“ตำบลสวนหลวง” เดิมอยู่ในเขตการปกครองของแขวงเมืองนครไชยศรี มีชื่อเรียกว่า ตำบลหนองแขม ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ ตำบลหนองแขม ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยมีคลองสี่วาตากล่อมและคลองศรีสำราญเป็นแนวแบ่งเป็นแนวแบ่งเขต ซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อของตำบลสวนหลวง มีที่มาจากส่วนหนึ่งของพื้นที่ตำบลเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เกือบสองพันไร่ และประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผักอยู่เป็นจำนวนมาก จึง0ตั้งชื่อว่าตำบลสวนหลวง
ตำบลแห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มมีคลองภาษีเจริญไหลผ่านกลางตำบลทำให้หมู่บ้านตั้งอยู่สองฝั่งคลอง มีเนื้อที่ทั้งหมด 16.95 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,057 ไร่ อาชีพหลักของประชากรในเขตพื้นที่ตำบลสวนหลวง คือ รับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรม มี 1,328 ครัวเรือน อาชีพรอง คือ การเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 4,434 ไร่ มีครอบครัวที่ทำการเกษตร 312 ครัวเรือน
คนตำบลสวนหลวงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย มีขยะ สิ่งปฏิกูลซึ่งมีแหล่งกำเนิดน้ำเสียมาจากบ้านเรือน ตลาดสด สถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรม ที่กระจายตัวกันอยู่ในเขตเทศบาล น้ำเสียจากแหล่งกำเนิด ที่ติดกับคลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำในคลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ เป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานาน ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์อื่นใดได้ คลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ บางช่วงตื้นเขิน เมื่อถึงฤดูฝนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนและบ้านเรือน อีกทั้งยังทำให้สูญเสียความสวยงามของทัศนียภาพริมฝั่งลำน้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมของไทย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่จากการขับเคลื่อนงานของตำบลสวนหลวง โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลสวนหลวง ภายใต้แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการชาวสวนหลวงร่วมใจ เติมน้ำใสให้คลองภาษีเจริญและคลองสาขา เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ดูแลรักษาแหล่งน้ำ ลำคลองในพื้นที่ของตนเองให้สะอาด รวมถึงการฟื้นฟูปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองและส่งเสริมพฤติกรรมลดการทิ้งขยะ และของเสียต่างๆ ลงในแม่น้ำลำคลอง
“คลอง” กับ “ชุมชน” นั้น มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ล้วนมีความผูกพันและใกล้ชิดกับคลองมาโดยตลอด ทั้งในเมืองและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนตำบลสวนหลวงนั้นได้อาศัยคลองเพื่อการดำรงชีวิตมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรสวนผัก สวนผลไม้ คำว่า “คลองสวยน้ำใส” จึงเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิถีชีวิตที่งดงามของพี่น้องประชาชนในตำบลสวนหลวง เพื่อก่อเกิดจิตสำนึกสาธารณะในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
จากการขับเคลื่อนงานของตำบลสวนหลวงในดำเนินโครงการด้านการส่งเสริม อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีการจัดเวทีเชิญผู้ประกอบการโรงงาน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กรต่างๆ และประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยติดคลองภาษีเจริญและคลองอื่นๆ ซึ่งได้มีการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ และจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้ อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน กลุ่มองค์กรภาครัฐ และเอกชนข้างต้น มีการปรับปรุงระบบการกำจัดน้ำเสียของโรงงานไม่ปล่อยลงคลองภาษีเจริญและคลองต่างๆ แม่ค้าและประชาชนไม่ทิ้งขยะลงคลองเหมือนเช่นเคย และการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ (EM) ปรับสภาพน้ำในคลองให้มีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การจัดการคุณภาพน้ำในคูคลอง การอนุรักษ์คลอง และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนริมน้ำ ในบริเวณบ้านพักอาศัยบริเวณริมคลอง
ผลที่ได้ตามมาเป็นรูปธรรมความสำเร็จจากการดำเนินโครงการนี้ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเชิงนิเวศน์ ประชาชน ชุมชนและสถานประกอบการ เห็นความสำคัญและร่วมมือดูแลรักษาคุณภาพน้ำในคลองและบริเวณโดยรอบอย่างต่อเนื่อง คุณภาพน้ำในคลองดีขึ้น โดยความร่วมมือของประชาชน ชุมชนและผู้ประกอบการ สามารถลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลองได้ ทำให้ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมกลับคืนมา เป็นแหล่งผลิตอาหารจากพืชและสัตว์น้ำ คืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ และประชาชนที่บ้านอยู่ติดคลองสามารถหาพืชและสัตว์น้ำมาประกอบเป็นอาหารในครัวเรือน และนำไปจำหน่ายเพื่อให้เกิดการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนจำนวน 1,000 บาทขึ้นไปต่อครัวเรือน
จากการขับเคลื่อนงานของตำบลสวนหลวง ได้นำมาสู่การสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อาทิ เทศบาลตำบลสวนหลวง สนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนตำบลสวนหลวง เข้าร่วมประชุมในการจัดทำแผนพัฒนาตำบลและนำแผนพัฒนาตำบลเข้าสู่แผนพัฒนา 4 ปีของเทศบาลตำบลสวนหลวง และสนับสนุนภายใต้แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการชาวสวนหลวงร่วมใจ เติมน้ำใสให้คลองภาษีเจริญและคลองสาขา งบประมาณจำนวน 400,000 บาท สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร หนุนเสริมในการกำจัดผักตบชวาพัฒนาคุณภาพแหล่งน้ำให้ดีขึ้น แม้ว่า จะมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ตำบลและผู้ประกอบการยังทำผิดกฎหมาย ประชาชนวัยทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานทำให้ยังขาดการมีส่วนร่วมในการประชุม และมีแรงงานข้ามชาติมาอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก เป็นต้น
กล่าวได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากการเรียนรู้ของคนสวนหลวงสู่การพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของคนตำบลสวนหลวงอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยมีเวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกกลางในการทำงาน และมีแผนในการดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
เรียบเรียงโดย : อมรา จิ๋วเจียม
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสวนหลวง