บทความโดย พอช.สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก
บ้านห้วยโจด เดิมตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลวัฒนานคร จ.สระแก้ว แต่เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับตำบลวัฒนานครมีพื้นที่กว้างขวางยากแก่การปกครอง คณะกรรมการหมู่บ้านและราษฎรร่วมกับอำเภอวัฒนานครจึงเสนอให้แยกบ้านห้วยโจดออกมาตั้งเป็นตำบลใหม่อีก 1 ตำบล เรียกว่า “ตำบลห้วยโจด” อยูในเขตอำเภอวัฒนานคร
ตำบลห้วยโจดมีลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำเกษตร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวน ทำไร่ และรับจ้างทั่วไป แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ
น้ำทิพย์ เชียงเงิน ประธานกองทุนสวัสดิการขุมชนตำบลห้วยโจด เล่าว่า ตนเองอยากให้ชาวบ้านได้มีสวัสดิการไว้เลี้ยงดูและช่วยเหลือกันและกันในชุมชน จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555 มีสมาชิกแรกเข้า 146 คน มีงบประมาณอยู่ทั้งสิ้น 27,713 บาท มีคณะกรรมการ 15 คน ที่ปรึกษา 3 คน
สวัสดิการที่จัดให้กับสมาชิก ได้แก่ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งในช่วงแรกมีเงินจากสมาชิกและเงินสมทบจากรัฐบาลจำนวน 55,000 บาท เมื่อต้องจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทำให้กองทุนมีข้อติดขัดด้านการเงิน เงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิก คณะกรรมการจึงได้ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานในท้องที่ เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนกองทุนฯ ทำให้กองทุนสามารถดำเนินงานต่อมาได้จนถึงทุกวันนี้
“ต่อมาคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในชุมชนเพื่อนำมาจัดทำแผนพัฒนา จึงพบว่า ตำบลห้วยโจดมีปัญหาด้านสังคมเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ท้องก่อนวัย เด็กมั่วสุม ติดอบายมุข การใช้ความรุนแรงในครอบครัว จึงได้นำปัญหาดังกล่าวมารวบรวมเป็นข้อมูล ร่วมกันวิเคราะห์ และมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัว พฤติกรรมผู้ใหญ่ส่งผลกระทบต่อเด็ก” ประธานกองทุนสวัสดิการฯ เล่า
จากปัญหาดังกล่าว กองทุนฯ จึงได้ริเริ่มงานด้านครอบครัว มีเป้าหมายเพื่อ “ส่งเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่น” โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนขับเคลื่อนงาน เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาหนุนเสริม ร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาแล้วหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมส่งเสริมการสร้างครอบครัวอบอุ่น โดยเริ่มจากการสำรวจสถานการณ์ความเข้มแข็งของครอบครัวและนำมาจัดทำฐานข้อมูล
พบว่า ในตำบลห้วยโจด มีหัวหน้าครอบครัวไม่มีงานทำ จำนวน 118 คน คิดเป็นร้อยละ 7.87 ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะพึ่งพิงสูง จำนวน 137 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 9.13 ครอบครัวหย่าร้าง จำนวน 57 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 3.8 ความเข้มแข็งของครอบครัวในด้านสัมพันธภาพ พบว่า การแสดงความเอาใจใส่กัน ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 602 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 40.13 ความเข้มแข็งของครอบครัวในด้านเศรษฐกิจ พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 707 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 47.13
จากข้อมูลที่พบจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างครอบครัวอบอุ่น เช่น การยุติความรุนแรง การเชิดชูเกียรติเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี การดูและรักษาสุขภายกายและสุขภาพใจ การพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมเรื่องการเกษตรไม่ใช้สารเคมี ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมนั้น พบว่า ปัญหาเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัวในเรื่องการเอาใจใส่ระหว่างกัน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการไม่ผ่านเกณฑ์ 602 ครอบครัว เหลือเพียง 250 ครอบครัว ที่สำคัญการจัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน มีการศึกษาบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
กิจกรรมด้านการพัฒนาเด็ก เช่น โครงการส่งเสริมทักษะชีวิตเด็กพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โครงการสร้างจิตสำนึกไทยหัวใจใสสะอาด โครงการธนาคารขยะเทิดพระเกียรติ โครงการพัฒนาศักยภาพสตรี เด็ก และเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โครงการอบรมเยาวชนร่วมใจต้านภัยยาเสพติด โครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพสภาเด็กและเยาวชน โครงการอบรม อปพร.น้อย และ อสม.น้อย โครงการประชาสัมพันธ์น้อยสัญจร
“จากการจัดกิจกรรมขึ้นมา ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเด็กที่ได้รับการพัฒนาสามารถทำงานอาสาพัฒนาร่วมกับสภาองค์กรชุมชน หน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น การสำรวจข้อมูล และบันทึกเป็นฐานข้อมูลตำบล ร่วมวางแผนการพัฒนากับกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมอยู่เวรยามกับ อปพร. ออกประชาสัมพันธ์งานของพื้นที่ตามหอกระจายข่าวแต่ละหมู่บ้าน ลงปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจคัดกรองและการป้องกันไข้เลือดออกกับ อสม. สิ่งสำคัญคือ เด็กๆ ได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมเป็นเวลาที่ได้ฝึกฝน ทดลองปฏิบัติ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ มีเพื่อนที่อยู่ในตำบลเดียวกัน มีพื้นที่ที่ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ รวมทั้งรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ สิทธิและการมีจิตอาสาโดยไม่รู้ตัว” ประธานกองทุนฯ ยกตัวอย่างผลที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในตำบล
กิจกรรมการแก้ไขปัญหาด้านความรุนแรง ยุติการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวภายใต้โครงการ “ห้วยโจดครอบครัวอบอุ่น ไร้ความรุนแรง ด้วย 4 ดี วิถีพอเพียง” โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่ หากพบว่ามีเหตุการณ์ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เครือข่ายจะแจ้งมายังคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งหลังจากที่ได้รับแจ้งแล้วคณะกรรมการจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บข้อมูลแต่ละรายนำ เพื่อเข้าที่ประชุมสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะทำงานศูนย์ รพ.สต.ในพื้นที่ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่น พมจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากที่มีการช่วยเหลือแล้วจะลงพื้นที่ติดตามผล ประชุมทีมสหวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายเพื่อรายงานและติดตามผลเป็นระยะๆ
การแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในชุมชน จากการถูกทอดทิ้ง ปัญหาเรื่องสุขภาพ ติดสุรา ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม กองทุนสวัสดิการชุมชนจึงได้ส่งเสริมการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง โดยจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น มอบของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน การสร้างการยอมรับให้กับผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ
จากกิจกรรมต่างๆ ที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจดได้จัดขึ้น ทำให้เห็นว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน ไม่ใช่เป็นเพียงกองทุนที่จัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชนเพียงแค่เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายเท่านั้น แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนยังสามารถขับเคลื่อนผลักดัน แก้ไข หรือพัฒนาขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังเช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจดที่ได้ใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในตำบล ส่งเสริมเรื่องการสร้างครอบครัวอบอุ่น และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนในตำบลได้จริง ทำให้ตำบลห้วยโจดเป็นชุมชนที่มีสังคมที่ดี ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข