ตำบลควนสุบรรณ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มี 7 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 68.00 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 42,500 ไร่ สภาพพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำไร่ ทำสวน ผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่ปลูกมากที่สุด คือ เงาะนาสาร และกล้วยหอม เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวตำบลควนสุบรรณมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับสมาชิก เช่น กลุ่มแปรรูปปลาส้ม กลุ่มทุเรียนกวน กลุ่มกล้วยฉาบ เป็นต้น แต่กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ดำเนินการไปตามเป้าหมายของตนเอง แก้ปัญหาของตนเอง เรียกว่า “ต่างคน ต่างทำ”
แกนนำในตำบลควนสุบรรณจึงมีความสนใจที่จะหาแนวทางในการรวมกลุ่มต่างๆ ในตำบลมาทำงานร่วมกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล จึงได้ร่วมกันจดแจ้งจัดตั้ง “สภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณ” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 โดยมีนายวินัย มากบุญ เป็นประธาน มีกลุ่มที่ขอจดแจ้งจำนวน 11 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มองค์กรระดับหมู่บ้าน 7 กลุ่ม กลุ่มเครือข่าย 4 กลุ่ม มีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 24 คน
ในปี 2557 ตำบลควนสุบรรณประสบปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ และราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ มีราคาตกต่ำตามไปด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณจึงได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของตำบล โดยการใช้เครื่องมือต่างๆ มาวิเคราะห์ ศักยภาพตำบล เช่น แผนที่ทำมือ การวิเคราะห์ SWOT การค้นหาทุนต่างๆ ในตำบล จากการวิเคราะห์พบว่า
ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ
รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ขาดแรงงานในครัวเรือน หนี้สินเยอะ ด้านสังคม ปัญหายาเสพติด ด้านการจราจร ขาดความสามัคคี การคมนาคมไม่สะดวก เด็กไปศึกษาในเมืองมาก โรงเรียนถูกยุบ ขาดคนที่
มีจิตอาสา ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษจากโรงงานยางพารา น้ำท่วมขัง
บริเวณหมู่ที่ 3, 2 และ 7 ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ติดเขตอุทยาน ป่าไม้
ขาดน้ำอุปโภค บริโภค ในช่วงหน้าแล้ง
จุดเด่นของตำบล ด้านเศรษฐกิจ มีสถาบันการเงินรวมกับธนาคารออมสินให้การสนับสนุน มีกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ มีการแปรรูปปลาส้ม ปลาแดดเดียว กลุ่มวิสาหกิจผักและผลไม้ปลอดสารพิษ มีการแปรรูปทุเรียนกวน เงาะกวน กล้วยฉาบ มันฉาบ มีเงาะโรงเรียนนาสารที่มีชื่อเสียง
ด้านสิ่งแวดล้อม มีภูเขา มีป่าต้นน้ำ มีคลองลำพูน คลองเหียน
ด้านสังคม เป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และความเอื้ออาทรต่อกันและกันเป็นอย่างมาก ถือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มีลักษณะของการประนีประนอมกัน ไม่พยายามให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งลุกลามใหญ่โตออกไป สังคมมีความยืดหยุ่นไม่ปิดกั้นของใหม่
ยึดถือคำสอนทางพุทธศาสนามาใช้กับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจะเดินตามทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) และถือหลักว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
นายวินัย มากบุญ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลตำบล จึงนำข้อมูลมาจัดทำแผนพัฒนาตำบล 3 ปี โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “เศรษฐกิจดี ราคาผลผลิตดี หนี้สินลด ประชาชนมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ทรัพยากรดี มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (เกษตรอินทรีย์)”
จากการดำเนินงานเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชน มีกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถนำมาเสริมสร้างรายได้ให้กับคนชุมชน สมาชิกในกลุ่มมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น 1.กลุ่มแปรรูปวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลาส้ม เป็นปลาจากคลองลำพูน ทางกลุ่มจะเก็บรวบรวมซื้อเพื่อมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาดุกร้า และปลาส้ม
2.กลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบ โดยการรวมกลุ่มรับซื้อกล้วยในชุมชนมาแปรรูปเป็นกล้วยหอมฉาบ กล้วยหินฉาบ ทุเรียนกวน เงาะกวน เป็นต้น
