ตำบลเจ็ดริ้ว อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เล่ากันมาว่าในอดีตกาลนานมาแล้ว มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านในพื้นที่ไปหาปลาและได้ปลามามากมาย มีปลาช่อนตัวหนึ่ง ตัวโตมากเมื่อผ่าออกแล้วทำเป็นริ้วๆ เพื่อสะดวกในการทาเกลือและทำให้แห้งเร็ว ปรากฎว่านับได้ถึงเจ็ดริ้ว ตั้งแต่นั้นพื้นที่บริเวณนี้ จึงถูกขนานนามว่า “เจ็ดริ้ว”
ภายในตำบลมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของคนในพื้นที่ อาทิ กลุ่มปักผ้าสไบมอญ กลุ่มสัมมาชีพ กลุ่มเกษตร กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มสานเสื่อ กลุ่มทำไข่เค็ม กลุ่มน้ำพริก กลุ่มแปรรูปผลไม้ กลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้าน กลุ่ม RCC11 เรารักเจ็ดริ้ว และกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างทุนภายในพื้นที่ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนบทบาทสตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนแม่ของแผ่นดิน มีเงินกองทุนรวมกันร่วม 17 ล้านบาท
นับจากได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเจ็ดริ้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 โดยมีนางสำเภา พุกผาสุก เป็นประธาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาชุมชน โดยการรวมตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในชุมชนมาร่วมคิดร่วมทำภายใต้ “สภาองค์กรชุมชน” อันเป็นเวทีกลางในการจัดการประชุม และประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน เช่น การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน นำมาสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
การพัฒนาด้านการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยผ้าสไบมอญ เริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี 2557 โดยการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. สนับสนุนในการตั้งกลุ่มผ้าสไบมอญ สนับสนุนอุปกรณ์ เช่น ผ้า เข็ม ด้าย ต่อมากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ 50,000 บาท เพื่อต่อยอดการทำผ้าสไบมอญ และพัฒนาชุมชนอำเภอ สนับสนุนเรื่องการพัฒนารูปแบบลวดลาย ด้วยการประสานจัดส่งสมาชิกเข้าร่วมอบรมกับผู้ประกอบการส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้รับมาตรฐาน มีลวดลายที่สวยงามคงความเป็นเอกลักษณ์ของตำบลเจ็ดริ้ว
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง พัฒนาการจังหวัดสมุทรสาคร และนายธนสมบัติ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขามหาชัย ได้เชิญให้กลุ่มชุมชนตำบลเจ็ดริ้ว รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP ของจังหวัดสมุทรสาคร นำผลิตภัณฑ์ไปแสดงและจัดจำหน่าย ทำให้ผ้าสไบของชุมชนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค
การจัดงานครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาซมเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยรามัญและผ้าทอสไบ ซึ่งแต่ละผืนเย็บจากมือใช้เวลาค่อนข้างนาน ผืนที่สวยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ยังมีสินค้า อาทิ เครื่องเบญจรงค์ที่ขึ้นชื่อ เรือประมงจำลองเครื่องศิลาดล ผ้าสไบมอญของชาวตำบลเจ็ดริ้ว ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์จากมะพร้าว ปลาสลิดแดดเดียวจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง หมี่กรอบช่างรางวัด กระเป๋าจากหนังปลา อีกทั้งของใช้ ของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย และสินค้าสมุนไพร อีกมากมาย
ซึ่งเป็นข้อบงชี้ได้ว่า วัฒนธรรมการแต่งกายของชนชาติมอญและสินค้าที่เกิดจากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของตำบลเจ็ดริ้ว การทำผ้าสไบมอญ การเล่นเพลงมอญ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดการสานต่อภูมิปัญญาสู่อาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่ายังขาดคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่จะสืบสานภูมิปัญญาเพราะไปทำงานต่างถิ่น มีความพยายามจะบรรจุให้เป็นหลักสูตรวิชาชีพหรือเป็นกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้สนใจได้เข้ามาลองทำและสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมผ้าสไบของตำบลเจ็ดริ้วสืบต่อไป
ผลที่เกิด คือ รายได้กับชุมชนและครัวเรือน มีการขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียง ลูกค้ามาสั่งซื้อผ้าสไบเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเผยแพร่กับหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัด กระทรวงแรงงาน นำมาสู่การกำหนดแผนการพัฒนาชุมชนในระยะต่อไป คือ การถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการทำผ้าสไบมอญให้แก่เด็กและเยาวชนให้มีการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของตำบล และส่งเสริมการขายผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนของชิ้นงานผ้าสไบ และวัสดุอุปกรณ์ในการปักผ้าสไบ ให้ได้รับมาตรฐานของ OTOP
จากกระบวนการจัดประชุมคณะทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และชุมชนตำบลเจ็ดริ้ว โดยชุมชนได้รับสนับสนุนการใช้สถานที่ และการส่งเสริมองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ จากองค์การบริหารส่วนตำบล เจ็ดริ้ว ในการเปิดเวทีประชุมฯ หารือร่วมกันเพื่อจัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาวมอญ รวมถึงพอช. ได้สนับสนุนงบประมาณประจำปี 2561 ในการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการฯ และพัฒนาชุมชนอำเภอ วิทยาลัยการอาชีพอำเภอ ได้มีการสนับสนุนในเรื่องสัมมาชีพและกำลังจะทำในเรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของคนในชุมชน
ผู้เรียบเรียง: นางสำเนา พุกผาสุก
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเจ็ดริ้ว