บทความโดย พอช.สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก
“ใครต้องการให้ช่วยอะไร เค้ามาขอป้าก็ช่วยเค้าหมดแหละ เราทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร ทำเพื่อส่วนรวม เรายินดี”
นี่คือคำพูดของนางสาวสำรวย คำแปน (ป้าเล็ก) คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน วัย 72 ปี ซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเป็นสตรีดีเด่นประจำตำบลอีกด้วย
ป้าเล็กเล่าว่าเริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาเมื่อประมาณปี 2523 ตอนนั้นมีการรวมกลุ่มของแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มสตรี ป้าก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพราะอยากให้หมู่บ้านพัฒนา พอเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านก็เข้ามาช่วยทำ เหมือนกับโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งตำบลห้วยโจดดำเนินการผ่านทางกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจด และป้าก็เป็นคณะกรรมการกองทุนฯ ด้วย
“เมื่อปี 2560 มีโครงการเข้ามา ทางประธานกองทุนฯ นางน้ำทิพย์ เชียงเงิน ได้ประสานงานให้คณะกรรมการกองทุนฯ แต่ละหมู่บ้านช่วยกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งป้าก็ลงพื้นที่ช่วยสำรวจ และคัดกรองผู้เดือดร้อนด้วย” ป้าเล็กเล่า
การดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทในตำบลห้วยโจด มีการสำรวจผู้เดือดร้อนทั้งหมด 7 หมู่บ้าน พบจำนวนผู้เดือดร้อนทั้งตำบล 6 หมู่บ้าน 143 ครัวเรือน เมื่อได้ข้อมูลผู้เดือดร้อนแล้ว คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านจะต้องทำเวทีประชาคมรับรองและจัดลำดับผู้เดือดร้อนก่อนหลัง เพื่อส่งให้คณะทำงานพิจารณาและรวบรวมรายชื่อเพื่อทำประชาคมระดับตำบลอีกครั้ง โดยในปี 2560 ตำบลห้วยโจดได้รับงบประมาณ 900,000 บาท มีเป้าหมายการดำเนินการ 50 ครัวเรือน
คณะทำงานตำบลห้วยโจด โดยนางน้ำทิพย์ เชียงเงิน ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้ถอดบทเรียนกระบวนการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลห้วยโจด ดังนี้
ช่วงแรก จากการที่ พอช.ได้ประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายองค์กรชุมชนสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีสภาพไม่มั่นคง หรือผู้ที่ต้องการซ่อมแซม ปรับปรุง และต่อเติมบ้าน เพื่อของบประมาณสนับสนุนตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทปี 2560 นั้น
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจดจึงได้ทำการสำรวจข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย ภาพถ่าย สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นทีมงานบ้านพอเพียงจัดการประชุมเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจ ให้กับเครือข่ายเป็นครั้งแรก
โดยให้ข้อมูลว่า งบประมาณในการซ่อมแซมบ้านหลังละ 20,000 บาท ต้องมีการทำ BOQ มีการคืนเงิน เพื่อจัดตั้งกองทุน ไม่มีค่าบริหารจัดการ ไม่มีค่าแรง ทำให้แกนนำมีความรู้สึกอึดอัด แต่ก็ได้นำข้อมูลไปประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ผลก็คือไม่มีเครือข่ายใดที่อยากจะทำโครงการนี้
หลังจากนั้นได้มีการประชุมสร้างความเข้าใจให้แก่แกนนำในการทำโครงการเป็นครั้งที่สอง งบประมาณจาก 20,000 บาท ลดลงเหลือ 18,000 บาท ตอกย้ำเรื่องการทำ BOQ มีการคืนเงิน จัดทำพิกัดและรายละเอียดอื่นๆ เมื่อนำไปประชาสัมพันธ์ทำให้เกิดเสียงสะท้อนในทางลบ เช่น เรื่องของงบประมาณ จากเดิม 20,000 บาท เหลือ 18,000 บาท และการจัดตั้งกองทุน
จึงเกิดคำถามจากแกนนำว่า “ทำไมต้องจัดตั้งกองทุน ทั้งๆ ที่ พอช.มีกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว” รวมทั้งคำถามจากชาวบ้านว่า “ทำไมต้องคืนเงินในเมื่อรัฐให้ฟรี”, “จะแบ่งอย่างไร ระหว่างผู้ที่ไม่ต้องคืนเงิน และผู้ที่ต้องคืนเงิน” ฯลฯ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ทำให้แกนนำเกิดความสับสน โดยเฉพาะข้อมูลที่ทีมงานลงมาสร้างความเข้าใจ ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างแกนนำกับผู้นำในพื้นที่
ดังนั้นเพื่อให้งานดำเนินไปได้ นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ คณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วจึงได้เข้ามาสร้างความเข้าใจและลดขั้นตอนในการจัดทำเอกสารให้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นทีมงานบ้านพอเพียงได้เข้ามาสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดทำเอกสาร แต่เครือข่ายก็ยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ จึงต้องมีการปรับแก้อยู่ตลอด จนกระทั่งถึงวันที่จะเซ็นบันทึกข้อตกลงก็ยังต้องแก้ไข
ช่วงที่สอง คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจดได้จัดประชุมแต่งตั้งคณะทำงานบ้านพอเพียง และประสานงานกับ อพม., ศพค., อสม., ส.อบต., และผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูลบ้านผู้เดือดร้อน ถ่ายภาพ สำเนาบัตรประชน และสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ละหมู่ รวบรวมเอกสารให้ผู้ใหญ่บ้านทำการประชาคมรับรอง และให้ผู้เดือดร้อนเสนอตัวเองในการคืนเงินเข้ากองทุนตามศักยภาพ หากผู้เดือดร้อนไม่สามารถคืนเงินได้ก็ให้ประชาชนในพื้นที่รับรองและแสดงเหตุผลประกอบ จากนั้นนำเอกสารทั้งหมดรวบรวมให้คณะทำงานบ้านพอเพียงและคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อพิจารณา และจัดทำเอกสารขอสนับสนุนงบประมาณ
สรุป ข้อติดขัดในการดำเนินงานขั้นที่สอง คือ การสื่อสารของผู้ประสานงานที่จะตอบคำถามเรื่องการคืนเงิน และการให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นวัสดุ-อุปกรณ์ รวมทั้งการแสดงรายการวัสดุที่ต้องเกิดจากช่างในพื้นที่และช่างคนนั้นต้องเป็นผู้ซ่อม ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเมื่อส่งวัสดุ และอีกปัญหา คือ ผู้ใหญ่บ้านรับทราบข้อมูลว่า งบประมาณครั้งนี้ไม่ต้องคืนรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามมากมายที่แกนนำจะต้องสร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตศรัทธา และต้องประสานงาน รวมทั้งแจ้งให้ผู้นำท้องที่รับทราบ
ช่วงที่สาม คณะทำงานบ้านพอเพียงจัดทำเอกสารในการขอรับสนับสนุนงบประมาณ โดยไม่มีค่าบริหารจัดการ ดังนั้นวัสดุ-อุปกรณ์ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ และค่าประสานงานต่างๆ แกนนำต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ในการทำเอกสารแกนนำยังไม่ค่อยเข้าใจ ทำให้ต้องแก้เอกสาร จนกระทั่งถึงวันเซ็นบันทึกข้อตกลง เอกสารก็ยังต้องแก้ไขจนวินาทีสุดท้าย
ช่วงที่สี่ เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่เขตอำเภอวัฒนานครที่ได้รับงบประมาณจำนวน 2 ตำบล คือ ตำบลห้วยโจด และเทศบาลตำบลวัฒนานคร เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี คณะทำงานของทั้งสองตำบลจึงมีแนวคิดในการจัดพิธีเปิดตัวโครงการบ้านพอเพียงปี 2560 ร่วมกัน โดยเชิญนายณัฐพงษ์ พัฒนรัฐ นายอำเภอวัฒนานคร เป็นประธานในพิธี
คณะทำงานและขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วจึงได้ขอพบนายอำเภอวัฒนานคร เพื่อสร้างความเข้าใจ และเชิญเป็นประธานในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ณ หอประชุมอำเภอวัฒนานคร โดยมีผู้เดือดร้อนทั้งสองตำบล และเครือข่ายที่สนใจจะทำโครงการในปี 2561 เข้าร่วมงานมากกว่า 130 คน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้ซ่อมแซมบ้านตัวอย่างให้นายอำเภอและเครือข่ายได้ดู จำนวน 1 หลัง เป็นบ้านของนางเฮียง นามวงษ์ บ้านเลขที่ 135 หมู่ 1 ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร ทั้งนี้การจัดงานในวันนั้นได้รับการสนับสนุนจากขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้ว
ก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม หลังซ่อม
นอกจากนี้คณะทำงานได้ประสานงานกับวิทยาลัยเทคนิคสระแก้วในการลงพื้นที่เพื่อทำ BOQ ผลปรากฏว่าไม่สามารถตอบโจทย์ในพื้นที่ได้ เนื่องจากการทำ BOQ ของวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เป็นแบบมาตรฐาน แต่บ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวบ้านสร้างตามแบบช่างพื้นบ้าน ดังนั้นจึงต้องใช้ช่างในพื้นที่คำนวณรายการวัสดุ-อุปกรณ์ แต่ก็เกิดปัญหาอีก เพราะเวลาซ่อมจะให้ผู้เดือดร้อนและคนในพื้นที่ช่วยกันซ่อม ดังนั้นวัสดุก็จะไม่ตรงตามความต้องการของคนที่มาซ่อม
สรุป เกิดปัญหาการสร้างวิกฤตศรัทธา และสร้างความแตกแยกในตำบลห้วยโจด โดยทีมงานบ้านพอเพียงที่ลงไปร่วมมอบบ้านพอเพียง และปัญหาที่มีการบอกปากต่อปากว่า คณะทำงานบ้านพอเพียงในพื้นที่หักเงิน 2,000 บาทเข้ากระเป๋า
ช่วงที่ห้า ด้วยมีการกำหนดแผนการซ่อมสร้างแต่ละเดือน โดยเดือนกุมภาพันธ์ต้องแล้วเสร็จจำนวน 8 หลัง ดังนั้นคณะทำงานจึงมีมติในที่ประชุมให้สำรองเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนในการซ่อมแซมสร้างบ้านให้กับผู้เดือดร้อนที่มีความพร้อมในการซ่อม โดยรวมผู้เดือดร้อนในแต่ละหมู่มาช่วยกันซ่อม ดังนั้นคณะทำงานจึงประสานกับร้านวัสดุที่ใกล้กับตำบลห้วยโจดที่มีราคาตามท้องตลาดหรือถูกกว่า เพื่อตัดปัญหาเรื่องการขนส่ง โดยทำการทดลองสั่งวัสดุ 3 หลังคาเรือน คือ 1. นายแหลมไทย เกตุศร ชาวบ้านหมู่ 6, 2. นายวิชิต มีสมบัติ ชาวบ้านหมู่ 1 และ 3. นายเต๊าะ สามารถกุล ชาวบ้านหมู่ 3
แต่พบปัญหาการส่งของล่าช้า ความไม่รับผิดชอบงานของร้านวัสดุ ทำให้เกิดปัญหาคนซ่อมที่ต้องลางาน ขาดงานมาจากต่างจังหวัด โดยไม่มีค่าแรง ต้องเสียเวลาและเสียความรู้สึก แต่ข้อดีคือมีผู้บริจาคเงินช่วยเหลือ และมีช่างในพื้นที่ที่พร้อมจะช่วยงานโดยไม่รับค่าจ้าง ระหว่างนี้ทีมงานจะลงพื้นที่เพื่อตอบคำถามและสร้างความเข้าใจกับคนที่มาสังเกตการณ์ จากปัญหาการทำงานใน 3 หลัง จึงได้มีการเปลี่ยนร้านวัสดุที่มีราคาลดลง และสามารถจัดส่งให้ทันเวลา คณะทำงานจึงสั่งวัสดุเพิ่มอีก 3 หลัง
