บทความโดย พอช.สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก
ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว มีทั้งหมด 16 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 9,162 คน สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีลำคลองไหลผ่าน สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวน ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน ไร้กรรมสิทธิ์ ส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ดินจากเอกชนเพื่อมาประกอบอาชีพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง นำไปสู่การกู้นอกระบบ ประชาชนมีหนี้สินจำนวนมาก
ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองหินปูน เล่าว่า เมื่อก่อนตนเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านบ่อลูกรัง ประมาณปี 2547 มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ซึ่งขณะนั้นตนสนใจเรื่องกองทุนหมู่บ้าน จึงตั้งใจไปศึกษาดูงานเรื่องนี้เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตน จากการไปศึกษาดูงานครั้งนั้น ทำให้รู้ว่าการที่จะจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้นมานั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีคือข้อมูลในชุมชน
เมื่อกลับมาตนและคณะกรรมการจึงได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในหมู่บ้าน โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1. ข้อมูลด้านครัวเรือน 2.ข้อมูลด้านภูมิปัญญาในท้องถิ่น 3.ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน และ 4.ข้อมูลด้านวิถีชีวิต
นอกจากนี้ยังนำความรู้จากการศึกษาดูงานที่ จ.ลำปางมาขยายผลเพื่อจัดตั้งสถาบันการเงินของชุมชนขึ้นมา โดยรวบรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนปุ๋ย กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีอยู่ในตำบลเข้ามารวมกัน มีเงินกองทุนรวมประมาณ 4 ล้านบาทเศษ
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2549 จึงเปิดดำเนินการ ใช้ชื่อว่า ‘สถาบันการเงินชุมชนบ้านบ่อลูกรัง’ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทุนให้แก่ชาวบ้านแล้ว สถาบันการเงินฯ ยังมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่ดินให้แก่ชาวบ้านด้วย โดยมีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในหมู่ที่ 6 บ้านบ่อลูกรัง
อย่างไรก็ตาม จากการจัดเก็บข้อมูลในครั้งนั้นทำให้พบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน มีชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินรวม 48 ครัวเรือน จึงได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมีความเห็นร่วมกันว่าจะหาที่ดินมาให้ชาวบ้านเช่าเพื่อทำกิน ซึ่งในขณะนั้นสามารถรวบรวมชาวบ้านที่สนใจได้ 20 คน โดยเช่าที่ดินเอกชน ไร่ละ 1,000 บาท 20 ไร่ เป็นเงิน 20,000 บาทต่อเดือน จัดสรรที่ดินให้คนละ 1 ไร่ รวมกลุ่มกันปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี เฉลี่ยแล้วมีรายได้วันละ 1,700 บาทต่อคน
ต่อมาในปีที่ 3 เจ้าของที่ดินเห็นว่าผู้เช่ามีรายได้ดีจากการปลูกหน่อไม้ผรั่งจึงได้ขอขึ้นค่าเช่าเป็นไร่ละ 6,000 บาท ชาวบ้านเริ่มสู้ราคาไม่ไหว จึงได้มีการประชุมหารือกันอีกครั้งและมีความเห็นว่า หากยังเช่าที่ดินเดิมอยู่ ถ้านำเงินค่าเช่ามารวมกันเพียง 1 ปีก็จะเป็นเงินก้อนใหญ่พอที่จะนำมาซื้อที่ดินเป็นของพวกเราเองได้
“ผมจึงเสนอให้ทุกคนร่วมกันออมเงินเดือนละ 100 บาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินมาเป็นของเราเอง เมื่อทุกคนเห็นด้วยจึงได้จัดตั้ง ‘กองทุนออมที่ดิน’ขึ้นมาในปี 2550 ซึ่งในช่วงระหว่างออมเงินนั้นก็ได้ไปเช่าที่ดินแปลงใหม่เนื้อที่ 50 ไร่ เพื่อเป็นที่ทำกินชั่วคราว และหวังว่าจะนำเงินที่ได้จากการออมมาซื้อที่ดินแปลงนี้” ละอองดาวเล่าความเป็นมาของการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน” และบอกว่า แต่เมื่อออมเงินได้หนึ่งปี เงินที่ออมก็ยังไม่เพียงพอที่จะซื้อที่ดิน และเมื่อรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งพอที่จะนำไปซื้อที่ดินแต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะหากไม่โดนซื้อตัดหน้า ก็โดนเจ้าของที่ดินขึ้นราคา เป็นแบบนี้เรื่อยมา ทำให้ไม่สามารถซื้อที่ดินได้สักที
ในปี 2551 ปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ คณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วได้เข้ามาให้คำแนะนำและชักชวนให้ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขึ้นมา ทำให้ละอองดาวมองเห็นถึงโอกาสและช่องทางในการซื้อที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน เพราะการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฯ ในระดับตำบล จะทำให้สามารถขยายฐานสมาชิกได้มากขึ้นทั่วทั้งตำบล เงินออมก็จะมากขึ้นไปด้วย จึงได้ตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลคลองหินปูนขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2551
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านมีสวัสดิการ มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และสร้างทุนชุมชน ขึ้นมา โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเชื่อมโยงผู้เดือดร้อนให้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตนเอง จัดการตนเอง เพื่อให้เกิดการจัดระบบการทำงานร่วมกันของคนทั้งตำบล มีสมาชิกแรกก่อตั้งจำนวน 385 คน ในช่วงแรกคณะกรรมการกองทุนฯ พยายามขยายฐานสมาชิก แต่ไม่มีใครสนใจเข้าร่วม
ในปี 2552 เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองหินปูน จึงได้เชื่อมโยงกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ เพื่อขยายฐานสมาชิก จนประสบผลสำเร็จในระยะเวลาเพียง 2 เดือน มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวน 2,000 คนเศษ มีเงินกองทุนรวมกว่า 1 ล้านบาท
“มีอยู่วันหนึ่ง ผมนำเงินกองทุนสวัสดิการฯ ที่สมาชิกส่งสมทบไปฝากธนาคารออมสินตามปกติ จึงได้เห็นว่ามีสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนไปกู้เงินกับธนาคารออมสิน ทำให้ฉุกคิดว่าเงินที่สมาชิกไปกู้กับธนาคารออมสินนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ผมนำไปฝากอยู่เป็นประจำ แล้วทำไมจึงไม่ใช้เงินกองทุนที่สมาชิกร่วมกันสมทบมาช่วยเหลือคนในตำบลเสียเอง” ละอองดาวเล่าต่อ
คิดได้ดังนั้น ละอองดาวจึงนำเงินกองทุนมาฝากไว้ที่สถาบันการเงินบ่อลูกรัง เพื่อใช้เงินนี้เป็นทุนหมุนเวียนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกสถาบันการเงินฯ จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย
ส่วนการบริหารจัดการเงินกองทุนนั้น กองทุนมีระเบียบอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นค่าสวัสดิการของสมาชิกกองทุน 30% เงินยืมสำหรับสมาชิกกองทุน เงินยืมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 25% (ค่าบำรุง 6%) ต่อปี และเงินยืมเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน/หนี้สินนอกระบบ 5% (ค่าบำรุง 12% ต่อปี) ฯลฯ บริหารงานโดยคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนบ้านบ่อลูกรัง ซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
ในปี 2553 ได้จัดซื้อที่ดินแปลงแรกได้สำเร็จในราคา 307,125 บาท เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน นำมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย 17 ครัวเรือน โดยใช้เงินกองทุนสวัสดิการฯ สมทบซื้อที่ดิน จำนวน 50,000 บาท และให้ผู้ได้รับสิทธิ์ทั้ง 17 ครัวเรือน ชำระเงินคืนตามกำลังรายได้ของแต่ละครัวเรือน
ต่อมาได้จัดซื้อที่ดินแปลงที่ 2 เนื้อที่ 10 ไร่ ในราคา 500,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนสวัสดิการฯ 100,000 บาท เป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 10 ครัวเรือน
ในปี 2554 ได้ซื้อที่ดินแปลงที่ 3 โดยได้รับการช่วยเหลือเจรจาต่อรองการซื้อขายจากหน่วยงานปกครองในท้องถิ่น เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน ราคา 1,100,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนสวัสดิการฯ 500,000 บาท และเงินจากกองทุนที่ดินที่อยู่อาศัยตำบลคลองหินปูน 600,000 บาท เป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 11 ครัวเรือน
ต่อมาได้ซื้อที่ดินแปลงที่ 4 เนื้อที่ 14 ไร่ ราคา 700,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนสวัสดิการฯ 200,000 บาท เป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 7 ครัวเรือน
ในปี 2555 ได้จัดซื้อที่ดิน 1 งาน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 1 ครัวเรือน ราคา 25,000 บาท นอกจากนี้ยังใช้เงินกองทุนสวัสดิการชุมชนมาซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านเรือนของสมาชิกที่มีสภาพทรุดโทรม จำนวน 60 ครัวเรือนๆ ละ 20,000 บาท
ละอองดาวเล่าด้วยว่า ในปี 2563 มีแผนที่จะซื้อที่ดินอีกจำนวน 42 ไร่ ราคา 2,100,000 บาท โดยได้ชำระมัดจำกับเจ้าของที่ดินไปแล้ว 50,000 บาท เพื่อนำมาจัดสรรที่ดินทำกินให้กับสมาชิกอีก 20 ครัวเรือน
นอกจากนี้ตำบลคลองหินปูนยังอยู่ในระหว่างการนำอากาศยานไร้คนขับหรือ ‘โดรน’ (Drone) มาใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้โดรนสามารถบรรทุกปุ๋ยน้ำหรือสารกำจัดแมลงต่างๆ เพื่อฉีดพ่นในแปลงเกษตรกรรมได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้แรงงานคน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย
จากวันนั้นจนถึงวันนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองหินปูนสามารถช่วยเหลือสมาชิกให้มีที่ดินทำกินไปแล้วจำนวน 28 ครัวเรือน และพัฒนาที่อยู่อาศัยสำเร็จไปแล้วกว่า 60 ครัวเรือน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งหวังสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับคนในตำบลได้อย่างเป็นธรรม
จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองหินปูนได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชน ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ประจำปี 2562 ประเภทที่ 6 ด้านการจัดการ/จัดสรรที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยที่พอเพียงต่อการดำรงชีพ และจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ได้ศึกษาและนำไปนำปรับใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป…