กลุ่มสตรี – เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน ตั้งอยู่ใน ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เกิดจากการเก็บข้อมูลจัดทำแผนชุมชนเมื่อปี 2541 และพบว่าชุมชนมีปัญหาเรื่องรายได้และหนี้สินเป็นอันดับหนึ่ง นางมานิต ทองคำ แกนนำหลัก (ทำงานพัฒนามาตั้งแต่สมัย SIF กองทุนเพื่อสังคม) จึงชวนคิดชวนคุยหาข้อสรุปของการพัฒนาแก้ไข ได้ข้อสรุปที่จะมุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ นางมานิต จึงได้ร่วมกับแกนนำอีก 13 คน ชวนกันรวมกลุ่มและสมทบทุนในครั้งแรกด้วยจำนวนเงิน 500 บาท เริ่มทำ “เมี่ยงคำ” เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรก เพราะเป็นอาหารพื้นบ้านรสชาติอร่อย แต่ทำได้ไม่มากนักด้วยวัตถุดิบต้องใช้ความปราณีตในการทำ เริ่มขายในชุมชนก่อน ซึ่งปรากฏว่าขายดีมาก มีการส่งเสริมอาชีพ ดอกไม้ประดิษฐ์ ผ้ามัดย้อม แปรยวน ฯลฯ เป็นต้น สหกรณ์การเกษตรลาดยาวเห็นผลการดำเนินงานของกลุ่มฯ จึงเข้ามาส่งเสริมด้วยการให้ทุน 30,000 บาท เมื่อมีรายได้กลุ่มจึงเริ่มทำการออมทรัพย์ร่วมกันเมื่อปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีเงินออมทั้งสิ้น 600,000 บาท และมีสมาชิก 126 คน
จากการส่งเสริมอาชีพ ขยายสู่อาชีพหลัก ด้วยส่วนใหญ่ชาวบ้านเป็นเกษตรกร โดยจะปลูกข้าวและปลูกพืชระยะสั้นหลังทำนา แต่เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง จากการจำหน่ายสู่ตลาดมีราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เพื่อปราบศัตรูพืช ตลอดจนสารเพิ่มผลผลิตในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลให้คนในชุมชนเจ็บป่วย เนื่องจากสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ล้วนปนเปื้อนสารเคมี อาทิ ทรัพยากรดิน น้ำ พืชผักผลไม้ เป็นต้น
วางแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยกลุ่มสตรี-เยาวชนสหกรณ์บ้านดอนตะเคียน เป็นกลุ่มภายใต้การจดแจ้งไปยังสภาองค์กรชุมชนตำบล จึงได้นำปัญหาพูดคุยหารือ ในเวทีประชุมของสภาฯ ข้อสรุปให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยตำบลหนองยาวขึ้น เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเกษตร สมาชิกมาจากเกษตรกรในชุมชนที่สมัครใจ นางมานิตย์ ทองคำ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า “การได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยไร้สารเคมี ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งผลต่อการมีรายได้และความมั่นคงยั่งยืนของอาหาร อากาศและสิ่งแวดล้อม …การทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่น ใส่ใจในทุก ๆ ขั้นตอน ระยะแรกแม้มีอุปสรรคก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้และนวัตกรรม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ผลผลิตดียิ่งขึ้น” ปัจจุบันนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยตำบลหนองยาว มีสมาชิกทั้งหมด 68 ครัวเรือน มีการจัดตั้งกรรมการดูแลเรื่องตลาดโดยเฉพาะ เพื่อมุ่งเจาะตลาดระดับกลาง รวมทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล
ปรับเปลี่ยน … สู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มฯแล้ว ได้พัฒนาการปลูกพืชโดยการ ใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ ทดแทนเคมีเป็นพื้นฐานการปลูกพืชผัก เกษตรกรมุ่งมั่นลด ละ เลิก การใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เพื่อให้มีพืชผัก อาหารปลอดสารพิษไว้กินเอง เป็นการสร้างระบบเกษตรกรรมปลอดสารพิษ และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี บนพื้นฐานการเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมีนั้นนอกจากจะลดการใช้สารเคมีแล้ว ยังลดการเกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ตาพร่ามัว ต่อตัวเกษตรกรเองด้วย
สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองยาว ได้จัดทำ “โครงการเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย” เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัยของประชาชน ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์เรียนรู้บ้านดอนตะเคียน และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำ 9 กิจกรรม คือ 1) กิจกรรมการประชุมคณะทำงานเพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ จัดทำแผนปฏิบัติการและติดตามประเมินผล 2) จัดทำแผนปฏิบัติการรายเดือน 3) สำรวจข้อมูลด้านสถานการณ์ ด้านพฤติกรรมการปลูกผัก การบริโภคและการใช้สารเคมีในชุมชน 4) การรวมกลุ่มให้ความรู้วางแผนการทำสารชีวะวัตถุทดแทนสารเคมี และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการปลูกและบริโภคผักโดยไม่ใช้สารเคมี 5) จัดทำกติกาชุมชน/ข้อตกลงกลางแบบมีส่วนร่วม 6) พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้กลาง 7) หนุนเสริมครัวเรือนให้ผลิตและบริโภคผักและจัดให้มีการติดตามการดำเนินงานตามข้อตกลงที่วางไว้และรายงานผล 8) เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ 9) เวทีการทำข้อตกลงเชิงนโยบายว่าด้วยชุมชนอาหารปลอดภัย ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดกระแสตื่นตัว ตลอดจนหน่วยงานหลายๆ แห่งให้ความสนใจเข้ามาร่วมสนับสนุน ส่งผลให้เกิดการขยายศูนย์การเรียนรู้เดิมที่มีขนาดเล็ก มีสมาชิกจำนวน 9 ครัวเรือน ที่ร่วมกันดูแลพัฒนา กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน มีจำนวนสมาชิก 60 ครัวเรือน ทั้งนี้ ภายในศูนย์ฯ มีการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก แตงกวา มะเขือ ถั่ว ข้าวโพด บวบ มะเขือเทศ แคนตาลูป ชมจันทร์ โดยการใช้สารชีวภาพ
อ้างอิงความน่าเชื่อถือ … ด้วยข้อมูลสู่การปฏิบัติ นางสาธิตา ศิลป์อยู่ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญ ได้เล่าถึงการใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร โดยได้การสำรวจข้อมูลด้านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องพฤติกรรมการปลูกผัก การบริโภคและการใช้สารเคมีในชุมชน หลังจากจัดทำข้อมูลแล้ว ได้ส่งเสริมความรู้ในเรื่องของ “การทำสารชีววัตถุทดแทนสารเคมี” และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการลงมือปลูกพืชไม่ใช้สารเคมี ด้วยการเสริมความรู้ความเข้าใจประเด็นต่างๆ เช่น อันตรายจากสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ การเพาะเชื้อชีวินทรีย์ (ไส้เดือนฝอย) เพื่อกำจัดแมลงร่วมกับการขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย ไตรโครเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดดีเป็นต้น ซึ่งจากกระบวนการเรียนรู้ในขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งได้ผลผลิตที่ปราศจากการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น บริโภคผักที่ผลิตได้อย่างมั่นใจ
สร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ … เพื่อใส่ใจรักสุขภาพอย่างยั่งยืน คนรุ่นใหม่เป็นทางรอดของเกษตรกรการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ เพื่อทดแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังจะหมดไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจาก “เกษตรเคมี” สู่ “เกษตรปลอดสาร” โดยให้สมาชิกพิสูจน์ด้วยตนเองเกี่ยวกับการใช้สารชีวภาพว่าสามารถทำได้จริง ด้วยการให้เห็นด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงพูดให้เชื่อผ่านการปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมสร้าง ร่วมสุข ร่วมทุกข์ร่วมแก้ปัญหา และเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ได้ปฏิบัติและทดลองทำ มีการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญของ “สุขภาพ” มากกว่า “เงิน” และมุ่งเน้นแสวงหาความสุขที่ไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง
จากปัญหาการขับเคลื่อนงาน มีระบบการทำงานที่เน้นการพูดคุยระหว่างกันโดยไม่ได้บันทึก ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อนกันในการทำงาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยตำบลหนองยาว ได้จัดทำกติกากลุ่มฯ หรือข้อตกลงกลางแบบมีส่วนร่วม โดยให้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน อาทิ การลด ละ เลิกใช้สารเคมี กรณีการปลูกพืชปลอดสารเพื่อจำหน่าย หากพบการปนเปื้อนยินดีออกจากกลุ่มฯ การปลูกพืชปลอดสารเพื่อการจำหน่าย หากพบการตกค้างของสารเคมีและเกิดความเสียหายต้องชดใช้เงินในส่วนที่เสียหาย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ การปลูกพืชปลอดสารพิษ และการทำสารชีวะอินทรีย์ทนแทนสารเคมี
ผลจากการขับเคลื่อนงานในเรื่องเกษตรปลอดภัย ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยตำบลหนองยาว ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP) จากการขยายกลุ่มลูกค้า เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าของชุมชนและรักษาระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย นอกจากนั้น ยังเกิดพื้นที่เรียนรู้กลาง 5 แห่ง เกิดครัวเรือนต้นแบบ 9 ครัวเรือน เยาวชนต้นกล้า 107 ราย จากที่ตั้งไว้ 60 ราย เกิดเครือข่ายในและนอกชุมชน เครือข่ายในตำบล เครือข่ายระว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เครือข่ายผู้รับซื้อ และสามารถนำโครงการผลิตอาหารปลอดภัยเข้าแผนพัฒนาหมู่บ้านแผนพัฒนาตำบลปลายปี 2561 ซึ่งกลุ่มฯ พยายามติดตามผลจากการเสนอแผนฯทุกปี ในส่วนผลลัพธ์ที่ผ่านมามีบางกิจกรรมที่บรรจุเข้าแผนท้องถิ่น ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงของท้องถิ่น
นางสาธิตา ศิลป์อยู่ ผู้ให้ข้อมูล
นางสาวพัชรินทร์ เกษสุวรรณ ผู้เรียบเรียง