คือ 1. นางพยุง จำจด หมู่ 1 ซึ่ง ส.อบต.จรูญ บ่อทอง เป็นผู้ประสานงานการสำรวจครั้งแรกซึ่งเป็นการซ่อมแซม แต่ปรากฏว่าเมื่อช่างไปดูพบว่าถ้าซ่อมราคาจะใกล้เคียงกับการสร้างใหม่ คณะทำงานจึงตัดสินใจรื้อและสร้างใหม่ แม้ราคาจะสูงกว่าแต่ ส.อบต.ได้ขอรับบริจาคเงินจากภาคเอกชน (ร้านไจแอ้นท์ หมูกระทะ, ร้าน ว.ขยะรีไซเคิล และห้างหุ้นส่วนจำกัดอะตอมการโยธา) เพื่อร่วมจัดซื้อวัสดุ
ก่อนสร้าง หลังสร้าง
2.นางเปือย ประประโคน หมู่ 5 โดย ส.อบต.สมชาญ เจิมขุนทด เป็นผู้ประสานขอกำลังคนในการสร้างใหม่ เนื่องจากถ้ารื้อบ้านก็จะพัง
3.นางฉะอ้อน ทำการสม หมู่ 2 โดยผู้ใหญ่บ้าน นางวรัญญา จันทร์ศิริ เป็นผู้ประสานงาน และให้ลูกๆ ร่วมกันซ่อมปรับปรุงห้องครัว เชื่อมต่อตัวบ้านกับห้องครัว และรวบรวมเงินที่ขาดบางส่วนมาร่วมในการซ่อม
ช่วงที่หก หลังจากจัดส่งเอกสารเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ได้รับการตอบรับในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 โอนเงินวันที่ 8 มีนาคม 2560 จึงได้นำเงินที่ยืมจากกองทุนสวัสดิการมาคืน
ช่วงที่เจ็ด ช่วงนี้มีบ้านที่ซ่อมแซมเสร็จแล้วหลายหลัง ทำให้แกนนำ ผู้นำต่างๆ เริ่มหันกลับมามองดู และช่วยกันระดมสรรพกำลัง เพราะบ้านที่ซ่อมหรือสร้างเสร็จในแต่ละหมู่บ้านจะรายงานโดยผู้ใหญ่บ้านไปยังที่ทำการอำเภอมากขึ้นและกลายเป็นผลงานของผู้ใหญ่บ้าน โอกาสนี้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงเริ่มประชาสัมพันธ์ผลงานให้ชาวบ้านรู้ถึงผลงานของกองทุนฯ และเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิก สร้างความเข้าใจ ทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชนให้แก่สมาชิกทุกด้าน จึงเริ่มมีประชาชนที่เดือดร้อนแจ้งความจำนงจะเข้าร่วมโครงการต่างๆ ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดิน ฯลฯ
ช่วงที่แปด พมจ. ขอรายงานในเรื่องการซ่อมแซมบ้าน พิกัด และปัญหาสังคมของผู้ได้รับการอนุมัติซ่อมแซมบ้าน เพื่อนำเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะลงมาเยี่ยมช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 คณะทำงานบ้านพอเพียงจึงลงพื้นที่จับพิกัด และทำแบบสำรวจปัญหาในทุกมิติ
ปัจจุบันบ้านพอเพียงชนบทตำบลห้วยโจด มีการซ่อมสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 50 ครัวเรือน และปี 2562 ได้รับงบประมาณมาสนับสนุน จำนวน 16 ครัวเรือน จากผลการดำเนินงานของคณะทำงานบ้านพอเพียงตำบลห้วยโจดดังที่กล่าวมา ซึ่งมีการประเมินผลการทำงานและสรุปบทเรียนเป็นลำดับเป็นขั้นตอน จึงเป็นตัวอย่างให้ตำบลอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้
นอกจากนี้ผลจากการดำเนินงาน เมื่อมีการซ่อมสร้างบ้านให้เห็นจริงในพื้นที่ ชาวบ้านจึงเกิดความเชื่อถือ และร่วมกันลงแรงช่วยกันซ่อมสร้าง ขณะที่ผู้นำท้องที่ท้องถิ่นจากเดิมที่ไม่เชื่อมั่น ก็หันกลับมาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนชาวบ้านที่เดือดร้อนเมื่อได้รับการช่วยเหลือต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดีใจ และขอบคุณทุกๆ คนที่ให้การช่วยเหลือในครั้งนี้”
นี่จึงนับเป็นผลงานชิ้นเอกที่ทำให้คนในตำบลห้วยโจดหันกลับมาเชื่อมร้อยและร่วมกันพัฒนาตำบลในด้านต่างๆ สมดังกับคำพูดที่ว่า “ทำด้วยใจ ทำได้จริง”