันเป็นฝ่ายตามความถนัดตั้งแต่ปั่นฝ้าย กรอด้าย ย้อมสี ทอผ้าเป็นลาย ขายเป็นผืน/ชิ้นละ 250 บาท รายได้หักเข้ากลุ่ม 5% เป็นค่าบริหารจัดการ โดยการทำงานของกลุ่มทอผ้าจะมีการลงเวลาทำงาน และรายได้ทั้งหมดจากการขายผ้าทอจะแบ่งเข้ากลุ่ม 5% แล้วจัดสรรให้สมาชิกตามเวลาที่ลงไว้ ใครมาทำงานมากก็ได้ส่วนแบ่งมาก
ด้วยการที่กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือประกอบด้วยสมาชิกทั้งผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ และมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านน้ำภาคน้อย เพื่อเป็นแนวร่วมในการจัดการตลาด อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสร้างกระแสนิยมไทยทำให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น จนผลิตไม่ทัน ทำให้สมาชิกกลุ่มทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความกระตือรือร้น มีความสามัคคี ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี มีการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกด้วยการมอบเงินเบี้ยขยันปลายปี สำหรับคนที่ร่วมกิจกรรมมากที่สุด กระบวนการทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาคนท่าสะแกฝ้าย เริ่มตั้งแต่การเก็บฝ้ายมาปั่น ตีฝ้ายแล้วกรอให้เป็นเส้น จากนั้นจึงย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ เช่น เปลือกประดู่ แก่นขนุน ใบสัก ขมิ้น แล้วจึงทอลาย โดยมีเคล็ดลับและวิธีการในการทอสีไม่ให้สีตก คือ วัสดุที่ใช้ทำสี เช่น เปลือกไม้ต่างๆ จำนวน 4 กิโลกรัมต่อด้าย 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นสีจากใบไม้สด เช่น ใบสักหรือขมิ้นสดจะใช้ 15 กิโลกรัมต่อด้าย 1 กิโลกรัม และใช้น้ำด่างที่หมักจากขี้เถ้า เติมลงไปในน้ำต้มด้วยขณะย้อมสีจะทำให้สีติดทนสีไม่ตก
ปัจจัยที่เอื้อให้การทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาคนท่าสะแกนั้นประสบผลสำเร็จก็เนื่องจากวัตถุดิบหาได้จากชุมชนทั้งฝ้ายและสีที่ใช้ย้อม ด้านองค์ความรู้ก็มีปราชญ์ชุมชนให้ความรู้การผลิตเส้นฝ้าย การย้อมสีฝ้ายและการทอผ้าเป็นลาย อีกทั้งคนในชุมชนเองก็ให้การสนับสนุน สร้างปัจจัยการผลิตปลูกฝ้ายในท้องถิ่นเพิ่ม การสนับสนุนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์สร้างเอกลักษณ์นิยมไทย รวมถึงหน่วยงานภาคีที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านการประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตามทางกลุ่มฯ เองก็ได้มีการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนาลายผ้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า เพิ่มสีสันให้เป็นที่ต้องการของกลุ่มองค์กรที่สั่งสีโดยเฉพาะ และแปรรูปผ้าทอให้เป็นสินค้าอื่นๆ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้าพันคอ เป็นต้น โดยจะพัฒนาและดำเนินการต่อไปในระยะข้างหน้า