บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์หมายถึง เมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานเมืองลับแล และเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็น เมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จัวหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน
อำเภอทองแสนขัน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอตรอน และได้ขอแยกท้องที่เพื่อจัดตั้งกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2526 และได้ยกฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2533 ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 38 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ได้แก่
ทิศเหนือ. ติดต่อกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์และอำเภอท่าปลา
ทิศตะวันออก. ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด
ทิศใต้. ติดต่อกับอำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ (จังหวัดพิษณุโลก) และอำเภอพิชัย
ทิศตะวันตก. ติดต่อกับอำเภอตรอน
ท้องที่อำเภอทองแสนขันประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลทองแสนขัน 2) องค์การบริหารส่วนตำบลผักขวง 3) องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง 4) องค์การบริหารส่วนตำบลป่าคาย และ 5) องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพี้
คนทองแสนขันส่วนใหญ่เป็นชาว ไท-ยวน ซึ่งมีศิลปะวัฒนธรรม ภาษาพูด การแต่งกาย อาหารและยังมีชาวลาวหลวงพระบาง อีกกลุ่มหนึ่งที่มาตั้งรกรากอยู่
จากตำนานพื้นบ้านเล่าว่า[6] เคยมีชาวมอญมาตั้งรกรากอยู่ใกล้ๆ บ้านแสนขัน ได้หนีมาจากขอมที่บุกรุก จากนั้นมาขอมก็ตามมารบกับมอญอีก ชาวมอญจึงมาหลบอยู่ที่บ้านแสนขัน เพราะว่าก่อนหน้านี้ เขตบ้านแสนขันจะเป็นป่าทั้งหมด แต่ทั้งขอมและมอญก็อยู่ไม่ได้จึงได้หนีไป ปล่อยให้ที่บริเวณนี้เป็นที่ร้างอีก จากนั้นมาก็มีชาวไทยเดิมจากเวียงจันทน์ (ประเทศลาว) ได้ผ่านมาและเห็นว่าที่ดินบริเวณแห่งนี้มีดินที่ อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำลำธารไหลผ่าน ทำเลดี เหมาะที่จะตั้งรกรากทำมาหากิน จึงกลับไปชวนเพื่อนบ้านมาประมาณ 6-7 ครอบครัวเพื่อมาตั้งรกรากอยู่ที่นั่น โดยขณะนั้นยังไม่มีการเรียกชื่อหมู่บ้าน หลังจากนั้นชาวหล่มสัก (เพชรบูรณ์) เลยนครไทย (พิษณุโลก) ทราบข่าวว่าที่อุตรดิตถ์จะมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ จึงได้เก็บเงินเรี่ยไรจากชาวบ้านได้เงินเป็นจำนวนแสนขัน แล้วจึงได้บรรทุกเงินแสนขันนั้นแบกใส่หลังช้าง ม้า วัว ควายมาตาม ๆ กัน และในขบวนนี้ก็จะมีหัวหน้าอยู่หนึ่งคน เดินทางล่วงหน้าไปก่อนถึงบ้านบ่อทอง และทราบว่าวัดพระแท่นศิลาอาสน์นั้นได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กลับไปบอกพรรคพวกที่บรรทุกทองมาให้นำไปฝังไว้ที่บ้านบ่อทอง ปัจจุบันได้ตั้งชื่อว่า “ทองแสนขัน” แต่ชาวบ้านได้เรียกสั้นๆ ว่า “บ้านแสนขัน” มาจนถึงปัจจุบันนี้
เดิมท้องที่ที่เป็นอำเภอทองแสนขันรวมอยู่กับอำเภอตรอน ครั้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2517 ทางอำเภอตรอนต้องการที่จะแยกท้องที่ดังกล่าวเพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นอีกแห่งหนึ่ง จึงขอแยกท้องที่ตำบลป่าคายซึ่งเป็นตำบลใหญ่ออกเป็น 2 ตำบล โดยเรียกชื่อตำบลที่แยกออกมาว่าตำบลบ่อทอง เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้แยกตำบลได้แล้ว ทำให้อำเภอตรอนซึ่งเดิมประกอบด้วยเขตการปกครองตำบล 7 ตำบล มีตำบลบ้านแก่ง ตำบลหาดสองแคว ตำบลน้ำอ่าง ตำบลวังแดง ตำบลน้ำพี้ ตำบลผักขวง และตำบลป่าคาย เพิ่มขึ้นเป็น 8 ตำบล เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2523 จึงได้รายงานขอแยกท้องที่ตำบลผักขวง ตำบลน้ำพี้ ตำบลป่าคายและตำบลบ่อทอง ออกจากอำเภอตรอนขอตั้งเป็นกิ่งอำเภอและกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2526 ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่งอำเภอทองแสนขันและต่อมากระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า กิ่งอำเภอทองแสนขันมีท้องที่กว้างขวางมีชุมชนการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมากสมควรยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่การปกครองการให้บริการของรัฐบาลและความสะดวกของประชาชนและส่งเสริมท้องที่ให้เจริญยิ่งขึ้นจึงตราพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2533 จัดตั้งอำเภอทองแสนขันขึ้น โดยให้มีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่วันถัดไป
ลักษณะภูมิประเทศ มีความยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตรและความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 50 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาและมีความลาดเอียงทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้โดยมีภูเขาน้อยใหญ่ความสูงเฉลี่ยประมาณ 200-900 ฟุต จากระดับน้ำทะเล
ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่หินอ่อน แร่หินปูน แร่แคลไซต์ แร่ฟอสฟอรัส แร่หินแกรนิต แกร่เหล็กและแร่แกรไฟด์
แหล่งน้ำธรรมชาติ มีคลองตรอน มีลำห้วยพี้ ลำห้วยน้ำลอก ลำห้วยดินดำ ลำห้วยน้ำมืด ลำห้วยน้ำหมีและลำห้วยน้ำใส แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสภาพตื้นเขินและมีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น แหล่งน้ำจัดสร้างขึ้น สระน้ำ ที่ตำบลบ่อทอง ตำบลผักขวง ตำบลป่าคาย ตำบลน้ำพี้ บ่อบาดาลระดับตื้น (บ่อตอก) ที่ตำบล บ่อทอง ตำบลป่าคาย ตำบลผักขวง ตำบลน้ำพี้ คลองส่งน้ำชลประทานและแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค
ด้านเศรษฐกิจ อำเภอทองแสนขันมีประชากรประมาณร้อยละ 85 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำแนกได้ดังนี้ อาชีพหลักคือ ทำนา ทำไร่อ้อย ทำไร่ถั่วเหลือง ทำไร่น้ำมันสำปะหลัง ทำไร่งา ทำไหร่ข้าวฟาง และหอมแดง อาชีพรอง ได้แก่ เลี้ยงสัตว์และทำสวย ส่วนอาชีพอื่นๆ ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง เป็นต้น
ตำบลป่าคาย ตามคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ ว่ามีมานานถึงร้อยกว่าปี ซึ่งแยกมาจากอำเภอตรอน แต่เมื่อก่อนเป็นแค่กิ่งอำเภอทองแสนขัน มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ต่อมาตำบลบ่อทองได้แยกออกมาจึงเหลือ 6 หมู่บ้าน กำนันคนแรกของตำบลป่าคาย คือ กำนันสงค์ มาบุญลือ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ประชากรอพยพมาจากนครไทย (อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก) และคนแสนขันมา ทำไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าคาย (ต้นไผ่คาย คือ ต้นไผ่ที่ไม่มีหนามเล็กกว่าต้นไผ่ทั่วๆ ไป สามารถนำมาทำตะกร้า ทำประทัดยิง ทำฝักมีด ทำเข่ง เป็นต้น)
ประชาชนส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาษาพูดไทยพวน อาชีพส่วนใหญ่ ทำนา ทำไร่ มาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลป่าคาย ตามพื้นที่สันนิษฐานว่าในหมู่บ้านนี้เป็นป่าหน่อไม้คายขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงได้ชื่อหมู่บ้านตามความเป็นจริงและขยายหมู่บ้านออกไปตามจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 9 หมู่บ้าน
อาณาเขตติดต่อของตำบล ได้แก่
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
คนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร เป็ดและไก่ รับจ้างทั่วไป เช่น แรงงานด้านการเกษตร รับจ้างต่างจังหวัดและต่างประเทศ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ อาทิ คลองตรอน คลองห้วยพี้ ห้วยน้ำใส ห้วยคู่ ห้วยพรหม ห้วยบงในห้วยบงนอก ห้วยลิ้น ห้วยปูน แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น อาทิ ฝาย บ่อน้ำตื้น บ่อโยก ระบบประปา
“แถวนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งถิ่นฐานมากว่าร้อยปี หลายกลุ่มย้ายมาจากแถบอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาว มีสำเนียงพูดเฉพาะถิ่น ในช่วง 2527 แยกตัวออกจากอำเภอตรอน มาเป็นกิ่งอำเภอทองแสนขัน แต่เดิมมีจำนวนหมู่บ้าน 13 หมู่บ้าน ในระยะต่อมาแยกออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลป่าคาย (6 หมู่บ้าน) ตำบลบ่อทอง (7 หมู่บ้าน) ต่อมาตำบลป่าคายมีการขยายจำนวนหมู่บ้านเพิ่มเติมอีก 3 หมู่บ้าน คนในตำบลส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ข้าวโพด อ้อย เลี้ยงสัตว์ ไก่ หมู วัว ควาย”
