จากความทุกข์ยากของชาวนาที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พื้นที่ประเทศไทยเปรียบเสมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ทุกสิ่งจมอยู่ใต้บาดาล พืชผลการเกษตรและเมล็ดพันธุ์หลายชนิดจมอยู่ใต้น้ำ ต่อมาปี 2559 ภาวะข้าวล้นตลาดโลก การค้าขายจึงถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ข้าวมะลิ 105 เหลือเพียงราคาตันละ 6,500-6,800 บาท เท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีกระแสโด่งดังในโลกโซเชียล “ช่วยชาวนาขายข้าว” มาพักหนึ่ง แล้วก็เงียบหายไป
แม่สื่อหาเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวชาวนา
เกิดปรากฏการใหม่จากกลุ่มคนจิตอาสาฯ มุ่งเน้นช่วยเหลือชาวนาไทยที่ทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “แม่สื่อ” เรียกชาวนาอินทรีย์ว่า “เจ้าบ่าว” เรียกคนซื้อข้าวกินว่า “เจ้าสาว” เรียกเช่นนี้ก็เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นครอบเป็นครัวมากกว่าแค่การซื้อมาขายไป แม่สื่อทำหน้าที่ให้เจ้าสาวคนกินและเจ้าบ่าวชาวนามาพบกัน ผูกสมัครรักใคร่กันฉันญาติมิตรซื้อขายกันไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เจ้าสาวจะต้องจ่ายเงินค่าข้าว (สินสอด) ให้เจ้าบ่าวชาวนาตลอดทั้งปี (12 เดือน) เจ้าบ่าวชาวนาจะต้องดูแลครอบครัวเจ้าสาว โดยสีข้าวใหม่ๆ ส่งให้เจ้าสาวทุกเดือนจนครบ 1 ปี การจ่ายเงินค่าข้าวให้เจ้าบ่าวชาวนาตลอดทั้งปี เพื่อเป็นทุนรอนให้เจ้าบ่าวได้ทำนาต่อไป เจ้าบ่าวชาวนา 1 คน สามารถมีเจ้าสาวคนกินได้มากกว่า 1 คน ตามจำนวนปริมาณข้าวที่มี กระบวนการเหล่านี้เรียกว่า “ผูกปิ่นโตข้าว” นั่นเอง
ผูกปิ่นโตข้าวได้ก่อเกิดขึ้นในปี 2556 โดยกลุ่มแม่สื่อเปิดเพจเฟซบุ๊ครับสมัครชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ทั่วประเทศเข้าสู่โครงการผูกปิ่นโตข้าว มีชาวนาอินทรีย์ที่ผ่านการตรวจประเมินจากโครงการฯ ทั้งหมด 54 รหัส จากหลายจังหวัด เช่น นครนายก นครปฐม ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง ราชบุรี ฯลฯ เป็นต้น
ผูกปิ่นโตข้าวนครสวรรค์
เกิดจากการขยายตัวของผูกปิ่นโตข้าว ซึ่งเราเริ่มเรียกว่า ผูกปิ่นโตข้าวเถาใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายให้เกิดจังหวัดผูกปิ่นโตข้าวทั้งแผ่นดิน ผูกปิ่นโตข้าวนครสวรรค์มีกระบวนการขั้นตอนไม่แตกต่างจากผูกปิ่นโตข้าวเถาใหญ่ ในหลักการ คือ ใช้ความสมัครใจของชาวนาเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการตรวจแปลงนาตามมาตรฐานผูกปิ่นโตข้าว (เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) แต่สิ่งที่แตกต่างจากผูกปิ่นโตข้าวเถาใหญ่คือ “ทีมแม่สื่อ” หัวหน้าทีมหลัก คือ พาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ ภาคธุรกิจ บริซคลับ ภาคประชาสังคม และชาวนาอินทรีย์ ด้วยพาณิชย์จังหวัดนายประดิษฐ์ ภู่พัด เห็นว่ากระบวนการผูกปิ่นโตข้าวมีความสอดรับกับนโยบายจังหวัดนครสวรรค์ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นขยายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ จึงได้สนับสนุนงบประมาณ 4 ล้านบาทพัฒนาตลาดข้าวอินทรีย์โดยผูกปิ่นโตข้าว
ทางเลือกทางรอด
