จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ในทางยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็น “สามเหลี่ยมเพชร” เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีชายฝั่งทะเลที่สวยงาม และเหนือฝั่งขึ้นมาเป็นพื้นที่เชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ราคาที่ดินใน 3 จังหวัดนี้สูงเป็นอย่างมาก
ชื่อคลองเขม้า เรียกตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตอยู่ริมคลองเรียกว่า ต้นเขม้า ชาวบ้านมักนำต้นไม้ชนิดนี้มาทำรั้วบ้านเพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและทนทาน จึงเรียกชื่อบ้านว่า บ้านคลองเขม้า ตั้งอยู่ในตำบลคลองเขม้า อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ต่อมามีชาวบ้านนับถือศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำเตาถ่าน และบุกเบิกที่ดินทำนาทำสวน จนขยายการตั้งครัวเรือน ปัจจุบันประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 17.9 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,187.5 ไร่ มีประชากรทั้งสิ้น 5,580 คน จำนวนครัวเรือน 1,431 หลัง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประเพณีสรงน้ำผู้สูงอายุ , พิธีสุนัต งานเดือนรอมฎอน ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบค่อนข้างสูง ส่วนตอนล่างเป็นที่ราบต่ำ เป็นพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน
ประชาชนในตำบลคลองเขม้า ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ การประกอบอาชีพยังต้องพึ่งพาปัจจัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอาชีพโดยส่วนใหญ่เป็นอาชีพเกษตรกรรม ที่ยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพเป็นสำคัญ สำหรับอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การรับจ้างและการค้าขาย สินค้าพื้นเมืองสำคัญ ข้าวยำ , ปลาย่าง (ปลาเสียบ) , ขนมพอง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์
พื้นที่ป่าที่สำคัญ ได้แก่ ป่าชายเลนเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และ เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน มีพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทิศตะวันตกของตำบล ภูเขานุ้ย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านคลองเขม้า เป็นภูเขาหินปูนปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้ประจำท้องถิ่น มีสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการหรือจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบล
รวมตัวกลุ่มชุมชน สร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
ในพื้นที่คลองเขม้า มีกลุ่มองค์กรที่เข้มแข็ง ที่เกิดการรวมตัวกันทั้งการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต เช่น เครือข่ายคนพิการตำบลคลองเขม้า กลุ่มครอบครัวคุรุสัมพันธ์ เครือข่ายอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนตำบลคลองเขม้ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองเขม้า การพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและป่าชายเลน หรือการพัฒนาด้านอาชีพ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคบ้านนาวง กลุ่มธนาคารพัฒนาหมู่บ้านคลองเขม้า กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านควนต่อ กลุ่มเกษตรกรผสมผสานบ้านควนต่อ โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ มีการรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้า ในวันที่ 26 เดือนตุลาคม พ.ศ.255 มีนายรุ่งโรจน์ ตั้งมั่น เป็นประธานสภาองค์กรชุมชน เพื่อใช้เป็นเวทีกลางในการปรึกษาหารือและเวทีในการวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันตลอดจนร่วมมือกับภาคีพัฒนาต่างๆ อย่างเป็นระบบ
สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้า ได้มีการทำงานร่วมกันกับกลุ่มองค์กร องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขม้า ในการ่วมสนับสนุนการทำงานพัฒนาในระดับพื้นที่ โดยในระยะที่ผ่านมามีการจัดประชุมระดมแผนพัฒนาตำบลภาคประชาชนตำบลคลองเขม้าร่วมกัน มีแผนพัฒนาด้านต่างๆ เช่น แผนด้ารเศรษฐกิจได้ร่วมประชุมกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในตำบล การนำแผนงานจากแผนที่เดินดินมาขับเคลื่อนการพัฒนา และการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ GPS ร่วมกับ อบต.คลองเขม้า การจัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวชุมชน การจัดทำแผนพัฒนาด้านสังคมและคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมาย “สภาองค์กรชุมชนเข้มแข็งบูรณการร่วมภาคีประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ตำบลแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” จุดแข็ง 1) มีมัสยิด และผู้นำทางศาสนาที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของ ประชาชนในพื้นที่ 2) มีตลาดสดที่เป็นสถานที่จำาหน่ายสินค้าเป็นของชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ 3) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทรัพยากรดินมีความ อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมแก่การเพาะปลูก 4) มีอัตลักษณ์เฉพาะด้าน ประเพณี วัฒนธรรมที่แสดงออกถึง วิถีชีวิต ความเป็นอิสลามอย่างชัดเจน เช่น การแต่งกาย การ ปฏิบัติศาสนกิจประจำวัน การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน 5) มีภูเขานุ้ยสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือ สถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆได้ในอนาคต 6) อบต.เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มาก จุดอ่อน 1) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น 2) มีแหล่งน้ำแต่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่เนื่องจากขาดงบประมาณ รวมทั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 3) บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประปา โทรคมนาคมยัง ไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกหมู่บ้าน