…..ผู้นำท่านหนึ่งเล่าถึงลักษณะพื้นที่ตำบล
ตัวอย่างฝายชะลอน้ำ (หมู่ 3)
ช่วงปี 2538 เริ่มมีการจัดตั้งสภาตำบลและยกระดับสู่องค์การบริหารส่วนตำบลในปี 2546 เหตุการณ์สำคัญในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก หลังจากนั้นเริ่มมีการพัฒนาแหล่งน้ำป้องกันภัยแล้งมากขึ้น มีฝายเพิ่มเติมจำนวน 12 แห่ง เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำ พัฒนาระบบประปาในชุมชน โครงการพัฒนางานสูบน้ำคลองตรวนเพื่อพื้นที่เกษตร โครงการธนาคารขยะ (คัดแยกขยะ) มีผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจ สมาชิกได้รับการปันผลร้อยละ 40 สร้างกระแสการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะในตำบล จากปัญหาภัยแล้ง จึงมีการระดมทุนกันภายในท้องถิ่นเพื่อขุดบ่อน้ำเพื่อใช้อุปโภค บริโภค เนื่องจากขณะนั้นไม่ได้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนนั้นหมู่บ้านในตำบลเคยได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงในระดับจังหวัด
การรวมกลุ่มขับเคลื่อนงานพัฒนาที่สำคัญในปี 2559 คือจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน มีจำนวนสมาชิกกว่า 40 คน โดยการสนับสนุนของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาจึงเริ่มมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย พบข้อมูลประมาณ 30 ครอบครัว และมีการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมายและจัดลำดับความเดือดร้อนของแต่ละราย (เร่งด่วนจากมากไปหาน้อย) กลุ่มผู้ประสบปัญหาเร่งด่วนส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ที่ 2,3 และ 9
แผนที่ตั้งและอาณาเขตตำบลป่าคาย
กระบวนการดำเนินงาน
การทำงานภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท รวมถึงงานพัฒนาด้านอื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่อง โดยที่ได้รับการร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทำงานใกล้ชิดในลักษณะการเสริมพลังซึ่งกันและกัน ในกรณีโครงการดังกล่าวนั้น เห็นได้ชัดในส่วนของการทำงานร่วมในฐานะคณะกรรมการดำเนินโครงการ
ในขั้นตอนการทำควาสมเข้าใจต่อโครงการ ผู้นำส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องทบทวนและสร้างความเข้าใจร่วมกันเพิ่มเติม เนื่องจากแนวคิดที่ว่า “การช่วยเหลือคนยากไร้เรื่องบ้านในโครงการนี้ ต้องพยายามให้เป็นมากกว่าเรื่องบ้าน” ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตีความ เนื่องจากที่ผ่านจะมีความเคยชินกับโครงการในลักษณะเชิงสงเคราะห์แบบทั่วไปหรือเรียกว่าเป็นการนำโครงการต่างๆ มามอบให้กลุ่มเป้าหมาย แต่โครงการบ้านพอเพียงชนบทดูเหมือนว่าจะต้องเน้นในมิติอื่นมากกว่า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายและการใช้ศักยภาพ ต้นทุนต่างๆ ของชุมชนเป็นหลัก (ก่อน) นอกจากนั้นยังเห็นว่าต้องกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ รวมถึงคนในชุมชนให้คิดตามแนวทางดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก (จากการทำงานโดยทั่วไปของหน่วยงานรัฐ) เพราะฉะนั้นหากกลุ่มผู้นำสามารถเข้าใจได้มากเท่าใดก็จะส่งผลถึงการบรรลุเป้าหมายของโครงการ
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจร่วมกันของกลุ่มผู้นำ จะมีการตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบโครงการ
โดยมีกรรมการสภาองค์กรชุมชน สภาตำบล ร่วมกับคณะกรรมการชุมชน ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทุกฝ่ายต้องร่วมบริหารจัดการแผนกิจกรรม งบประมาณ งานเอกสารและประสานงานกับภาคีอื่นๆ
กระบวนสำคัญต่อมา คือ สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในทุกหมู่บ้าน โดยต้องเน้นให้ตรงตามวัตถุประสงค์ มีการร่วมพิจารณาคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ให้เป็นธรรม เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ทุกคนในตำบล การคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายให้ได้ตามกรอบจำนวนของโครงการจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ยาก ในขั้นตอนนี้การใช้เวทีประชุมและการลงมติจากประชาคมหมู่บ้านเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลดปัญหาการเกิดข้อครหาได้ โดยมีผู้นำ คณะกรรมการชุมชน สภาองค์กรชุมชน เป็นผู้ที่จะช่วยชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ให้กับคนในชุมชน
