บทความโดย พอช.สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก
ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชื่อนี้มีความหมาย คำว่า “ตะเกรา” มาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามริมคลอง ซึ่งคลองในตำบลมีอยู่หลายสายด้วยกัน โดยมีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกอ่างฤๅไนบนเขาตะกรุบ ริมคลองนั้นจะมีต้นคันเกราขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “คลองคันเกรา” และเพี้ยนมาเป็น “คลองตะเกรา” จนถึงปัจจุบัน
ตำบลคลองตะเกราพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเนินสลับภูเขา มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติแควระบม – สียัด ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพาตนเอง โดยไม่มีกองทุนหรือสวัสดิการใดๆ มารองรับ
ดวงใจ ผาสุข ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยรัฐบาลมีนโยบายให้ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อจัดสวัสดิการให้กับคนดูแลป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผู้นำที่ขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชนอยู่ในขณะนั้นจึงได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา โดยเริ่มแรกรวบรวมรายชื่อสมาชิกได้ประมาณ 104 คน จัดตั้งกองทุนฯ ขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานแกนนำผู้ก่อตั้งก็ล้มเลิกความตั้งใจ ต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง
จนกระทั่งปี 2556 มีนักพัฒนาชุมชนคนใหม่ย้ายเข้ามา จึงได้มาชวนผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาชนร่วมกันฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองตะเกราขึ้นอีกครั้ง เพื่อหวังจะให้คนในชุมชนมีสวัสดิการช่วยเหลือดูแลกันเองในชุมชน โดยในช่วงแรกที่เริ่มฟื้นฟูกองทุน คณะกรรมการได้พยายามติดตามสมาชิกเดิมเพื่อให้กลับมาเข้าร่วมกองทุนสวัสดิการอีกครั้ง แต่กลับพบปัญหาว่ารายชื่อสมาชิกที่สมัครเข้ามาในช่วงปีแรกของการก่อตั้งนั้นเป็นเพียงรายชื่อลอยๆ ซึ่งเจ้าของชื่อไม่ได้รู้เรื่องมาก่อนและไม่ต้องการที่จะเป็นสมาชิก
เมื่อเป็นดังนั้นคณะกรรมการจึงจำเป็นต้องโละสมาชิกเก่าออกทั้งหมดและรวบรวมสมาชิกขึ้นมาใหม่ โดยได้สมาชิกใหม่ทั้งสิ้น 106 คน และมีงบประมาณที่ถ่ายโอนมาจากแกนนำชุดแรก จำนวน 5,000 บาท ซึ่งการทำงานในช่วงแรกๆ นั้น คณะกรรมการยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกองทุนสวัสดิการชุมชน จึงได้สื่อสารและระบุในระเบียบกองทุนว่า “สมาชิกต้องส่งเงินออม” ทำให้เจตนารมณ์ของกองทุนฯ เปลี่ยนไป
เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดได้เข้ามาสอบทานกองทุนและพบเข้า จึงได้ให้ข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองตะเกราว่า
“หากกองทุนสื่อสาร โดยใช้คำว่า ‘เงินออม’ นั่นหมายถึงว่า เงินที่สมาชิกส่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือนเป็นเงินออมของสมาชิกเอง ไม่ใช่เงินกองทุนแต่อย่างใด และหากเป็นเงินออม กองทุนจะต้องมีดอกเบี้ยให้กับสมาชิกตามหลักการฝากเหมือนดั่งธนาคารทั่วไป และเมื่อสมาชิก ตาย ลาออก กองทุนจะต้องคืนเงินให้กับสมาชิก ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่หวังไห้คนในชุมชนร่วมกันทำบุญ โดยการ ‘สมทบ’ เงินวันละบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการสมทบมาจัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชนเอง”
เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะกรรมการกองทุนจึงได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบและทำความเข้าใจกับสมาชิกกองทุนใหม่ โดยต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี กว่าที่สมาชิกทั้งหมดจะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกองทุนสวัสดิการชุมชน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนคลองตะเกราดำเนินงาน อย่างต่อเนื่อง จากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายจึงสามารถพัฒนาการจัดสวัสดิการให้มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากสวัสดิการเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแล้ว กองทุนฯ ยังได้พัฒนาการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สวัสดิการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน, สวัสดิการช่วยเหลือทหารปลดประจำการ, สวัสดิการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี, สวัสดิการช่วยเหลือด้านการกุศล, สวัสดิการช่วยเหลือด้านสาธารณะ, สวัสดิการการแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมแล้วกว่า 10 ด้าน แต่สิ่งที่ทำให้กองทุนฯ รู้สึกภาคภูมิ และถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองตะเกราก็คือ ‘การแก้ไขปัญหาหนี้สิน’ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนในชุมชน

โดยแนวคิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกิดขึ้นจากประธานกองทุนสวัสดิการฯ (ดวงใจ ผาสุข) เมื่อได้มาทำงานชุมชนอย่างเต็มตัว ทำให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของคนในชุมชน จึงเกิดเป็นข้อสงสัยในใจว่า “ปัญหาหนี้สินที่คนในชุมชนต้องเผชิญอยู่นั้น รัฐบาลจะมี นโยบายหรือโครงการใดที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้หรือไม่ ?”
เมื่อตนเป็นภาคประชาชนและได้มีโอกาสเข้ามาเป็นประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ทำให้ได้มีโอกาสเข้ามาประชุมร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเห็นถึงวิธีการการทำงาน การสำรวจข้อมูล เพื่อนำมาจัดทำแผนพัฒนาแก้ไขปัญหา แล้วนำไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตนจึงนำแนวทางการทำงานที่ได้กลับมาปฏิบัติ และเริ่มสำรวจข้อมูลในชุมชน ทำให้มองเห็นปัญหาของภาคประชาชนด้วยกันอย่างชัดเจน คือ ปัญหาเรื่องหนี้สิน ประกอบกับตนเองเป็นคณะกรรมการของสถาบันการเงินชุมชน ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“
สมาชิกสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องหนี้สินเช่นกัน บางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ต้องแบกรับดอกเบี้ยมหาโหดจากเจ้าหนี้นอกระบบ เมื่อถึงเวลาไม่สามารถหาเงินไชำระหนี้สินได้ สมาชิกก็จะเข้ามาปรึกษา บางครั้งมากู้เงินเพื่อนำไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งหนี้นอกระบบนั้นมีดอกเบี้ยรายวัน ทำให้จำนวนหนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นานวันเข้าก็จะกลายเป็นเงินจำนวนมหาศาล ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านยังคิดไม่เป็น เพียงแค่ต้องการให้ได้เงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง” ดวงใจเล่าถึงปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน

จากปัญหาที่พบจึงนำมาสู่การจัดสวัสดิการด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยได้เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินชุมชนหนองคอก และได้ทดลองปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่เป็นสมาชิก โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะสามารถกู้เงินได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกทั้งสถาบันการเงินหนองคอก และเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองตะเกราด้วย ซึ่งวิธีการกู้ยืมนั้น มีขั้นตอนคือ คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ดำเนินการคัดกรองและรับรองผู้เดือดร้อนที่มีความประสงค์จะกู้เงิน และกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับคณะกรรมการสถาบันการเงินจะต้องเปิดวงประชุมเพื่อพิจารณา ผู้ที่เดือดร้อน เพื่อขอมติจากคณะกรรมการในการปล่อยกู้ พร้อมทั้งหารือกับผู้กู้ถึงแผนการผ่อนชำระคืน โดยให้สมาชิกประเมินจากศักยภาพทางการเงินของตนเองว่าสามารถผ่อนชำระคืนได้เดือนละเท่าไหร่ และทำสัญญาร่วมกัน โดยที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือและปลดหนี้ให้กับสมาชิกไปแล้วมากกว่า 3 ราย เช่น

นางศิรดา บุญมารีย์ เป็นหนี้นอกระบบ มีภาระต้องส่งเงินดอกเบี้ย 15,000 -25,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 8 ปี ต่อมาได้รับการช่วยเหลือ โดยคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการแนะนำให้ไปปรึกษากับสถาบันการเงินชุมชนฯ และได้รับสินเชื่อประเภทเงินกู้เพื่อแก้ไขปํญหาหนี้นอกระบบ จำนวน 145,000 บาท โดยสามารถชำระคืนได้หมดภายใน 12 เดือน ปัจจุบันนางศิรดาสามารถปลดหนี้ให้กับตนเองได้เรียบร้อยแล้ว
นางนิตยา น้อยตั้ง เป็นหนี้นอกระบบ ส่งดอกเบี้ย 20,000-30,000 ต่อเดือนเป็นเวลา 10 ปี ล่าสุดต้องการขายบ้านพร้อมที่ดินเพื่อชำระหนี้ จึงได้เข้ามาปรึกษาปัญหาความทุกข์กับกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน กรรมการฯ ได้แนะนำให้สมาชิกรายนี้ไปปรึกษาปัญหาหนี้กับสถาบันการเงินชุมชนหนองคอก ต่อมาจึงได้รับสินเชื่อประเภทเงินกู้เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยนางนิตยา น้อยตั้ง ได้ชำระหนี้หมดภายใน 9 เดือนโดยไม่ต้องขายบ้าน
น.ส.สุเพ็ญ คูคำ กู้เงินนอกระบบจำนวน 200,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 5,000-8,000 บาทมาเกือบ 3 ปี แม้จะจ่ายทุกเดือนแต่หนี้ก็ไม่ลดลง นางสุเพ็ญจึงได้มาปรึกษาที่กองทุนสวัสดิการชุมชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการชำระคืน และได้ลดต้นลดดอกเบี้ยทุกเดือน จะส่งคืนครบหมดภายใน 30 เดือน
จากรูปธรรมการขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองตะเกรา ทำให้เห็นว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนชุมชนได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้คนในชุมชนมีสวัสดิการที่รัฐเอื้อมมือเข้าไปช่วยไม่ถึงแล้ว ยังสามารถพัฒนาขยายผลไปสู่เรื่องอื่นๆ และคลี่คลายปัญหาให้กับคนในชุมชนได้อย่างตรงจุด โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล ดูแลกันและกัน ร่วมกันนำพาความทุกข์ยากให้หมดไป ด้วยพลังจากคนในชุมชนนั่นเอง…