การท่องเที่ยวทางบกและทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลก บนฐานความ เข้มแข็งของภาคเกษตรและชุมชนอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ในการสร้างโอกาสของชุมชน ต่อการพัฒนาจากระดับนโยบายสู่พื้นที่ นายรุ่งโรจน์ ตั้งมั่น ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้า กล่าวถึงเรื่องว่า “การทำงานของสภาองค์กรชุมชน เริ่มมีแผนพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยชุมชน มาตั้งแต่ปี 2558 แต่การทำงานจริงเราเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน คือเรื่องการแปรรูปอาหารและตลาดชุมชน เมื่อตลาดชุมชนได้รับการยอมรับ มีการสนับสนุนจาก อบต.และผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ในสมัยนั้นลงพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้ตลาดเป็นแหล่งสร้างรายได้ของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมา คลองเขม้าก็ประสานความร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนในอำเภอเหนือคลอง และคลองท่อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตอนนี้ อบต.ก็เข้ามาให้การสนับสนุน เพราะเชื่อมมั่นในการทำงานของเรา”
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขม้า ได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลคลองเขม้า เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ งบประมาณ 30,000 บาท และโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพรีของดี อาหารอร่อยตำบลคลองเขม้า เพื่อจัดงานแสดงวัฒธนธรรมประเพณีของดี อาหารอร่อยตำบลคลองเขม้า งบประมาณ 100,000 บาท โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้าร่วมกับกองการศึกษา จัดกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดแผนการท่องเที่ยว และจัดทำป้ายประชาสัมพัธ์สถานที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน เกิดการพัฒนาเยาวชนนักสื่อสารชุมชนจากแต่ละหมู่บ้านๆ ละ 1-2 คน และมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตำบลข้างเคียงในการจัดโปรแกรม One trip day
นอกจากนี้การสนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่เกิดควบคู่กันไปคือการพัฒนาตลาดชุมชน เนื่องจากพื้นที่ตำบลคลองเขม้ามีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล และเป็นตำบลเส้นทางที่จะไปท่าเรือแหลมกรวดที่จะไปสู่เกาะจัม เกาะศรีบอยา และไปสู่เกาะต่างๆ ในทะเลกระบี่ ที่มีการเดินทางไปมาของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน สภาองค์กรชุมชนจึงได้มีการประสานความร่วมมือกับ อบต.ในการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาตลาดชุมชนให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยเริ่มที่ตลาดต้นทวย ซึ่งเป็นตลาดค้าของสดและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในคลองเขม้า ทำให้ตลาดนัดบ้านต้นทวยเป็นฐานอาชีพค้าขายที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมาก จนนำไปสู่การจัดทำโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพรีของดี อาหารอร่อยตำบลคลองเขม้า อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ทำให้เกิดการบริหารจัดการตลาดที่ดีขึ้น มีการยกระดับการทำงานให้มีความชัดเจนร่วมกัน โดยมีการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน มีการแปรรูปอาหารต่างๆ เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของดีของคลองเขม้า
นางสาวฝันฤดี พลีตา แกนนำกลุ่มอาชีพเล่าให้ฟังว่า “การจัดตลาดชุมชนบ้านต้นทวย เป็นความร่วมมือของสภา กองทุนสวัสดิการชุมชน อบต. และพ่อค้าแม่ค้าในตำบลคลองเขม้า ที่มาร่วมคิด ร่วมวางแผนและพัฒนาการค้า ผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น ตอนนี้ มีการแปรรูปกะปิ การทำปลาหวาน การทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่ว ขนมกวน ให้มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ได้มาตรฐาน ทำให้ตลาดกว้างขึ้น ทั้งการซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก จนเกิดเป็นงานของดีคลองเขม้า ที่ได้รับความนิยมและคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นงานประจำปีของตำบล”
อาหารดี ท่องเที่ยววิถีชุมชนเข้มแข็ง
การริเริ่มในการพัฒนาจากฐานทรัพยากร ฐานความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน บนความร่วมมืออย่างมีนัยยะสำคัญของกลุ่มองค์กร สภาองค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลและภาคีทุกภาคส่วน นำไปสู่ความเข้มแข็งของด้านเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ผ่านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ทั้งการจัดการท่องเที่ยว การสร้างและพัฒนาอาชีพ และการสร้างระบบตลาดที่มีมาตรฐาน ที่สามารถยกระดับไปสู่ศูนย์เรียนรู้ด้านต่างๆ ของตำบล ปัจจุบันพื้นที่คลองเขม้าเป็นฐานเรียนรู้การแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์และเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเหนือคลอง สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และเกิดการรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า8ล้านบาทต่อปี
นายรุ่งโรจน์ ตั้งมั่น ประธานสภาฯ สรุปทิ้งท้ายว่า “การก้าวเดินสู่เป้าหมาย ชุมชนจัดการตนเอง เป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่ายากจะไปถึง แต่เมื่อริเริ่มทำจากที่ที่เป็นเจ้าของเรื่อง เจ้าของปัญหาที่เป็นเรื่องรวมของทุกคน ทีมงานต่างมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เชื่อมั่นว่าชุมชนทำได้ พยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้ผู้นำรุ่นใหม่ โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแนวราบ ในระยะต่อไป มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงมากกว่าการอบรมให้ความรู้ และมีการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่อื่น เช่น การจัดระบบสินค้าใหม่ให้เป็นไปตามหลักตลาด นับเป็นความท้าทายของชาวตำบลคลองเขม้าที่ยังต้องร่วมกันก้าวเดินไปสู่อนาคตที่มั่นคงบนของดีวิถีชุมชนเข้มแข็งต่อไป”