ตำบลโคกกลางต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกรณีศึกษาการแก้ปัญหาน้ำท่วม เก็บน้ำไว้ใต้ดินในฤดูฝน สร้างความชุ่มชื้นต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง
นายหล้า พรไธสง ปรานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกกลาง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของตำบลโคกกลางเป็นพื้นที่ลาบลุ่ม มีลำสะแทดไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ พื้นที่บางแห่งมีสภาพเป็นพื้นที่ชุมน้ำมีน้ำขังและน้ำท่วมซ้ำซากอยู่ตลอดปีจึงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไม่สามารถเพาะปลูกได้ อีกทั้งการคมนาคมไปมาก็ไม่สะดวก
ต่อมาจึงได้ไปศึกษาดูงานที่เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี กลับมาจึงได้เปิดเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นทั้ง 9 หมู่บ้านมาสร้างความเข้าใจและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้เกิดความยั่งยืน
ธนาคารน้ำใต้ดิน จึงเป็นคำตอบที่จะสามารถแก้ปัญหา จึงได้ร่วมกันขุดหลุมรับน้ำเก็บไว้ใต้ดินซึ่งน้ำจะกระจายออกในแนวระนาบสร้างความชุ่มชื้นใต้ผิวดิน ซึ่งขณะนี้กำลังสร้างความร่วมมือให้ประชาชน เห็นความสำคัญของธนาคารน้ำ และร่วมกันสร้างธนาคารน้ำให้เต็มพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง
สำหรับขั้นตอนการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ให้สำรวจและเลือกพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดรวมน้ำ ขุดบ่อกว้าง ยาว ลึก ประมาณด้านละ 1.5 เมตร นำวัสดุหยาบเช่น เช่นเศษอิฐ หิน ท่อนไม้ ที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี วางเรียงจากก้นหลุมสูงประมาณ 1.2 เมตร โดยวางท่อระบายอากาศจากด้านล่างขึ้นมาสู่ด้านบน ขอบบ่อที่เหลือนำตาข่ายปูทับด้านบนเพื่อกรองสิ่งปนเปื้อน นำหินหรือทรายหยาบใส่ให้เสมอปากบ่อ เมื่อถึงฤดูฝนหรือน้ำหลาก น้ำจะไหลลงสู่หลุมที่ขุดไว้ แล้วซึมลงในดิน หากทำจำนวนมากพอ จะทำให้สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ส่วนในฤดูแล้งน้ำที่ถูกกักเก็บไว้จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับระบบนิเวศน์โดยรอบ
โดยทั้งตำบลมีการทำธนาคารใต้ดินมากกว่า 100 บ่อ ซึ่งประโยชน์ของการทำธนาคารน้ำใต้ดินกว่า 1 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพราะช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกรองน้ำสกปรกเพราะระบบน้ำใต้ดินจะช่วยกรองน้ำให้สะอาดขึ้น อีกทั้งยังทำให้คนในชุมชนไม่เกิดโรคทางเท้า และลดการเกิดยุงลาย
นายหล้า พรไธสง ปรานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกกลาง เล่าต่อไปว่า เรามีความสุขมากขึ้นที่สามารถแก้ปัญหาจากน้ำท่วมได้และต่อจากนี้จะลองหาวิธีนำน้ำมาใช้ประโยชน์ให้มากกว่าที่จะให้น้ำเสียประโยชน์ไป พอเราแก้ปัญหาได้ โรงการที่เราทำร่วมกันต่อคือ การทำให้หมู่บ้านสะอาดตาจากการปรับภูนิทัศน์
หลักการคือเอาน้ำไปเก็บใต้ดินแล้วนำกลับขึ้นมาใช้ได้แค่นั้นเอง เพราะเดิมคนเข้าใจผิดว่าเดี๋ยวฝนตกน้ำก็ซึมลงไปบาดาลเอง แต่วิธีธรรมชาติมันใช้เวลานานมาก พอคนใช้มากน้ำบาดาลก็น้อยลงเกิดปัญหาดินทรุด น้ำที่สูบขึ้นมาเป็นน้ำกร่อย นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เลยมีการคิดที่จะเอาน้ำลงไปไว้ใต้ดิน
การทดลองใช้ที่ตำบลเราแล้วได้ผลดี ฝนตกลงมาหรือมีน้ำหลากก็ดึงไปไว้ข้างล่างแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อีก เพราะใต้ดินเก็บน้ำไม่จำกัด ดีกว่าปล่อยน้ำฝนให้ลงคูคลอง ไม่ต้องสร้างเขื่อนที่ใช้งบประมาณสูง ไม่เสียพื้นที่ทำมาหากิน วิธีการมีหลายวิธี บ่อมีหลายแบบ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และเงินทุน ประธานสภาองค์กรชุมชนกล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงโดย ขบวนชุมชนตำบลโคกกลาง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา