วัดหลักสี่ เขตหลักสี่ / หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดเวทีชี้แจงและสร้างความเข้าใจ การก่อสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม พร้อมแก้ปัญหาชุมชนก่อสร้างบ้านรุกล้ำริมคลอง พัฒนาคลองเปรมประชากร โดย กทม.เตรียมก่อสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เตรียมแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชน 39 ชุมชนริมคลอง รวม 6,386 ครัวเรือน และกรมธนารักษ์พร้อมให้เช่าที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย
ล่าสุด ( 23เมษายน62) เวลา 17.00-20.00 น. วัดหลักสี่ เขตหลักสี่ มีการจัดประชุมชาวชุมชนในเขตหลักสี่ จำนวน 14 ชุมชน ที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากร เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคลองเปรมฯ โดยมีประชาชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คน มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมชี้แจง ได้แก่ สำนักการระบายน้ำ กทม. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานเขตหลักสี่ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กรมธนารักษ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์
การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมตามแผนงานของ กทม.จะมีความยาวประมาณ 17 กิโลเมตร เริ่มจากพื้นที่ริมคลองเปรมฯ เขตจตุจักร-หลักสี่-ดอนเมือง-ปทุมธานี ขนาดความกว้างเท่ากับคลองลาดพร้าว คือ 38 เมตร โดยจะเริ่มสร้างเขื่อนฯ นำร่องภายใน 1-2 เดือนนี้ เริ่มจากคลองบ้านใหม่ถึงสะพานข้ามคลองบริเวณหมู่บ้านแกรนดค์าแนล ระยะทางตามแนวเขื่อนทั้งสองฝั่งรวม 460 เมตร ส่วนเขื่อนฯ ที่จะสร้างตลอดแนวคลองเปรมฯ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
คลองเปรมประชากรเป็นอีกลำคลองหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในคลองลาดพร้าว โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ ขณะที่ประชาชนที่สร้างบ้านเรือนลุกล้ำคลองจะต้องรื้อย้ายบ้านออกจากคลองและแนวเขื่อน โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เตรียมแผนงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้าน 33 ชุมชนในเขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง และอีก 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน
นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาคลองเปรมประชากรเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เนื่องจากคลองเปรมฯ เป็นลำคลองสายหลักที่ช่วยระบายน้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างบ้านเรือนกีดขวางทางเดินน้ำจำนวนมาก ทำให้น้ำในคลองไหลไม่สะดวก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย รัฐบาลจึงมีแผนงานแก้ไขปัญหา โดยการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ขุดลอกคลองให้น้ำไหลได้สะดวก และพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองให้มีความมั่นคง บ้านเรือนมีความสวยงาม ลำคลองมีความสะอาด ลูกหลานก็จะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เหมือนกับโครงการพัฒนาในคลองลาดพร้าวที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
การจัดประชุมในวันนี้เป็นกระบวนการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง 2.ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง 3.ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และ 4.ด้านกฏหมายและการขับเคลื่อนงาน
การชี้แจงสร้างความเข้าใจในครั้งนี้เน้นย้ำถึงการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงที่มี 9 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1.การสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการ 2.การทบทวนข้อมูลครัวเรือนการรับรองสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ 3.กระบวนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ 4.การรังวัดที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และการออกแบบวางผัง5.การขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช. 6.การขออนุญาตก่อสร้าง รื้อย้ายที่พักอาศัย7.การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการ 8.การก่อสร้างบ้านตามแบบและผังใหม่ พร้อมทั้งการดำเนินการด้านสาธารณูปโภค 9.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนหลังจากได้บ้านหลังใหม่
สำหรับแผนงานในการรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลองเปรมฯ นั้น นายธนัชกล่าวว่า มีชุมชนริมคลองเปรมฯ จำนวน 33 ชุมชน อยู่ในเขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง และอีก 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ทั้งหมด แต่จะต้องรื้อบ้านออกจากคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อปรับผังชุมชนแล้วก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ทุกครอบครัวอยู่ในชุมชนเดิมได้และได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากัน โดยเบื้องต้นขนาดบ้านและแบบบ้านจะมีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น ขนาด 4×7 และ 5×6 ตารางเมตร ตามขนาดพื้นที่ของชุมชน
ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเหมือนกับที่ดำเนินการในชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ โดยแบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท 2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท โดยผ่อนชำระ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% รวมทั้งเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ในอัตราผ่อนปรน 1.50-3 บาท/เดือน/ตารางวา ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี)
ชุมชนหลัง วค.จันทรเกษม เขตจตุจักร เป็น 1 ใน 50 ชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่สร้างบ้านและเขื่อนฯ เสร็จแล้ว
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างบ้านในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ รวมทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 7,069 ครัวเรือน ขณะนี้ก่อสร้างแล้ว 32 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จแล้ว จำนวน 2,068 ครัวเรือน ดำเนินการใน 8 เขตริมคลองฯ คือ วังทองหลาง ห้วยขวาง ลาดพร้าว จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม
ส่วนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ (คลองบางบัว-คลองถนน-คลองสอง) ระยะทางทั้งสองฝั่ง 45 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์คลองบางซื่อ อุโมงค์พระราม 9 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลต่อไป โดยบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,465 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 – มิถุนายน 2562 ขณะนี้บริษัทก่อสร้างเขื่อนฯ ได้ประมาณ 40 % จากปริมาณงานทั้งหมด