ธาตุพนม : เมืองประวัติศาสตร์และความเชื่อ
จังหวัดนครพนม เป็นกลุ่มจังหวัดทางลุ่มแม่น้ำโขง อยู่แถบอีสานตอบบน ประกอบ ด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี จังหวัดนครพนมเคยเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน จึงมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจอยู่มาก และยิ่งปัจจุบันนี้ นครพนมเป็นจุดผ่านแดนไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง อีกทั้งยังมีความเจริญในหลาย ๆ ด้าน มีการคมนาคมสะดวกและมีสนามบิน ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี จึงถือว่านครพนมเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว (Nakhon Phanom Travel) อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในอดีตนครพนม เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ที่รุ่งเรืองมาก พรั่งพร้อมทั้งอารยธรรมมากมาย ที่ถ่ายทอดมาเป็นพระธาตุประจำวันต่าง ๆ และพระธาตุที่มีความสำคัญที่สุด คือ องค์พระธาตุพนม ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้าไว้ ดังนั้น สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากนครพนม คือ กลิ่นอายวัฒนธรรมนับร้อยปี และวิวสวย ๆ ของแม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ของคาบสมุทรอินโดจีนที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญมาจนทุกวันนี้(http://www.paiduaykan.comสืบค้น 11 พฤษภาคม 2560) และในปี พ.ศ. 2559 นายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้ประกาศให้จังหวัดนครพนมเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยมีนโยบาย โดยมีนโยบาย “สามที่สุด สู่สุขที่สุด” อันประกอบด้วย 1) ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด พระธาตุพนม และพระธาตุประจำวันเกิด 2) สวยที่สุด สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และ 3) งามที่สุด ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง ทั้งยังมีแรงศรัทธาต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ที่ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดนครพนมเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น
พระธาตุพนมเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เขตเทศบาลตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ซึ่งเดิมเรียกว่า ภูกำพร้า พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมและประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี อนึ่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 24 มกราคม 2560 ให้เสนอชื่อ “พระธาตุพนม” ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ต่อยูเนสโก อีกด้วย (http://www.thatphanom.go.th. สืบค้น 11 พฤษภาคม 2560)
เทศบาลตำบลธาตุพนมตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอยู่ริมฝั่งชายโขง ในเขตท้องที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ 4.60 ตารางกิโลเมตร ห่างจากจังหวัดนครพนม ประมาณ 52 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสกลนคร ประมาณ 75 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 707 กิโลเมตร มีลักษณะเด่นหลายอย่าง คือ มีแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมทางประวัติศาสตร์ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่รุ่งเรืองมาแต่อดีตที่ทรงคุณค่า วัฒนธรรมพื้นบ้าน วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความมีน้ำใจของชุมชน เป็นเสน่ห์ที่มัดใจนักท่องเที่ยว มีความหลากหลายของอาหารพื้นบ้าน ปัจจุบันมีการพัฒนาทั้งด้านสาธารณูปโภคและการคมนาคมอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมและประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากองค์พระธาตุพนมแล้ว ในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ซุ้มประตูเรืองอร่ามรัษฎากร, ตลาดเช้า ณ ธาตุพนม, สวนศรีโคตรบูรณ์, จุดชมวิวแม่น้ำโขง, ตลาดนัดจุดผ่อนปรนทางการค้า ไทย-ลาว ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงหลังสำนักงานเทศบาลตำบลธาตุพนม ฯลฯ (http://www.thatphanom.go.th. สืบค้น 11 พฤษภาคม 2560)
วิถีชุมชนคนริมโขง
ชุมชนริมน้ำมีมากมายในประเทศไทย ด้วยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาตลอดชีวิต ชุมชนที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำโขงก็เป็นผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่อาศัยทำอยู่ ทำกิน เดินทาง ผูกสัมพันธไมตรีกับพี่น้องฝั่งตรงข้ามมายาวนาน จังหวัดนครพนม เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีชุมชนที่อยู่ติดกับลำน้ำที่มีพื้นที่ยาวกว่า 174 กิโลเมตร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ก็เป็นชุมชนหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานติดกับลำน้ำโขง มีการทำมาหากิน วิธีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำโขงมายาวนาน
วิถีเกษตรริมโขงคนธาตุพนม
วิธีเกษตรริมโขงก็เป็นอีกวิถีหนึ่งที่พี่น้องในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 และหมู่ 11 ได้รวมกลุ่มกันและใช้พื้นที่ริมน้ำโขงในการทำเกษตร มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จนกลายเป็นอาชีพหนึ่งของคนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเรื่อยมา ปัจจุบันคนในชุมชนที่อยู่อาศัยลำน้ำโขงมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงด้วยการปลูกพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชในการดูแลรักษา ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารพิษตกค้าง อายุยืน คนโบราณสมัยก่อนร่างการแข็งแรง ไม่ได้เป็นหนี้ใคร (ผู้ใหญ่ดิเรก พนมศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 กล่าว)
กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ “สืบฮอยตา วาฮอยปู่” มีสมาชิก จำนวน 25 คน จาก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 จำนวน 15 คน หมู่ 11 จำนน 10 คน ที่ทำสืบทอดกันมาด้วยพืชผักสวนครัวปัจจุบันไม่ปลอดสารพิษ จึงมีการปลูกไว้กินภายในครัวเรือน และขาย ด้วยพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ราคาสูง ทำให้เป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดีในปัจจุบัน การรวมกลุ่มกลุ่มพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ Organic หมู่ที่ 2 และหมู่ 11 ได้มีการจดแจ้งเป็นสมาชิกของสภาองค์กรชุมชนตำบลธาตุพนม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2553
ด้วยการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมตลิ่งริมน้ำโขง มีการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้พื้นที่บางส่วนที่สมาชิกใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวลดลง แต่สมาชิกทั้ง 4 หมู่บ้าน ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามวิถีเกษตรริมโขง และการปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนา โดยชุมชนในหมู่ที่ 2 มีแผนที่จะปลูกดาวเรืองเพื่อให้สอดคล้องกับแผนของสภาองค์กรชุมชนตำบลและแผนพัฒนาของเทศบาลตำบลธาตุพนม ในเรื่องของการท่องเที่ยวริมโขง และในหมู่ที่ 11 มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 10 คน มีพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกเกษตรริมโขง ประมาณ 10 ไร่ โดยมีรอบการปลูกระหว่างปี
ด้วยการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมตลิ่งริมน้ำโขง มีการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้พื้นที่บางส่วนที่สมาชิกใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวลดลง แต่สมาชิกทั้ง 2 หมู่บ้าน ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามวิถีเกษตรริมโขง และการปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนา โดยชุมชนในหมู่ที่ 2 มีแผนที่จะปลูกดาวเรืองเพื่อให้สอดคล้องกับแผนของสภาองค์กรชุมชนตำบลและแผนพัฒนาของเทศบาลตำบลธาตุพนม ในเรื่องของการท่องเที่ยวริมโขง และในหมู่ที่ 11 มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 10 คน มีพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกเกษตรริมโขง ประมาณ 10 ไร่ จะปลูกคะน้ำ สลัด กะหล่ำ หอม ผักบุ้ง ผักกาดขาว พริก มะเขือเทศ ข้าวโพด โดยจะปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี
การใช้ประโยชน์ที่ดินริมโขง ด้วยวิถีเกษตรปลอดสารพิษ
นอกจากการปลูกพืชผักสวนครัวแล้ว ยังริเริ่มที่จะขยายพื้นที่ในการปลูกดอกดาวเรือง เพื่อทำให้เป็นจุดแลนด์มาร์คในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำโขงธาตุพนม อยู่ระหว่างการประสานแผนการดำเนินงานกับทางเทศบาลตำบลธาตุพนม ชุมชนคนธาตุพนมได้รวมตัวกันดำเนินงานภายใต้ “กลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนมตุ้มโฮมพัฒนาเมือง”
ชุมชนคิด ท้องถิ่นหนุน
จากที่เป็นแหล่งที่ก่อเกิดศรัทธาคือองค์พระธาตุพนม กอปรกับมีกลุ่มคนได้ร่วมคิด รวมตัวกันเพื่อกำหนดภาพอนาคตของเมืองธาตุพนมทั้งในเรื่องวิถีดั้งเดิม การอยู่อาศัย การทำกิน และการเผยแพร่แรงศรัทธาผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท้องถิ่นโดยเทศบาลตำบลธาตุพนม จึงได้สนับสนุนแผนงานความคิดดังกล่าวด้วยการบรรจุเป็นแผนการพัฒนา 3 ปี ของเทศบาลตำบลธาตุพนม ดังปรากฏในแผนพัฒนาของเทศบาลตำบล ธาตุพนม ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรและสิ่งแวดล้อมเมืองให้น่าอยู่ แนวทางการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดิน โดยทางเทศบาลตำบลธาตุพนม ให้ตั้งกรอบงบประมาณไว้ในโครงการจัดทำแผนชุมชนยุทธศาสตร์เพื่อพึ่งพาตนเอง ปี 2561 และ 2562 ปีละ 75,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบปัญหาในชุมชนที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้ง 14 ชุมชน
ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการจัดระเบียบชุมชน แนวทางการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ในโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เมืองธาตุพนม ปี 2561 และ 2562 ปีละ 30,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงลานเมืองหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารให้สามารถอำนวยความสะดวก รองรับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวในการจัดศาสนพิธีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างบรรยากาศที่งดงามให้แก่องค์พระธาตุ และเพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายกิจกรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดนครพนม
นอกจากนี้ยังมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง แนวทางการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน โครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนและเครือข่าย ปี 2561 และ 2562 ปีละ 100,000 บาท โครงการจัดการอบรมและศึกษาดูงานของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ปี 2561 และ 2562 ปีละ 30,000 บาท โครงการขยายพันธุพืชเศรษฐกิจชุมชน ปี 2561 และ 2562 ปีละ 30,000 บาท โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมการอบรมและศึกษาดูงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม ในการศึกษาดูงานกับเทศบาลเมืองเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นที่มาของการริเริ่มดำเนินการทำถนนสายวัฒนธรรมเมืองพนมขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันจากหลายภาคส่วน โดยใช้การเชื่อมโยงแผนงานที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน มีหลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาและพร้อมสนับสนุน แผนการทำเกษตรริมโขงก็เป็นอีกแผนงานหนึ่งที่เทศบาลตำบลธาตุพนมได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนา 3 ปี (พ.ศ.2560-2562)
ภาพอนาคตของคนธาตุพนมเริ่มปรากฏชัดเจนในการพัฒนาเมือง จากแผนงานที่มีคนท้องถิ่น วิถีวัฒนธรรม ศรัทธา ความเชื่อของผู้คน มาร่วมลงมือ ลงแรง วางอนาคตเมืองไว้ให้ลูกหลานตามฮอยสืบทอด ต่อ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาเรื่องอาหารการกินของพี่น้องทั้ง 7 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ สถาปัตยกรรมที่ปรากฏในการก่อสร้างอาคาร ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ ดนตรี การแสดง เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่น
เรียบเรียงโดย กลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนม ตุ้มโฮมพัฒนาเมือง