เขียนโดย ฐิติพงศ์ เนาวรัตน์
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มีสมาชิก 1,012 คน และมีจำนวนเงินทั้งหมด 3,494,579.38 บาท การขับเคลื่อนงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ที่ผ่านมา นับได้ว่าต้องพบกับอุปสรรคเป็นอย่างมาก ปัญหาการบริหารจัดการกองทุนฯ ความไม่เชื่อมั่นและการขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุนฯ การจ่ายเงินสวัสดิการที่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ อุปสรรคดังกล่าวกลับทำให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเกิดความเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว ใช้หลักธรรมาภิบาลสุจริต โปร่งใส คุ้มค่า นิติธรรม คุณธรรม และมีส่วนร่วม เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนกองทุนฯ
นางลาวัลย์ ทองปุสสะ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ รุ่นที่ 2 เล่าให้ฟังว่า “ได้เข้ามาขับเคลื่อนงานจากการที่ตัวเองเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่มาก่อน ทราบถึงปัญหาที่กองทุนพบเจอ ได้อาสาเข้ามาทำงานเพื่อร่วมกันฝ่าฟันปัญหาต่างๆร่วมกันไปได้ ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหัวใจในการฟื้นฟูพลังของกองทุนฯ มีการปรับกระบวนทัศน์ความคิด เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเดิม ใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่มีประสิทธิภาพ จนเกิดการยอมรับของสมาชิกเก่าและสมาชิกรายใหม่ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุน รวมทั้งอยู่บนรากฐานที่สำคัญของการจัดสวัสดิการชุมชนชน คือ การให้อย่างมีคุณค่า และรับอย่างมีศักดิ์ศรี
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่เป็นที่โด่งดังรับรู้กันในตำบลว่า มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในชุมชนนำเงินของกองทุนฯ ไปใช้ส่วนตัว ทำให้กองทุนฯ ไม่มีความมั่นคง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสมาชิก และเป็นอุปสรรคในการหาสมาชิกรายใหม่เข้าสู่กองทุนฯ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีท้องถิ่น
การแก้ไขปัญหา เริ่มจากมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกองทุนฯ ชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2557 จากการประชุมสมาชิกประจำปี มีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 400 คน ทุกคนร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนฯ และมีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า “ระเบียบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่”
การบริหารงานยึดหลักธรรมาภิบาล การทำงานสุจริต โปร่งใส มีการปิดประกาศเปิดเผยรายรับและรายจ่ายของกองทุนฯ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ อยู่เสมอ การให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานร่วมกัน ทั้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหมู่ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี และจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกๆ 3 เดือน พร้อมทั้งมีการทำรายงานการประชุมให้สมาชิกรับทราบอีกด้วย
ส่วนเรื่องหลักความคุ้มค่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ได้จัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนในตำบลทั้งหมด 11 ประเภท คือ คลอดบุตร พัฒนาด้านอาชีพ ดูแลยามเจ็บป่วย ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลืองานศพ เงินยืมกลุ่มออมทรัพย์ เงินเพื่อการศึกษา ผ้าห่มกันหนาว และสาธารณประโยชน์ โดยใช้เงินจากที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนฯ เงินสมทบจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหมู่ ซึ่งการจ่ายเงินสวัสดิการนั้นจะจ่ายในทันที และมีการบันทึกภาพเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กองทุนฯ อีกด้วย
ภาพการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกองทุนฯ กรณีเสียชีวิตและด้านการพัฒนาอาชีพ
ถัดมาในเรื่องของนิติธรรม และคุณธรรมนั้น คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ จะเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของคนในตำบล ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมเพียงพอที่ช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานของกองทุนฯ โดยยึดระเบียบกองทุนฯ เป็นหลัก ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การรับเงินจากสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 375 บาทต่อคน ทุกปีทุกคน (แบ่งเป็น เงินจ่ายเข้ากองทุนฯ จำนวน 365 บาทและเงินบริหารจัดการจำนวน 10 บาท) เป็นต้น และการจ่ายสวัสดิการก็เช่นเดียวกัน มีการจ่ายอย่างรวดเร็วทันทีตามระเบียบ เช่น การช่วยเหลือสมาชิกจะจ่ายตั้งแต่ 2,000 – 15,000 บาท แล้วแต่กรณี ส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อการพัฒนาอาชีพนั้น จะให้กู้ได้ไม่เกินรายละ 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี พร้อมเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 200 บาท เป็นต้น
ด้านการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานบนหลักธรรมาภิบาล นอกจากมีการประชุมสมาชิกเป็นประจำในทุกๆ ปีแล้ว ยังมีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยพยายามเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาทำกิจกรรมที่สมาชิกสามารถเข้ามาร่วมได้ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรีได้เข้ามาอบรมอาชีพ การทำไม้กวาดและการทำผ้าเช็ดเท้าจากกลุ่มผ้า หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่วงหมู่ได้ลงพื้นที่มาตรวจสุขภาพและแนะนำแนวทางส่งเสริมสุขภาพของสมาชิกกองทุนฯ และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี ยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้สมาชิกกองทุนฯเข้าร่วม ในเรื่องของการทำบัญชีและการบริหารจัดการที่ดี เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าใช้หลักธรรมาภิบาลทั้งหลักสุจริต โปร่งใส คุ้มค่า นิติธรรม คุณธรรม และมีส่วนร่วมนั้น สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการขับเคลื่อนงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งนางกุลธิดา ศรีโยนา ได้กล่าวถึงความประทับใจในการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ว่า “กองทุนฯนี้ ก็เหมือนกองบุญ ที่ทุกคนร่วมกันทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น สมาชิกได้รับประโยชน์โดยตรงและทันที” นับได้ว่ากองทุนฯ สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ด้วยความเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ มีการคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้ามีการจ่ายเงินกรณีเสียชีวิตให้กับครอบครัวใด ต้องมีสมาชิกในครอบครัวนั้นเข้ามาเป็นสมาชิกรายใหม่ของกองทุนด้วย หรือมีการจ่ายเงินค่าบริหารจัดการให้กับคนที่สามารถหาสมาชิกใหม่มาเพิ่มได้ โดยให้รายละ 10 บาท เป็นต้น และมีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายไว้ คือ ต้องมีการเพิ่มสมาชิกอย่างน้อยปีละ 100 คน ต้องได้รับงบสมทบจากหน่วยงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี รวมทั้งต้องจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิกหลายประเภทและรวดเร็วทันการณ์มากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่ได้ “ก้าวข้ามอุปสรรค ด้วยความเข้มแข็งของการจัดสวัสดิการชุมชนตำบลม่วงหมู่อย่างมีธรรมาภิบาล”