บทความโดย อำนาจชัย สุวรรณราช
“บางมะพร้าว” อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกจรดทะเลอ่าวไทยและสำหรับทางทิศตะวันตกของตำบลมีลักษณะพื้นที่เป็นเนิน ทั้งนี้เนื่องจากมีภูเขาบางมะพร้าวเป็นแนวยาวจากเหนือไปใต้ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่ตั้งของชุมชน และใช้ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่การปลูกพืชยืนต้น ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ประเภท ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา และสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น โดยมีแม่น้ำหลังสวนไหลผ่านพื้นที่
นายปรีชา สุวีรานุวัฒน์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางมะพร้าวเล่าให้ฟังว่า จุดเด่นที่เอื้อต่อการพัฒนาตำบลเป็นพื้นที่ติดชายทะเลสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและราบชายฝั่งมีภูเขาบ้างเล็กน้อย และมีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน ประชาชนได้ใช้ลำน้ำแห่งนี้ในการอุปโภค บริโภค และเหมาะสมแก่การประกอบอาชีพด้านการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน และประกอบ การอาชีพประมง นอกจากนี้ยังมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เนื่องจากติดชายทะเลมีชายหาดยาว อีกทั้งยังมีการสำรวจพบถ้ำน้ำที่สวยงามในพื้นที่ตำบลบางมะพร้าว คือถ้ำน้ำเพชรบรรพต อยู่บริเวณเขาต่างตะลิ่ง หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันติดปากว่าเขาลิ้นต่าง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหลังสวน เขตหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 11 ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ด้านเศรษฐกิจ ตำบลบางมะพร้าวตั้งอยู่ติดอ่าวไทย เป็นท่าเรือที่ขนส่งสินค้า เช่น ผลผลิตทางการเกษตรและจุดพักเรือประมงชายฝั่งของชาวบ้าน ซึ่งคนในยุคโบราณ ส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวเพราะเป็นพืชปลูกง่ายและเหมาะกับชายฝั่ง ประกอบกับจำหน่ายง่ายเนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกไปยังหัวเมือง ต่างๆ ทั้งในจังหวัดชุมพรและต่างจังหวัด ดังนั้นวิถีชีวิตของคน ตำบลบางมะพร้าว จึงมี 2 อาชีพหลัก คือทำเกษตรผสมผสานเกษตรแบบโบราณปลอดสารเคมีและอาชีพ ทางทะเล ทำประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนเครือข่ายประมงจังหวัดและภาคใต้ 13 จังหวัดที่ต่อสู้เรื่องการคัดค้านเรื่องประมงผิดกฎหมายของเรือขนาดใหญ่ ประมงพานิชที่รุกรานประมงชายฝั่ง และเป็นการทำลายล้างสัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของอาชีพประมงชายฝั่งในจังหวัดชุมพร 23 สภาฯ ใน 6 อำเภอ ที่อยู่ติดอ่าวไทย
สภาองค์กรชุมชนตำบลบางมะพร้าวมีการประชุมหารือ เพื่อพัฒนายกระดับด้านทุนและเศรษฐกิจชุมชน สู่การเชื่อมโยงเครือข่าย อำเภอและเครือข่ายจังหวัด ภายใต้วิถี ของคนบางมะพร้าว ซึ่งมีทั้งวิถีประมงชายฝั่ง และเกษตรผสมผสาน การแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อร่วมกันทักถอ กลุ่ม คลัสเตอร์ผลักดันเป็นข้อเสนอ เชิงนโยบาย ต่อหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ สู่เป้าหมายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มีซื้อของบางมะพร้าวคือการทำกุ้งเคย
กุ้งเคยหรือกะปิบางมะพร้าว อันเป็นกะปิที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของชุมชนในการยกระดับภูมิปัญญาชุมชนสู่การสร้างเป็นสินค้าเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนเอง ซึ่งกะปินี้ทำมาจาก กุ้งเคย หรือที่เรียกกันว่า “เคย” ซึ่งทางสภาองค์กรชุมชนตำบลบางมะพร้าวได้ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันพัฒนากะปิชุมชนให้มีคุณภาพและสร้างเป็นแบรนด์สินค้าของชุมชนที่น่าเชื่อถือ โดยดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนปี 2560 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้การแปรรูปผลไม้ สมุนไพร ใบจากและอื่นๆ และต่อยอดสร้างแบรนด์สินค้า(ตราสินค้าร่วมชุมชน) เชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยมีกิจกรรมคือ 1.พัฒนาองค์ความรู้การแปรรูปผลไม้ สมุนไพร ใบจากและอื่นๆ 2.จัดทำแบรนด์สินค้า(ตราสินค้าร่วมชุมชน) เชื่อมโยงกับผู้บริโภค 3.เชื่อมโยงวางแผนร่วมกับผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้ผลการดำเนินงานก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าชุมชน
บางมะพร้าว ไม่เพียงทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานของคนในชุมชนเป็นกลุ่ม มีหน่วยงาน อบต.มาหนุนเสริมให้รู้ มีแหล่งต้นทุนคือกุ้งเคยและความรู้ภูมิปัญญาในการทำกะปิที่สืบทอดต่อกันมา ทำให้สามารถดำเนินการพัฒนาไปได้รวดเร็ว ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกกลุ่มอย่างมั่นคง