เขียนโดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลคอทราย
ตำบลคอทราย อำเภอค่ายบางระจันทร์ จังหวัดสิงห์บุรี มีประชากรทั้งหมดจำนวน 2,618 คน จำนวน 760 ครัวเรือน ซึ่งเป็นตำบลที่ยังพบปัญหาเรื่องของครอบครัวขยาย ที่อยู่อาศัยทรุดโทรมไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุ สภาองค์กรชุมชนตำบลคอทรายได้เห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงหยิบยกประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเวทีประชุมสภาองค์กรชุมชน โดยคณะกรรมการและหน่วยงานภาคีเข้าร่วม ทำให้นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน คือ การใช้ “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นเครื่องมือนำร่องในการหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว
กำนันนิยม จันทร์ตรง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคอทราย กล่าวถึงโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ตำบลคอทรายอย่างภาคภูมิใจว่า “ตำบลคอทราย ได้รับประมาณจำนวน 176,073 บาท เพื่อซ่อมแซมบ้าน 10 ครัวเรือน และสามารถซ่อมแซมบ้านได้ถึง 11 ครัวเรือน ถือว่าโชคดีมากที่ตำบลของเรามีสภาองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็ง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การหนุนเสริม และภาคประชาชนเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันซ่อมแซมบ้าน”
โครงการบ้านพอเพียงชนบททตำบลคอทรายนับได้ว่าเป็นก้าวแรกในการจุดประเด็นให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนหันกลับมาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างจริงจัง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลคอทราย ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งเข้าร่วมในการพิจารณาลำดับการซ่อมสร้างบ้าน การสนับสนุนทีมช่างชุมชนในการประเมินราคาวัสดุก่อสร้าง และช่วยเพิ่มทักษะการซ่อมแซมบ้าน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคอทรายได้เข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คนพิการและเด็ก โดยมีการให้คำแนะนำการซ่อมแซมบ้านให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตตามบริบทของแต่ละครัวเรือนและความต้องการของเจ้าของบ้าน
นอกจากนี้ยังมีผู้นำท้องที่ ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านร่วมกันเป็นกำลังหลักของช่างชุมชนและเป็นทีมในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่เสนอโครงการไว้ รวมทั้งขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ได้หนุนเสริมตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการจนกระทั่งบ้านทุกครัวเรือนได้รับการซ่อมแซมเสร็จครบถ้วน
ภาพการประชุมพิจารณาการซ่อมแซมบ้านและการส่งมอบบ้านพอเพียงชนบทตำบลคอทราย
กระบวนการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลคอทราย เริ่มจากมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนเพื่อนำปัญหาขึ้นมาแลกเปลี่ยนและแสวงหาทางออกร่วมกัน จนนำไปสู่การตั้งทีมทำงานในระดับตำบลเพื่อการบริหารจัดการ และการสำรวจข้อมูลผู้ที่เดือดร้อนทางด้านคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัย โดยผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่จะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล จัดลำดับการซ่อมสร้างของแต่ละหมู่บ้านตามความเดือดร้อน จำเป็น และเร่งด่วน โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากผู้ที่เดือดร้อนและความพร้อมในการสร้าง ซึ่งการสำรวจข้อมูลนี้ใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ก็เสร็จสมบูรณ์จนมีการนำเสนอในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเสนอโครงการไปที่ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี
หลังจากได้เสนอโครงการไปที่จังหวัดโดยแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลคอทราย ก็ได้รับการอนุมัติโครงการมาจากพอช. สภาองค์กรชุมชนตำบลคอทรายจึงมีการประชุมทำความเข้าใจสมาชิกที่ได้รับความช่วยเหลือทั้ง 11 ครัวเรือน เริ่มซ่อมแซมทันทีตามแผนที่ได้วางไว้ ซึ่งมีการซื้อวัสดุพร้อมกันทุกครัวเรือนตามการประเมินราคาไว้ และแบ่งงานให้คนในแต่ละบ้านช่วยกันซ่อมแซมบ้านตนเอง ทำให้ได้ทั้งราคาวัสดุที่มีราคาถูก และไม่ต้องมีค่าแรงอีกด้วย บ้านบางหลังยังสามารถนำวัสดุเก่าของตัวบ้านไปซ่อมแซมส่วนอื่นหรือบ้านหลังอื่นๆ ได้อีกด้วย สุดท้ายจะเป็นการสรุปผล มีการจัดการมอบบ้านและเวทีสรุปบทเรียน ซึ่งทำให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาอุปสรรค และข้อดีต่างๆ เพื่อเป็นการจัดการความรู้ที่ดีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน และเป็นแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยได้ต่อไป
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในการซ่อมสร้างบ้านของโครงการบ้านพอเพียงชนบท คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนตำบลคอทรายดีขึ้นมาก มีที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีความสุขมากยิ่งขึ้น ซึ่งนางลออ รักสุข ผู้เดือดร้อนที่ได้รับการซ่อมแซมบ้านกล่าวทั้งน้ำตาแห่งความซาบซึ้งว่า “ป้าขอบคุณมากที่มาทำให้ป้าได้ออกมานั่งเล่นหน้าบ้านได้ ขอบคุณที่มีโครงการดีๆแบบนี้ อย่างป้าทั้งชีวิตคงไม่มีปัญญาทำ เพราะลูกก็พิการทางสมองทั้ง 2 คน โครงการนี้ช่วยต่อชีวิตให้ป้าอยากอยู่ต่อ”
บ้านของป้าลออ รักสุขได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านจำนวน 17,770 บาท โดยมีการเปลี่ยนหลังคาใหม่จากเดิมที่มีรอยรั่วพุพังมาเป็นหลังคาสังกะสีสวยงาม ส่วนวัสดุเก่านำไปกั้นเป็นฝาผนังเพิ่มเติม มีการเทพื้นปูใหม่เพื่อเป็นการสะดวกในการเลื่อนรถเข็นเข้าออกจากตัวบ้านมายังหน้าบ้าน ป้าลออได้ให้ญาติพี่น้องของตนมีส่วนร่วมในการออกแบบและซ่อมแซมบ้านของตนเอง
ภาพบ้านนางลออ รักสุขก่อนทำและหลังทำโครงการบ้านพอเพียงชนบท
จากกรณีตัวอย่างของการซ่อมบ้านของนางลออ รักสุข เราสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นภายในบ้านหลังใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าของบ้าน หน่วยงานภาคีภาครัฐและภาคประชาชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อบ้านหลังอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งในตำบลและทั้งจังหวัดสิงห์บุรี ให้เกิดความตระหนักในการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลคอทรายยังมีการวางแผนต่อเนื่องในการซ่อมแซมบ้านผู้ที่เดือดร้อนที่เหลือให้หมด โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 3 ปี ซึ่งมีความพยายามในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาหนุนเสริม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามวิสัยทัศน์ของสภาองค์ชุมชนที่ว่า “คอทรายใส่ใจสุขภาพนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี” โดยมีเครื่องมือโครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตำบลคอทราย สรุปได้ว่า “แค่บ้านพอเพียงก็เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ได้