นักสื่อสารจัดการความรู้ จังหวัดนครสวรรค์
บ้านหนองเนิน เป็นหนึ่งในสิบหมู่บ้านของตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีประชากร 7,970 คน 2,731 ครัวเรือน ด้วยเป็นประชากรที่อพยพถิ่นฐานมาจากที่อื่น เช่น ย้ายมาจากตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ชาวไทยโซ่ง หรือลาวโซ่ง หรือผู้ไทย หรือไทยดำ ที่อพยพมาจากจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ดนครปฐม สมุทรสาคร เลย ชุมพร สุราษฏร์ธานี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี พิจิตร พิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย ทำให้ประชาชนในตำบลหัวถนนมีประเพณีที่แตกต่างจากประชาชนชาวไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญของตำบลหัวถนน ได้แก่ ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีตักบาตรเทโว (วันออกพรรษา ) ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (วันสงกรานต์) และวัฒนธรรมไทดำ
ด้วยความที่รักในเชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำจึงมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ณ หมู่ 4 บ้านหนองเนิน เป็นกลุ่มที่สืบทอดวิถีการดำเนินชีวิตจากบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยทรงดำของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น เอกลักษณ์ทางภาษา การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเชื่อในการนับถือผี ที่สำคัญสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ไทยดำเองมีความภูมิใจในความเป็นไทยดำของตนเอง และพร้อมที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีของตนเองให้บุคคลอื่นๆ ได้รับรู้อีกด้วย
การเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของไทดำ ขอกล่าวพอสังเขปว่า “ไทดำ” หรือ “ไททรงดำ ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไท เดิม คือ จังหวัดเตียนเบียนฟูของเวียดนามมีภาษาพูด ภาษาเขียนเป็นของตนเองนิยมสวมเสื้อผ้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือต้นคราม ในปี พ.ศ.2438 และ ปี พ.ศ.2439 เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างบรรดาหัวหน้าของไทดำกลุ่มต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองจุไท จึงได้อพยพเข้ามาในประเทศลาว และในภาคอีสานของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ.2497 ได้เกิด สงคราในเตียนเบียนฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองของแคว้นสิบสองจุไทเดิม ชาวไทดำจึงได้อพยพหลบหนีการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศลาวและไทยอีกระลอกหนึ่ง นอกจากภาคอีสานและภาคเหนือ ชาวไทดำได้อพยพเข้ามาในภาคกลางด้วย ในปี พ.ศ 2322 ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ทรงไปตีกรุงเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนชาวไทดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี
ชาวไทยทรงดำไม่ชอบภูมิประเทศแถบนั้น จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาเรื่อย ๆ จนถึงแถบอำเภอเขาย้อย ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาเหมือนกับถิ่นฐานเดิมจึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น ต่อมาชาวไทยทรงดำก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในที่อื่นๆ เช่น นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
สภาองค์กรชุมชนตำบลหัวถนน กับบทบาทการสืบสานวัฒนธรรมไทดำ คณะทำงานสภาองค์กรชุมชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในชุมชนต่างเห็นความสำคัญของชาติพันธุ์ไทดำที่รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันเหนียวแน่นมากว่า 200 ปี จึงได้พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการสืบสานรากเหง้าของชาวไทดำ หลายปีที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนได้เป็นพื้นที่กลางในการประสานงานและสนับสนุนงบประมาณได้ตามกิจกรรม ซึ่งมีหลายองค์กรที่ให้ความสนใจกลุ่มไทดำ บ้างก็เข้ามาทำข้อมูล ทำวิจัย และมีการจัดทำเป็นรูปเล่มส่งคืนข้อมูลให้กับชุมชน ตำบล สร้างความปราบปลื้มให้กับชาวไทดำผู้เป็นเจ้าของเรื่องเป็นยิ่งนัก