3.กลุ่มปลูกผลไม้ เป็นการรวบรวมผลไม้เพื่อจำหน่าย สร้างอำนาจต่อรองเรื่องราคากับพ่อค้าคนกลาง และทางกลุ่มจะนำผลไม้ไปขายเองตามงานของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีการเปิดบูธ และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้การดำเนินงานดังกล่าวมีการเชื่อมโยงภาคีพัฒนาภายในตำบล เช่น อบต. ที่ให้งบประมาณสนับสนับกลุ่ม/องค์กร และเครือข่ายสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณทุกปี และยังมีหน่วยงานภายนอกที่ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาของเรื่องปากท้องของพี่น้องชาวตำบลควนสุบรรณ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ,กศน , สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เป็นต้น
ภาคี/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสนับสนุนงบประมาณการจัดประชุมพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน 10,000 บาท
- องค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสถานที่รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรและโรงเรือนการแปรรูป 450,000 บาท
- กศน. สนับสนุนงบประมาณในซื้ออุปกรณ์ในการผลผลิต 20,000 บาท
- มสท.ให้ความรู้ในเรื่องการดำเนินงานกลุ่ม
- มอ. สนับสนุนเรื่องมาตรฐาน มผช. และการศึกษาดูงาน
- วิทยาลัยอาชีวะศึกษา สนับสนุน ออกแบบบรรจุภัณฑ์
- อุตสาหกรรม ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบ
- สาธารณสุข ให้ความรู้เรื่องการขอ อย.
- เกษตรอำเภอ ให้ความรู้เกี่ยวกับแปรรูป
ความร่วมมือ/เชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน
- ความร่วมมือ/เชื่อมโยงกับหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนในการเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงท้องที่และท้องถิ่นเข้าร่วมโดยใช้สภาฯ เป็นเวทีกลาง
- การเชื่อมโยงกับพื้นที่ระหว่างตำบล จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสภาองค์กรชุมชนร่วมกันระหว่างพื้นที่ตำบลในและนอกพื้นที่
- การเชื่อมโยง/บูรณา การสู่ระดับจังหวัด/ภูมินิเวศน์เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในระดับโซนอำเภอ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตำบล
- เกิดเวทีกลางในชุมชน (สภาองค์กรชุมชน) เพื่อคนในชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
- ท้องถิ่น ท้องที่ และภาคีต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับสภาองค์กรชุมชนตำบล
- สภาองค์กรชุมชนตำบล มีแหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา
- เกิดนวัตกรรมใหม่ในชุมชน เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
- คนในชุมชนมีวิสาหกิจเป็นของตนเองมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนมีความสำเร็จ
- สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องพี่น้องในยุคเศรษฐกิจตกต่ำได้
- นโยบายของรัฐเอื้อต่อการลงทุนของชุมชน เช่น การทำวิสาหกิจชุมชน และการสนับสนุนงบประมาณ
- คนในชุมชนนำองค์ความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนและสามารถนำ พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนมาใช้เป็นเครื่องมือได้อย่างถูกต้อง
ปัญหา/อุปสรรค ในการดำเนินงาน
- ขาดการประชาสัมพันธ์ และการสร้างความเข้าให้เรื่องสภาองค์กรชุมชนตำบลให้คนเข้าใจ และเข้าถึง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนตำบล
- การยกระดับเครือข่าย การเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่ายภายในจังหวัด และระดับภาค ระดับชาติ ต่อไปในอนาคต
- การสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการตลาดในชุมชน
ผลจากการทำงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ เกิดเวทีกลางในชุมชน คือเวทีสภาองค์กรชุมชนฯ เพื่อคนในชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ท้องถิ่น ท้องที่ และภาคีต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับสภาองค์กรชุมชน เกิดนวัตกรรมใหม่ในชุมชน เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และคนในชุมชนมีวิสาหกิจเป็นของตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะสภาฯ ได้นำปัญหาและความต้องการของชาวบ้านมาแก้ไข ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของพี่น้องในยุคเศรษฐกิจตกต่ำได้ รวมทั้งนโยบายของรัฐยังเอื้อต่อการลงทุนของชุมชน เช่น การทำวิสาหกิจชุมชน และการสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชน” นายวินัย มากบุญ กล่าวสรุปถึงผลงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสุบรรณในช่วงที่ผ่านมา
บทความโดย สำนักงานภาคใต้