ตัวอย่างบรรยากาศการประชาคมหมู่บ้านเพื่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโครงการ
เมื่อได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายครบถ้วน จะนำเสนอโครงการขอรับงบประมาณ แต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบโครงการ (เวลาดำเนินการในพื้นที่) พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการก่อปสร้างปรับปรุงตามลำดับ โดยดำเนินการสร้างทีละหลังตามลำดับและความเหมาะสม
ในวันที่ดำเนินการซ่อมแซมบ้านหรือ “วันสร้าง” จะระดมแรงงานและความร่วมมือของคนแต่ละชุมชน ในฐานะกิจกรรมส่วนรวมหรือกิจกรรมสาธารณะ จะพยายามไม่ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือเป็นแค่กลุ่มผู้นำ กลุ่มคณะกรรมการเท่านั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าวันทำกิจกรรมสร้างบ้านแต่ละครั้งเป็นส่วนของตัวชี้วัดที่สำคัญของโครงการ ในส่วนของผู้นำและสภาองค์กรชุมชนจะมีโอกาสประเมินศักยภาพของชุมชนในวันดังกล่าวอีกด้วย
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
คำว่า “การมีส่วนร่วม” และ “เครือข่าย” เป็นประเด็นสำคัญในการทำงานไม่ใช่แค่เพียงภายใต้โครงการบ้านพอเพียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการก่อตัวของขบวนสภาองค์กรชุมชนที่ผ่านมานั้นเน้นกระบวนการสำคัญที่เป็นดั่งหัวใจการทำงานจากทั้งสองคำข้างต้นมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มคนทำงานพัฒนามีบทเรียนสำคัญจากในอดีตร่วมกันว่าจุดอ่อนสำคัญในการทำงานพัฒนาหรือการทำงานแก้ไขปัญหาของคนท้องถิ่นนั้นขาดประเด็นดังกล่าว ฉะนั้นการทำงานต่อเนื่องจากสภาองค์กรชุมชน ขบวนตำบลหรือจังหวัดจึงยิ่งต้องเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมและการทำงานเครือข่ายอย่างเข้มข้น
กลไกที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนโครงการในภาพรวมหรือในฐานะกลุ่มอำนวยการ ประกอบด้วยสภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้นำ (ทางการและธรรมชาติ) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (ภายหลังจะรวมกันอยู่ในคณะกรรมการดำเนินโครงการร่วมกับส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง)
โดยกลุ่มเหล่านี้จะมีบทบาทเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือกับอีก 2 ระดับหลัก คือ กลไกระดับชุมชน ท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการชุมชน กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน ฯลฯ และกลไกระดับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ตำบล อำเภอ จังหวัดและหน่วยงานอื่นที่คาดว่าจะสามารถแสวงหาความร่วมมือได้ เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หน่วยงานพัฒนาชุมชน หน่วยงานด้านความมั่นคง ร้านค้า ภาคธุรกิจ
ตัวอย่างบทบาทในแต่ละกลุ่ม ในการซ่อมสร้างบ้านกลุ่มเป้าหมาย คนในชุมชนจะร่วมกิจกรรมในลักษณะจิตอาสา โดยไม่มีค่าตอบแทน ร่วมกับคณะกรรมการชุมชน กลุ่มช่างก่อสร้างท้องถิ่น ในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้าน ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ห้างร้านที่ขายวัสดุก่อสร้าง งบประมาณเพิ่มเติมจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มอาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) และชมรมผู้สูงอายุมีส่วนช่วยเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้เดือดร้อน ผู้ยากไร้ (กลุ่มเป้าหมายโครงการ) กลุ่ม อป.พร. รับหน้าที่เป็นแรงงานในการสร้างบ้าน กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุขหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลเรื่องอารหาร น้ำดื่ม วัดในตำบลร่วมบริจาคข้าวสารอาหารแห้งให้กับกลุ่มเป้าหมาย
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าคาย สนับสนุนสถานที่ บุคลากร งานเอกสาร ข้อมูล ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร หน่วยงานระดับอำเภอ เช่น การสนับสนุนค่าอาหาร ค่าขนส่งวัสดุอุปกรณ์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขนหิน ด้านภาคีภายนอกชุมชน เช่น บริษัทบ่อทองศิลา บริษัทศิลาฯ สนับสนุน หินคลุก หินเท มูลค่ากเกือบ 5,000 บาท โรงงานค้าไม้และแปรรูป (ภ.ภาวนา) สนับสนุนไม้แปรรูปจำนวน 10,000 บาท ศูนย์อบรมเยาวชนอุตรดิตถ์ สนับสนุนสุขภัณฑ์ห้องน้ำ มูลค่าประมาณ 1,600 บาท
