วันนี้(26 เม.ย. 2562) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวเปิดงานเวทีการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯว่า เป็นเวทีเปิดโลกทัศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในหัวข้อ“การเปลี่ยนผ่านองค์กร พอช. สู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation)” เพื่อให้คนทำงานได้เกิดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัลและการนำความรู้แบบดิจิทัลไปปรับใช้ในการทำงานกับชุมชน โดยเชิญ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงาน (กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นวิทยากรในหัวข้อดังกล่าว
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคนี้เปรียบได้กับคลื่นลูกใหญ่ที่สาดเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่คลื่นลูกนี้ไม่ได้เป็นคลื่นที่เพิ่งเกิดขึ้น ความเป็นจริงแล้วได้เกิดมานานกว่า 20 ปีแล้ว เห็นได้จากการเติบโตของข้อมูลสถิติผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ประชากรของไทยกว่า 66.2 ล้านคน ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ คิดเป็นร้อยละ 172 และใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเกือบ 100% ของการใช้โทรศัพท์ทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ลงไปถึงชุมชนและคนในเกือบทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่ชุมชนหรือพื้นที่ทั่วไปยังขาดจริงๆ คือ Software หรือ ความรู้ความสามารถของคนที่จะทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้เข้าไปใช้ในการประกอบสัมมาชีพ หรือการเสริมสร้างรายได้
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคแต่ละช่วงสมัยแล้ว ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง หรือหากเราเข้าใจคำว่า “Wave of Digital Disruption” ซึ่งคลื่นหรือยุคของการเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะยุคตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานมากขึ้น เช่น ระบบการเงิน ระบบการศึกษา ระบบการรักษาสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งต่อจากนี้ไปคนทั่วโลกจะพัฒนาประเทศโดยใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ แทนการทำงาน และใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะมีการปรับตัวโดย ร้อยละ 35 ของกระบวนการผลิตจะใช้ระบบดิจิทัลทั้งสิ้น การสร้างรายได้ ร้อยละ 19 ผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ดังนั้นยุคปัจจุบันการทำงานของภาครัฐโดยเฉพาะการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จะมุ่งเน้นการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และทำงานร่วมกับ พอช. ในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการทำงานของชุมชน
“Trend การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3- 5 ปีนี้ เราควรเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การทำงานของ AI ในการคำนวณผล เช่น การมีรถยนต์ที่ไร้คนขับ อุปกรณ์ต่างๆ จะสามารถทำงานด้วยตัวของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ระบบ Machine Learning เป็นต้น ซึ่งเราต้องเตรียมรับมือกับความฉลาดของเทคโนโลยี ที่มีความฉลาดขึ้นทุกๆ 2 ปี ซึ่งต่อไปคำว่า “ข้อมูล” จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก เพราะเราต้องนำข้อมูลที่ได้มาใช้ป้อนระบบเทคโนโลยีต่างๆ และเทคโนโลยีนั้นก็จะทำงานได้”
จากนโยบายและยุทธศาสตร์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) นั้น ทำให้เห็นว่าหากจะนำเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนทั่วประเทศ DEPA จะมาร่วมเป็นภาคี (Partner) ร่วมกับ พอช. เนื่องจาก DEPA เชื่อมั่นว่า พอช. เป็นองค์กรที่สามารถทำงานขับเคลื่อนแนวคิดการทำงานของชุมชนได้ เพราะเป็นองค์กรซึ่งมีพื้นที่การทำงานทั่วประเทศ และมีฐานชุมชนอยู่แล้ว โดยรูปแบบการทำงานของ DEPA จะเป็นแบบ Design thinking หรือเรียกว่า เป็นการทำงานบนความต้องการของชุมชน ในการทำงานกับชุมชนต้องเป็นระบบดิจิทัลที่ไม่ใช่แบบสำเร็จรูป และต้องมีการใช้ระบบอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างการทำงานร่วมกับชุมชนที่นำดิจิทัลเข้าไปใช้ในการทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชุมชน โดยมีเป้าหมายการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในระดับชุมชน ดังนี้ 1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเกษตรอัจฉริยะในระดับชุมชน 2) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพสุขภาวะที่ดีของชุมชน 3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน 4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อท่องเที่ยวชุมชน 5) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการตลาดดิจิทัล และกระบวนการผลิตในระดับชุมชน 6) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น โครงการโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรยุคดิจิทัลในการพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านบ่อลูกรัง ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว , โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลของวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะต่อไป DEPA จะได้ประสานงานกับ พอช. เพื่อคัดเลือกพื้นที่ รวมถึงวางแนวทางในการทำงานร่วมกัน และในอนาคตอันใกล้นี้ DEPA จะจัดทำบันทึกความร่วมมือกับ พอช. เพื่อพัฒนา Smart Community ร่วมกันต่อไป
รายงานโดย เปรมปรีด์ นาราช