ชาวนาจังหวัดนครสวรรค์กว่า 40 ชีวิต สมัครใจเข้าร่วมโครงการผูกปิ่นโตข้าว พัฒนาตนเองทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ชาวนาจัดทำปุ๋ยคอก ขยายจุลินทรีย์ ทำน้ำหมักจัดการแมลงไว้ใช้กันเองในแปลงเกษตร “สนุ่น สมีเพ็ชร” เป็นหนึ่งใน 40 สมาชิกโครงการฯที่ทำนาอินทรีย์มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ด้วยทำตามพ่อแม่ที่เคยทำมาเนิ่นนาน แต่สนุ่น ก็ยังคงขายเป็นข้าวเปลือกให้กับโรงสีในราคาที่โรงสีกำหนด จึงไม่แตกต่างไปจากราคาข้าวเปลือกที่ใช้เคมี กระทั่งเกิดโครงการผูกปิ่นโตข้าวนครสวรรค์ขึ้น จึงเป็นความหวังของชาวนาอินทรีย์ ที่มีวิธีขายข้าวอินทรีย์แบบผูกกันเป็นปี ไม่ใช่ซื้อขายกันเพียงแค่ครั้งเดียว ที่สำคัญยังแยกให้เห็นความสำคัญของข้าวอินทรีย์อีกด้วย
เจ้าบ่าวพบเจ้าสาว
กระบวนการซื้อขายก็คือ ชาวนาอินทรีย์จะถูกเรียกว่าเจ้าบ่าว คนกินข้าวจะถูกเรียกว่าเจ้าสาว โดยคนกลางที่นำพาสองคนมาพบกันคือ แม่สื่อ จะทำหน้าที่ 2 ทางคือ บริหารทั้งเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์และเจ้าสาวคนกิน ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางเพจผูกปิ่นโตข้าวนครสวรรค์ รับสมัครเจ้าสาวคนกิน และชาวนาที่ทำนาอินทรีย์ ในส่วนของชาวนาเมื่อผ่านการตรวจแปลง ได้รับมาตรฐานแล้ว จึงประกาศว่าเป็นเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์ และมีรหัสหมายเลขกำกับ แม่สื่อทำการผูกปิ่นโตโดยจัดส่งเจ้าสาวในช่องทางอีเมล์และไลน์ให้เจ้าบ่าวชาวนา ตามชนิดข้าวที่เจ้าสาวต้องการ การผูกปิ่นโตจะผูกกันเป็นปี คือ ทั้ง 12 เดือน เจ้าสาวต้องจ่ายเงินค่าข้าวให้เจ้าบ่าวล่วงหน้าตลอด 1 ปี ตัวอย่างเช่น เจ้าสาวเอ สมัครเข้าโครงการฯต้องการกินข้าวมะลิแดงกล้องจำนวนเดือนละ 5 กิโล แม่สื่อจะจับคู่ให้กับเจ้าบ่าวที่มีข้าวมะลิแดง ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าว กิโลละ 70 บาท + ค่าส่ง 20 บาท = 90 บาท x 5 กิโล x 12 เดือน = 5,400 บาท เจ้าสาวเอ จะต้องโอนเงินเข้าบัญชีเจ้าบ่าว 5,400 บาท พร้อมแสดงหลักฐานการโอน จากนั้นเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเจ้าสาวเอด้วยการสีข้าวใหม่ๆส่งให้ทุกเดือน
เปิดตัวยิ่งใหญ่
ผูกปิ่นโตข้าวนครสวรรค์เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยใช้วันแห่งความรักเป็นสื่อแทนใจ ณ โรงแรมแกรนด์ฮิล อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยขบวนแห่ขันหมากของเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์ ซุ้มอาหารพื้นบ้านฝีมือเจ้าบ่าว ตอกย้ำความมั่นใจให้คนกินด้วยการเขียนรายละเอียดที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร ซุ้มข้าว 9 สายพันธุ์ที่เจ้าบ่าวภูมิใจ ผู้มาเที่ยวงานสามารถกินได้ไม่อั้นเพียงอิ่มละ 9 บาทเท่านั้น การเปิดตัวในครั้งนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์นายปรีชา เดชพันธ์ ได้ให้เกียรติมาทำพิธีเปิดด้วยการเทข้าวสาร 9 สายพันธุ์ลงในหม้อดิน พร้อมกล่าวสนับสนุนโครงการฯ ว่าเป็นความหวังของจังหวัดที่จะช่วยเพิ่มเกษตรอินทรีย์จนกระทั่งนครสวรรค์กลายเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต่อไปอย่างยั่งยืน
นี่คือตัวอย่างของการสานพลังทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน พลังจิตอาสา เพื่อช่วยเหลือชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์ ให้มีช่องทางขายผลผลิตโดยไม่โดนพ่อค้าคนกลางกดราคา ในขณะที่ผู้ซื้อก็ได้บริโภคข้าวสารอินทรีย์ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
เรียบเรียงโดย พัชรินทร์ เกษสุวรรณ นักสื่อสารจัดการความรู้นครสวรรค์