การประชุมชี้แจงข้อมูลโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
ด้านกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ในตำบลได้รับการปรับปรุงบ้านให้มีสภาพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น มีความปลอดภัย ความสะดวกมากขึ้น ในภาพรวมถือได้ว่าช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้เป็นการปรับปรุง ซ่อมแซมเพียงบางส่วนของตัวบ้าน (มากน้อยต่างกัน) แต่สามารถช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้เรื่องบ้านได้อย่างมาก หลายครอบครัวไม่สามารถหารายได้มากพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ หลังจากที่ครอบครัวได้รับการช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ ได้สร้างขวัญกำลังในการใช้ชีวิต การทำมาหากินต่อไป
ด้านชุมชน ได้เกิดความสามัคคี เกิดบรรยากาศในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชุมชน คนในชุมชนได้ร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ ได้ออกแรงร่วมกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แต่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะมีกลุ่มคนยากไร้ด้อยโอกาสอยู่ในชุมชนแต่ก็มิได้ถูกทอดทิ้งหรือไม่ถูกเหลียวแล หากมีโอกาสที่เหมาะสมทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมช่วยเหลือกันตามกำลัง ตามศักยภาพ โครงการรนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่าหากได้ร่วมกันอย่างเต็มที่ก็จะสามารถเกิดผลที่ดีตามมา (ตามเป้าหมาย) ในส่วนของหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการได้รับรู้ว่ายังมีการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับปัญหาของพวกเขา
ในด้านขบวนการทำงาน เครือข่ายหรือกลุ่มงานพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ตำบล ได้รับประสบการณ์ใหม่ตั้งแต่ระดับแนวคิดการทำงาน จนถึงในแต่ละขั้นตอนการทำงาน แม้ว่าบางประเด็นจะยังไม่เข้าใจเต็มที่ทั้งหมด แต่ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ได้ลงมือปฏิบัติ ได้ลองผิดลองถูก อย่างน้อยในระยะสองปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำเห็นว่าโครงการบ้านพอเพียงชนบทที่ดูจากชื่ออาจไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับพบว่ามีรายละเอียดที่ต้องนึกถึงอย่างมากในทุกขั้นตอน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนในชุมชนได้สัมผัสอย่างเต็มที่หรือเรียกได้ว่า “มีส่วนร่วมในการทำงานมากเป็นพิเศษ” แม้ในบางขั้นตอนจะยังต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น งานเอกสาร งานธุรการต่างๆ แต่บุคลากรเหล่านั้นส่วนใหญ่ถือว่าเป็นคนในชุมชน ท้องถิ่นเช่นเดียวกัน ด้านหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในพื้นที่ต่างได้เห็นถึงศักยภาพร่วมกันมากขึ้น ลดความคิดในการมองคนในชุมชนเป็นเพียงผู้รอรับผลประโยชน์ฝ่ายเดียวและยังเกิดความสัมพันธ์ในเชิงความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่อาจไม่ได้มีโอกาสร่วมงานกันมากนัก
ประเด็นท้าทายสำคัญต่อไปในระยะยาว คือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในเชิงงานพัฒนาที่ควรต้องสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มากขึ้นและการแสวงหาทุน ทรัพยากรต่างๆ เข้ามาสนับสนุนงานของชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวอย่างจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทจะเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นบทเรียนในการวางแผนในงานด้านอื่นและโครงการอื่นต่อไป
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
การทำงานร่วมกันภายใต้โครงการนี้ ทำให้เห็นถึง “ความเป็นจิตอาสา” ของคนในชุมชนที่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่างน้อยสามารถเห็นได้จากการที่โครงการไม่ต้องจ่ายตอบแทนให้กับคนที่ร่วมกิจกรรมในการซ่อมสร้างบ้านกลุ่มเป้าหมาย แต่ต่างฝ่ายต่างร่วมลงทุนลงแรงร่วมกันอย่างเต็มที่ หลายคนยังยึดมั่นในความเชื่อเรื่อง “บุญ” โดยมองว่าการช่วยเหลือคนที่ยากไร้เป็นเรื่องที่ดี จะได้รับผลบุญที่ดีตามมา ซึ่งถือเป็นสิ่งช่วยสนับสนุนการทำงาน ประกอบกับชุมชนให้ความสำคัญกับกิจกรรมสาธารณะของชุมชนในฐานะที่ตัวเองเป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชน ในอีกด้านหากใครไม่ให้ความร่วมมืออาจจะถูกนินทาลับหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชุมชน
องค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากได้มีการพูดคุย ชี้แจงการดำเนินโครงการมาตั้งแต่เริ่มโครงการ กลุ่มผู้นำและผู้ประสานงานของขบวนสภาองค์กรชุมชนถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการประสานงานและทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อเด่นอย่างหนึ่งของกลไกดังกล่าว คือ มีองค์ประกอบของคนในชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลาย มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน มีความน่าเชื่อถือ ผู้นำหลายคนมีบารมี มีความเป็นจิตอาสามาต่อเนื่อง ช่วยเหลืองานสาธารณะมาโดยตลอด จึงเป็นที่รู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแต่ละหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ตัวอย่างเช่นในกรณีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้มีการชี้แจงและใช้มติประชาคมเป็นตัวตัดสิน จึงเกิดความโปร่งใสร่วมกัน
ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
ส่วนใหญ่ต่างเห็นว่างบประมาณสนับสนุนของโครงการมีจำนวนน้อยเกินไป เนื่องจากราคาวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างมีราคาสูงมากกว่าแต่ก่อนและหลายชนิดปรับราคาขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา การที่ราคาวัสดุปรับราคาสูงขึ้นนั้นมีผลโดยตรงต่อโครงการ จะเกิดปัญหาหากการประมาณราคาวัสดุในเอกสารโครงการ (ก่อนเริ่ม) ไม่สอดคล้องกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านงานเอกสารโครงการเป็นงานที่ต้องพึ่งพาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มพี่เลี้ยงโครงการ จึงต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากมีการปรับแก้ จึงทำให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา ในระยะปีแรกของการ่วมโครงการมีประเด็นติดขัดที่ยังไม่เข้าใจเต็มที่ (เริ่มเข้าใจมากขึ้นในปีต่อมา)
ด้านการทำความเข้าใจในแนวคิดของโครงการกับคนในชุมชนและหน่วยงานอื่น ในระยะแรกยังต้องใช้ศักยภาพของกลุ่มผู้นำและกลไกสภาองค์กรอย่างมาก เนื่องจากมีความแตกต่างจากโครงการที่เน้นงานสงเคราะห์ การชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงผลในระยะยาวจึงต้องอาศัยระยะเวลาที่ต่อเนื่องมากกว่าในระยะปกติของโครงการ หลายผลลัพธ์จะเริ่มแสดงผลต่อเนื่อง (มองเห็นยากกว่าปกติ) เช่น เรื่องศักยภาพการทำงานของขบวนและเครือข่าย
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- แผนงานด้านการแก้ไขปัญหาบ้านหรือที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ยากไร้ต้องดำเนินการต่อเนื่อง อย่างน้อยจนกว่ากลุ่มที่เดือดร้อนในระดับรุนแรงจะได้รับการช่วยเหลือครบถ้วน
- แผนการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายและประเมินสภาพปัญหาและพัฒนาระบบข้อมูลให้พร้อมต่อการนำไปใช้งาน เช่น เสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- นำเสนอโครงการต่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในลักษณะครอบคลุมสภาพปัญหามากกว่าเรื่องของที่อยู่อาศัย
- กลุ่มผู้นำและขบวนการทำงานควรได้รับการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการโครงการ ความรู้เฉพาะทางที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องและควรมีการสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อเข้ามาทำงานในอนาคต
- หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานด้านที่อยู่อาศัยควรมีการบูรณาการความร่วมมืออย่างชัดเจน เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับบ้านและที่อยู่อาศัยของแต่ละหน่วยงานควรมีการพูดคุยเพื่อประสานแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ 1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99