เมื่อกล่าวถึงงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยบุคลากรและนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกการพัฒนาชุมชน ได้เข้ามาสำรวจเก็บข้อมูลของชาวไทดำ หมู่ 4 บ้านหนองเนิน โดยการประสานงานผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบลหัวถนน คณะกรรมการสภาฯ โดยนางบำรุง ขำอิ่ม หรือ “พี่ไร” ได้พาไปแนะนำกับปราชญ์ของชาวไทดำ อาทิ ผู้เชียวชาญด้านภาษา นายไทยแลนด์ เพ็ชรต้อม หรือ “ลุงไทยแลนด์” นายพลอย แซ่วี หรือ “ลุงพลอย ” และเขยไทดำ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 นี้ด้วย นายประเสริฐ ชะลอปัญจศิลป์ หรือ “ผู้ใหญ่กล้วย”ทุกท่านได้ให้ข้อมูลและนำพาไปเก็บสำรวจข้อมูลจุดเด่นต่างๆที่สำคัญ เช่น ทรงผม การแต่งกาย การเย็บดอกโซ่ง อาหาร เครื่องใช้ ประเพณีพิธีกรรม ผีที่ให้การเคารพนับถืออย่างเคร่งครัด
นอกจากด้านข้อมูลแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ยังได้หนุนเสริมให้เกิดพิพิธภัณฑ์ไทดำขึ้นที่โรงเรียนบ้านหนองเนินอีกด้วย ข้อมูลที่ถูกเก็บจากการบอกเล่าของเจ้าของพื้นที่ ถูกร้อยเรียงบันทึกออกมาเป็นเล่มเรื่องเล่า และถูกเผยแพร่ไปยังสังคมภายนอกที่ผู้คนเมื่อได้อ่านแล้วเดินทางเข้าหมู่บ้านมาเยี่ยมชม และได้เรียนรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากพิพิธภัณฑ์ไทดำ
ไทดำในปัจจุบัน ไทดำ หมู่ 4 บ้านหนองเนิน ในปัจจุบันยังใช้ภาษาของตนเองพูดจาติดต่อในกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำด้วยกัน แต่จะใช้ภาษาไทยภาคกลาง พูดจาติดต่อกับคนนอกกลุ่มหรือคนไทยอื่นๆ คนรุ่นเก่าที่สูงอายุจะพูดภาษาไทยกลางไม่สันทัดนัก เด็กๆ คนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้าโรงเรียนและใช้ภาษากลางเป็นสื่อในการติดต่ออยู่เป็นประจำ จึงใช้ภาษาไทยกลางได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเด็กไทยอื่นๆ โดยทั่วไป ถึงกระนั้นชาวลาวโซ่ง หมู่ 4 บ้านหนองเนิน ก็ยังคงพยายามสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาให้กับลูกหลาน และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ที่มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรม หนุนเสริมให้นำวัฒนธรรมทางภาษาและการแต่งกายเข้าสู่หลักสูตรวิชาเลือกในโรงเรียนของชุมชน คือ โรงเรียนบ้านหนองเนิน ทุกวันศุกร์ เด็กๆ ตั้งแต่ชั้นประถม 1 – 4 จะต้องแต่งกายชุดไทยทรงดำ ใช้ภาษาโซ่งในการสื่อสาร และต้องเรียนภาษาเขียนอีกด้วย อย่างไรก็ตามความวิตกกังวลยังอยู่ในความคิดของผู้เฒ่าผู้แก่ชาติพันธุ์ไทดำนี้
“ข้อมูลในด้านภาษาเขียน ไม่ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานเข้าอยู่ 3 สมัยรัชการที่ 1 จนถึงราชการที่ 5 มีการเลิกทาส ภาษาพูดไม่มีการผิดเพี้ยนจนถึงปัจจุบัน แต่ภาษาเขียนได้มีการผิดเพี้ยนเพราะว่าไม่รู้ชัดเจนว่า ภาษาจากเวียดนาม ที่เขาบอกว่าเป็นถิ่นฐานดังเดิม กับภาษาเขียนในปัจจุบันไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าอันไหนของแท้ เพระว่าสิ่งที่ใช้อยู่เป็นสิ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบันนี้ ”
ลุงไทยแลนด์ เพ็ชรต้อม กล่าว ลุงพลอย แซ่วี กล่าวเสริมอีกว่า “เดี๋ยวนี้เด็กๆ ไม่ค่อยพูดภาษาโซ่ง ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนก็ไม่ให้ความสนใจแต่ว่าจะยัดเยียดให้เด็กอย่างเดียว จึงไม่ได้มาใส่ใจลุกมาเป็นแกนนำเป็นตัวอย่างให้เด็กได้เห็น เท่ากับเด็กแค่ใส่ชุดไทยทรงดำมาวันศุกร์ แล้วให้ลุงพลอยกับลุงไทยแลนด์ มานั่งสอน ส่วนใหญ่จะเป็นลูกๆหลานๆ เด็กก็เลยก็ไม่กลัว ประมาณว่า เฮ้ยนี่เป็นคุณตาของกู ไม่กลัวหรอก จึงไม่ได้ใส่ใจที่จะเรียนรู้ ก็พาเพื่อนเล่นกัน อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตข้อหนึ่ง ”
แม้ว่าชาวไทดำจะมีความเหนียวแน่นทางวัฒนธรรมจนถึงปัจจุบัน แต่ภาษาเขียนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำหมู่ 4 บ้านหนองเนิน มีผู้ที่รับการสืบทอดภาษาเขียนได้น้อยมากจนเกือบจะไม่มีแล้ว ส่วนมากผู้ที่เขียนได้จะเป็นผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่าภาษาเขียนเริ่มจะเลือนหายไปจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำแล้ว เพราะเป็นภาษาเฉพาะถิ่น เฉพาะวัฒนธรรม อีกทั้งท้องถิ่นไม่สามารถสนับสนุนวัฒนธรรมอันเฉพาะนี้ได้ เนื่องจากขัดต่อข้อบังคับของ สตง.ที่ว่า “ท้องถิ่นสามารถสนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมที่คนไทยทั้งประเทศทำพร้อมกันได้เท่านั้น ส่วนประเพณีวัฒนธรรมไทดำ เป็นคนเฉพาะกลุ่มเล็กๆบางกลุ่มเท่านั้นเอง” สภาองค์กรชุมชนตำบลหัวถนน จึงเป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องก้าวเข้ามา เพื่อสร้างพื้นที่กลางและเป็นสะพานเชื่อมโยงให้กับองค์กรหรือผู้ที่สนใจเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้วัฒนธรรมของชาวไทดำสืบทอดคงอยู่ต่อไป ก่อนที่จะเลือนหายไปจากบ้านหนองเนินไปจนหมดสิ้น