ก่อนจะเป็นตลาดเก๋าเลี้ยวปันสุข “เก๋าเลี้ยว แปลว่า ถึงแล้ว” เป็นภาษาจีน สืบเนื่องมาจากการค้าขายและการเดินทางสัญจร ในสมัยก่อนจะล่องเรือมาทางแม่น้ำ และส่วนใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งเมื่อถึง ตีนท่า (ท่าเทียบเรือขึ้นฝั่ง) คนจีนในเรือก็จะตะโกนว่า “เก๋าเลี้ยว เก๋าเลี้ยว” หมายความให้คนในเรือรู้ว่า “ถึงแล้ว ถึงแล้ว”
เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนเก้าเลี้ยวจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย “เก๋าเลี้ยว” ในอดีต หรือ “เก้าเลี้ยว” ในปัจจุบันทั้งตำบล มีเพียง 5 หมู่บ้าน ประชากร 5,867 คน 2,094 ครัวเรือน มีแม่น้ำปิงไหลผ่านในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ สมัยดั้งเดิมผู้คนสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณถนนเก้าเลี้ยววิถี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน และบริเวณชุมชนสำคัญ เช่น บ้านแหลมยาง บ้านหาดเสลา และบ้านเนินยายผาด ย่านการค้าของเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยวจะปะปนอยู่กับที่พักอาศัยหนาแน่นบริเวณศูนย์กลางของชุมชน ช่วงหมู่ที่ 1 – 2 และบริเวณแยกถนนสายเก้าเลี้ยววิถีตัดกับถนนสายเก้าเลี้ยวพัฒนา นับตั้งแต่ถนนสายต่างๆ ตัดเข้าถึงหน้าหมู่บ้านพร้อมกับความสะดวกสบายของโลกสมัยใหม่ ผู้คนเริ่มคลายความนิยมจากการสัญจรทางน้ำและหันมาใช้ชีวิตบนบกเต็มรูปแบบ วิธีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมจึงค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับเสียงตะโกน “เก๋าเลี้ยว” ของพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือโยงมาตามลำน้ำปิง ถึงวันนี้ไม่มีให้ได้ยินได้ฟังอีกแล้ว
กระทั่งสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อห้างค้าปลีกข้ามชาติยักษ์ใหญ่รุกคืบมาถึงหมู่บ้าน ส่งผลกะทบต่อวิถีชีวิตผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและเศรษฐกิจชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงแรกเกิดแรงต้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้ค้าปลีกในชุมชน มีการเรียกร้องให้เทศบาลตำบลเก้าเลี้ยวหาวิธีสกัดกั้น ทว่าเงื่อนไขทางกฎหมายก็เกิดช่องโหว่ให้ห้างสรรพสินค้าปลีกขนาดยักษ์ที่ปรับลดขนาดลงมาในรูปของมินิมาร์ทได้ผุดขึ้นในชุมชนหลายต่อหลายจุดด้วยกัน แน่นอนว่าร้านค้ารูปแบบสมัยใหม่ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของชุมชนตามมาติดๆ ด้วยความสะดวกสบายของการจับจ่ายในมินิมาร์ทที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ มีสินค้าหลายชนิดพร้อมกินและอาหารแห้งเครื่องดื่มสารพัดชนิดไว้บริการ ประกอบกับพนักงานอัธยาศัยดีด้วยถูกฝึกมาจากองค์กรผู้ค้า จึงไม่ยากเลยที่ผู้คนในชุมชนต่างหลั่งไหลกันมาอุดหนุนในเวลาอันรวดเร็วแบบไม่ต้องรอโฆษณาอะไรทั้งสิ้น
ท้ายที่สุดคนในชุมชนจึงต้องระดมความคิดกันว่าหากจะดำรงวิถีการทำมาค้าขายให้อยู่รอดได้ คนในชุมชนจะต้องอุดหนุนเกื้อกูลกัน เพราะไม่มีใครรู้จักลูกค้าได้ดีเท่าแม่ค้าในพื้นที่ อาศัยพลังความสามัคคีของคนในชุมชน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันขาย อาจสามารถลดทอนกับทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติได้ ทั้งนี้ ต้องเพิ่มความโดดเด่นจริงๆ เจ๋งจริง ดีจริง จึงจะสามารถอยู่ได้
การก่อเกิดตลาดเก๋าเลี้ยวปันสุข จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยว จึงได้จัดทำโครงการ เศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานราก ปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างกระบวนการที่นำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการพูดคุย ทำให้เกิดมีการขับเคลื่อนงานภายในชุมชน มีการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ สร้างความเข้าใจ เครือข่ายในชุมชนรวมถึงผู้ผลิตสินค้าในชุมชน กำหนดบทบาทหน้าที่ในการทำงานที่ชัดเจน กำหนดแนวทางการจัดการตลาด จัดตั้งคณะทำงานตลาดชุมชน กำหนดแผนการจัดการตลาด กำหนดประเภทสินค้า ผลิตภัณฑ์ ปรับภูมิทัศน์ตลาด และใช้เวทีสภาฯเชื่อมโยงหน่วยงาน ภาคี เครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตคุณภาพเพื่อร่วมตลาดชุมชน จัดทำประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ
ผลจากการดำเนินโครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานราก เกิดคณะทำงานทางด้านตลาดชุมชนและทุนชุมชนจำนวน 1 ชุด พบตลาดทางเลือกทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในการพบปะแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า มีการขับเคลื่อนงานตลาดชุมชนที่เป็นรูปธรรม และนอกจากการสนับสนุน โครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชนแล้ว จาก พอช.แล้ว สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยว ขอรับการสนับสนุนจาก สสส. ในโครงการ “ตลาดเก๋าเลี้ยวปันสุข” ซึ่งในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่การค้นหาข้อมูลของดีในชุมชน ที่สามารถมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ เช่น ขนม อาหาร ที่โดดเด่น มีที่ที่มาหรือเรียกว่าเป็นอาหารที่มีประวัติความเป็นมานั่นเอง ได้เพิ่มเรื่องของอาหารปลอดภัย หรือใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย
ผลจากการขับเคลื่อนดังกล่าวข้างต้น จึงได้เกิดตลาดเล็กๆ ชื่อ ตลาดเก๋าเลี้ยวปันสุขขึ้น ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ โดยเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 – 20.00 น. สินค้าที่นำมาขายในตลาดนั้น เป็นสินค้าบริโภคที่คนในชุมชนผลิตและนำมาขาย ได้แก่ อาหาร และขนมต่างๆ ตลาดเก๋าเลี้ยว ถึงแม้จะเป็นตลาดเล็กๆ แต่ความอร่อยของอาหารนั้นกลับไม่เล็กเหมือนตลาด เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดข้างเคียง โดยเฉพาะ 5 เมนูขึ้นชื่อของที่นี่ หากผู้ใดได้มาเยือนแล้วจะต้องติดใจและอยากกลับไปลิ้มลองความอร่อยอีกครั้งหนึ่ง
1.บะหมี่ไหหลำ ร้านโก่วฮ่งกี่ หรือ ตาฮ่ง เป็นร้านบะหมี่ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในตลาดเก้าเลี้ยว จนต้องต่อคิวยาว เนื่องด้วยรสชาติแสนอร่อยที่ยังคงรสชาติดั้งเดิมมานับ 100 ปี ซึ่งเจ้าของร้านดังในตำนาน เล่าว่า “บะหมี่ที่ร้านทำมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อเป็นรุ่นแรกจนมาถึงตนเอง นับได้ว่าเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว นับช่วงเวลาแล้วมีอายุ 100 กว่าปี” (เห็นไหม มีประวัติความเป็นมาจริงๆ) ความอร่อย มาจากเส้นบะหมี่ที่ทำเอง จากสูตรต้นตำหรับจากจีนผืนแผ่นดินใหญ่เลยทีเดียว นอกจากนี้บะหมี่ยังทำเมนูอาหารหวานได้ด้วย เพราะในช่วงหน้าร้อนทางร้านยังมีเมนู “บะหมี่เย็น” โดยนำบะหมี่สดของทางร้านมาใส่มันเชื่อม ลูกจาก พุทราเชื่อม และเฉาก๊วย ใส่น้ำแข็งทานในหน้าร้อน สร้างความสดชื่นดับกระหายในรสชาติที่ฉ่ำลิ้นจริงๆ
- บ๊ะจ่าง เป็นอาหารของคนจีน ที่นำข้าว เห็ดหอม กุนเชียง พุทราจีน ไข่แดง ถั่วลิสง เมล็ดบัว กุ้งแห้ง และเครื่องเทศของคนจีนมาคลุกเคล้าให้เข้ากันและนำมาห่อด้วยใบไผ่ตงนึ่งให้สุข รสชาติกลมกล่อมหอมพริกไทย
- ขนมเหล่าก๊ง ผลิตจากถั่วเขียวคั่วจนเหลือง นำมาบดผสมกับแป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลปี๊บเคี่ยว แล้วปั้นเป็นรูปกงเกวียน ลงทอดสุก มีกลิ่นหอม รสชาติหวานหอมกลมกล่อม
- ขนมเทียน เป็นขนมที่จะทำขึ้นเมื่อถึงเทศกาลสารทจีน และตรุษจีนเพื่อไหว้บรรพบุรุษ
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือ 5. ข้าวตุ้มกุ๊ยสูตรกวางตุ้ง ที่จะต้องกินพร้อมกับข้าวของคนจีนเช่น ถั่วลิสงคั่ว เต้าหู้ยี๊
นอกจาก 5 เมนูขึ้นชื่อแล้ว ตลาดเก๋าเลี้ยวยังมีผลไม้ปลอดสารพิษตามฤดูกาล รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นของใช้และเครื่องประดับที่ผลิตจากสิ่งของเหลือใช้ในชุมชน จำหน่ายในราคามิตรภาพ และเป็นกันเองอีกด้วย นอกจากจะได้รับประทานอาหารที่สดใหม่ และอร่อยถูกใจแล้ว ทุกคนที่มาเยือนสามารถมั่นใจได้ว่าอาหารที่ได้บริโภคเข้าไปนั้นปลอดภัยอย่างแน่นอน เพราะตลาดเก๋าเลี้ยว ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในเรื่องของการส่งเสริมอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนประกอบอาหารที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยรสชาติอร่อย อาจจะเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนเพิ่มขึ้น ในบรรยากาศแบบชนบทผสมผสานระหว่างประเพณีไทยจีน
นับว่าเป็นตัวอย่างอีกหนึ่งพื้นที่ ที่คนในชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ผ่านเวทีสภาองค์กรชุมชน และตกผลึกออกมาเป็นแผนการและวิธีการปฏิบัติโดยใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ ใช้เทคนิคเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของสินค้า อย่างไรก็อย่าลืมไปลิ้มรส 5 เมนูขึ้นชื่อท่ามกลางบรรยากาศแบบชนบทผสมผสานระหว่างประเพณีไทยจีนได้ที่ ตลาดเก๋าเลี้ยวปันสุข
นายเกรียงฤทธิ์ แบบประเสริฐ เขียน
นางสาวพัชรินทร์ เกษสุวรรณ เรียบเรียง