ชุมชนกัลยาณมิตร/ รอง ผอ.พอช.มอบบ้านมั่นคงชุมชนกัลยาณมิตร 273 ครอบครัว ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยชาวชุมชนใช้เวลาเจรจาต่อรองกับการรถไฟฯ นานเกือบ 5 ปี จนได้รับสัญญาเช่าที่ดิน 6 ไร่ 30 ปี เพื่อสร้างบ้านมั่นคงรองรับชาวบ้าน 10 ชุมชน มีบ้านกลางที่ชาวชุมชนร่วมกันสร้าง 2 หลัง ขณะที่รอง ผอ.พอช.แนะชาวชุมชนเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือชุมชนอื่นที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยต่อไป
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “มอบบ้านร้อยใจร่วมแก้ปัญหาที่ดินรถไฟ” โดยมีนางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นประธานในการมอบบ้านมั่นคงและทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนกัลยาณมิตร จำนวน 273 ครอบครัว โดยมีผู้แทนสำนักงานเขตบางซื่อ ชาวชุมชน และสมาชิกเครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ชาวชุมชนกัลยาณมิตรได้รวมตัวกันต่อสู้มานานเกือบ 5 ปีจนได้เช่าที่ดินจากการรถไฟฯ ที่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม ใกล้โรงเรียนและแหล่งงาน และเนื่องจากชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนใหญ่ การบริหารจัดการชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องการบริหารสหกรณ์ การชำระค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟฯ ต้องปฏิบัติตามสัญญา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอื่นๆ ที่กำลังเจรจาต่อรองขอเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ
“เมื่อได้บ้านแล้ว พวกเราต้องช่วยเหลือดูแลกัน มีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น เด็ก เยาวชน มีกลุ่มอาชีพ มีพื้นที่สีเขียว มีที่ปลูกผักสวนครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกองทุนรักษาบ้านรักษาดิน ดูแลบ้านและชุมชนให้อยู่กันมั่นคงจนถึงลูกหลาน นอกจากนี้พวกเราต้องช่วยเหลือเพื่อนชุมชนอื่นที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือหรือไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอื่นๆ เช่น ชุมชนริมคลอง ส่วนหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะ พอช.ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนพี่น้องในการพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย” รอง ผอ.พอช.กล่าว
นางสาวอรนิตย์ รอดนาค ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการสร้างส่วนเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช ระยะทางตลอดโครงการจำนวน 15.2 กิโลเมตร ทำให้เกิดการไล่รื้อชุมชนในปี 2551 มีผู้เดือดร้อนทั้งหมด 10 ชุมชน รวม 3,087 ครัวเรือน
โดยบริษัทเอกชนที่รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ได้ฟ้องร้องขับไล่ชาวชุมชน แต่ชุมชนได้รวมตัวกันต่อสู้ในศาลมา กว่า 2 ปี เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในที่ดินเดิมหรือใกล้เคียง นอกจากนี้ชาวชุมชนยังรวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณรางรถไฟใกล้ชุมชนนานนับเดือน รวมทั้งได้ยื่นข้อเสนอขอเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ จนนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกในที่ดินการรถไฟสายสีแดงตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตัวแทนชุมชนจึงลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ
“แต่ชุมชนและผู้ที่เดือดร้อนก็ได้รวมตัวกันเจรจาต่อรองกับการรถไฟฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551-2554 โดยมีเครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เป็นที่ปรึกษา จนกระทั่งการรถไฟฯ ยินยอมให้ชาวชุมชนใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่เศษมาพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ตามข้อตกลงร่วมกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นชุมชนจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์กัลยาณมิตรฯ ขึ้นมา มีสมาชิกจาก 7 โซน 10 ชุมชนมารวมตัวกันเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง” ประธานสหกรณ์ฯ เล่าความเป็นมา
ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้ให้ชาวชุมชนเช่าที่ดินในนามสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด ระยะเวลาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2584 ต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี อัตราค่าเช่า 150 บาท/ตารางเมตร/ปี พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 6 ไร่ หรือ 10,000 ตารางเมตรหรือประมาณปีละ 1.5 ล้านบาท
หลังจากนั้นสหกรณ์ฯ ได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยขอใช้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยจาก พอช. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 จำนวน 237 ครัวเรือน งบประมาณ 21,354,540 บาท และงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชน รวมทั้งบ้านพักชั่วคราว จำนวน 23,272,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 44,626,540 บาท
ส่วนแบบบ้านมี 2 แบบ คือ 1. บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 3.80 x 6.50 ตารางเมตร ราคา 223,652 บาท จำนวน 197 ครัวเรือน ผ่อนชำระเดือนละ 1,900-2,600 บาท (ตามวงเงินที่ขอกู้) ระยะเวลา 15 ปี 2. อาคารชุด 2 ชั้น ขนาด 3.80 x 6.50 ตารางเมตร จำนวน 38 ครัวเรือน ราคา 117,147 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,000-1,500 บาท ระยะเวลา 15 ปี
นอกจากนี้ชุมชนยังสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส 2 หลัง โดยชาวชุมชนช่วยกันออกเงินครัวเรือนละ 500 บาท และสมทบวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งช่วยกันลงแรงสร้างบ้าน เริ่มก่อสร้างบ้านในช่วงต้นปี 2555 และสร้างบ้านแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2560 รวม 237 หลัง (รวมบ้านผู้ด้อยโอกาส 2 หลัง) และมีที่ทำการสหกรณ์ฯ 1 หลัง
ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ปัจจุบันมีการออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยมีสมาชิก 237ครัวเรือน แยกเป็นเงินหุ้น 771,850 บาท เงินสวัสดิการชุมชน 481,316 บาท มีสมาชิกประมาณ 250 คน โดยสมาชิกร่วมสมทบรายละ 30 บาท/เดือน มีสวัสดิการให้สมาชิก เช่น คลอดบุตร 500 บาท เสียชีวิตช่วย 7,000 บาท ฯลฯ และเงินกองทุนรักษาบ้านรักษาดิน 204,272 บาท โดยให้สมาชิกสมทบรายละ 20 บาท/เดือน รวมมีเงินกองทุนภายในชุมชน 1,457,438 บาท
ประธานสหกรณ์ฯ กล่าวด้วยว่า หลังจากแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว คณะกรรมการสหกรณ์ฯ มีแผนการพัฒนาชุมชนต่อไป คือจะใช้พื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนมาจัดทำเป็นพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหาร ให้ชาวชุมชนช่วยกันปลูกผักนำมากินในครัวเรือนที่เหลือจึงขายเพื่อเป็นรายได้ ลดรายจ่าย ร่วมกันลงทุนทำน้ำยาล้างจานเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมทั้งมีอาชีพเสริม เช่น รับจ้างบรรจุข้าวสารใส่เครื่องถวายสังฆทาน ทำให้ชาวชุมชนมีรายได้วันละ 100-200 บาท ฯลฯ