บทความโดย สุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลมะมุตั้งอยู่บริเวณตอนบนของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พื้นที่ติดต่อกับชายแดนประเทศเมียนมาร์ (Myanmar) ระยะทางยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือน มี 1,655 เรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 4,866 คน แยกเป็น ชาย 2,421 คน และหญิง 2,445 คน
สภาพภูมิประเทศของมีลักษณะเป็นที่ราบค่อนข้างสูง และเป็นภูเขา อาชีพคนส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ เช่น ยางพารา ข้าว ปาล์ม สวนผลไม้ เงาะ มังคุด ทุเรียน เป็นต้น ขณะที่การทำปศุสัตว์เป็นการเลี้ยงแบบครัวเรือน เช่น ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด สุกร วัว กระบือ ฯลฯ
สภาองค์กรชุมชนตำบลมะมุจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ร่วมกับท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่นำไปสู่การพัฒนาตำบลร่วมกัน
ตำบลมะมุมีจุดเด่นคือ มีพื้นที่ในการทำไร่เป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีจะได้รับผลผลิตข้าวไร่เป็นจำนวนมาก มีจำนวนครัวเรือนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้านมีอาชีพการทำไร่ข้าว มีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่น การปลูกข้าวไร่ การลงแขกเกี่ยวข้าว การทิ่มข้าว และมีการเชื่อมโยงภาคี ท้องที่ ท้องถิ่น เอกชนและเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนในทุกๆด้าน ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้างต้น ชุมชนต่างเห็นร่วมว่า ภาพตำบลที่อยากเห็นในอนาคต คือ“แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บนพื้นบานเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำข้าวไร่
แผนงาน 3 ปี
การทำข้าวไร่ของบ้านคลองวัน ตำบลมะมุมีมาทุกๆ ปี ตั้งแต่บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน ปู่ ย่า ตา ยาย สั่งสอนปลูกฝังภูมิปัญญา การทำมาหากินเลี้ยงชีพให้ลูกหลานไม่อดตาย มารุ่นต่อรุ่น มีการพัฒนาพันธุ์ ขั้นตอนการรักษาสืบสายพันธุ์ของบ้านคลองวัน โดยอาศัยหลักของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของผลผลิต ปริมาณ รสชาติ ความคงทนต่อโรค และสภาวะอากาศ ในขณะเดียวกันด้วยภูมิปัญญามีดังกล่าวทำให้คน ลูกหลาน มีความรักสามัคคี โดยอาศัยแนวคิดทางจิตวิญญาณการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในชุมชน คือ การลงแขก เช่น การลงแขกดำนา การลงแขกในไร่ การลงแขกเกี่ยวข้าว โดยการร่วมแรงร่วมมือกัน จึงถือว่าเป็นภูมิปัญญา และปราชญ์แนวคิดในการหล่อหลอมลูกหลานให้เป็นหนึ่งเดียว
แต่ในปัจจุบันท่ามกลางวิกฤตของโลกยุคใหม่ ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ กระแสการแข่งขันของสังคมได้กลืนกินวิถีแห่งจิตวิญญาณ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้เลือนหายไปตามกาลเวลา รากเหง้าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในกระแสของโลกโลกาภิวัตน์ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งยังคงรักษาวิถีภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สืบทอดวิธีการดำรงชาติ การทำมาหากินเพื่อปากท้อง เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ของคนตำบลมะมุ คือ กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลมะมุ
ก่อนจะมาเป็นกลุ่ม ชาวบ้านได้ทำข้าวไร่มาทุกๆปี โดยอาศัยธรรมชาติ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด โดยในยุคปัจจุบันเขาได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส คือ หลังจากโค่นยางที่หมดอายุ และรอการปลูกใหม่ ต้องใช้เวลา 7 ปี ถึงจะได้รับผลก็เลยพลิกวิกฤตในช่วง 3 ปี แรก มาปลูกทำไร่กัน แบ่งสรรค์ปันที่ปลูกกันตามกำลัง ไม่ได้บุกรุกทำลายป่าเมื่อสมัยก่อน แต่ก็ยังคงรักษากลิ่นอายวิถีภูมิปัญญามาดั้งเดิมไว้คือ การลงแขก ปลูกนา เกี่ยวข้าว ซึ่งการทำนาไร่มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากมากนัก โดยอาศัยธรรมชาติผู้ดูแล
เริ่มจากการเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี สมบูรณ์ พันธุ์ที่ต้องการปลูก เพราะข้าวไร่ไม่ต้องการน้ำเยอะ ที่สูงไม่อุ้มน้ำ เตรียมพื้นที่ที่ต้องการปลูกให้สะอาดจากวัชพืช โดยการถากหรือใช้กากมะพร้าวแห้งจุดเผาหญ้า และ เถ้าไปเป็นปุ๋ย ประมาณเดือน เม.ย.- พ.ค. หลังเตรียมพื้นที่เสร็จแล้ว เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน ประมาณเดือน มิ.ย. – ก.ค. ลงมือปลูกข้าวโดยการลงแขกหลายๆ คนมาช่วยกัน มีเครื่องมือ เช่น ลูกสัก ใช้สำหรับแทงดินให้เป็นรูเพื่อหยอดเมล็ดข้าว กระบอกน้ำใช้สำหรับใส่เมล็ดข้าวเพื่อปลูก เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ขนาดพอมือ หลังหยอดข้าวเสร็จก็ปล่อยให้ความชื้นจากน้ำ ดิน ก็ค่อยดูแลกำจัดวัชพืชที่จะขึ้นมาแย่งอาหารของต้นข้าว ประมาณหนึ่งเดือนจากหน่อกลายมาเป็นกอข้าวบวกกับความชื้นของน้ำปน และพื้นดินโดยไม่ต้องอาศัยปุ๋ยใดๆ ทั้งสิ้น ดูจากความเขียวขจี และขนาดของกอข้าว ประมาณเดือนตุลาคม ต้นข้าวสมบูรณ์เต็มที่ เริ่มตั้งท้องจะออกรากและเผยให้เห็นเกสร ประมาณเดือน ต.ค. – พ.ย. ข้าวจะออกรวงเต็มที่ และจะสุกประมาณเดือน ธ.ค. – ม.ค. เริ่มเก็บเกี่ยวได้
ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวก็จะมีพิธีผูกขวัญข้าวโดยใช้ ด้ายขาวด้ายแดงผูกกอข้าวพอประมาณแล้วมัดให้แน่นเพื่อเป็นขวัญศิริมงคล วิธีการนี้เพื่อเป็นการให้ความเคารพนับถือพระแม่ ได้แก่ พระแม่โพสพ คือ ข้าว พระแม่ธรณี คือ ดินที่เราเหยียบย่ำ พระแม่คงคา คือ น้ำที่หล่อเลี้ยงเรา ตามความเชื่อแต่โบราณ
การเก็บเกี่ยวข้าวก็ใช้วิธีการลงแขกช่วยกัน อุปกรณ์อาจใช้เคี่ยวหรือแกละ มัดเป็นฟ่อนหรือกำทำกันโดยใช้ไม้ไผ่เพื่อตากข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แห้งโดยอาศัยแสงแดด จากนั้นก็เอาไปนวด ปัจจุบันใช้รถนวด เพื่อความสะดวก แล้วเก็บเมล็ดข้าวใส่กระสอบ และคัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์แยกไว้เพื่อทำพันธุ์ต่อไป
การแปรรูปข้าว ทางกลุ่มได้นำข้าวไร่ที่เหลือจากการบริโภคในครอบครัวนำไปแปรรูปสีเป็นข้าวสาร ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งได้รับความสนใจจำนวนจนข้าวที่มีไม่เพียงพอสำหรับการขาย
สิ่งที่ค้นพบจากการดำเนินงาน
ที่ผ่านมาคือการทำข้าวไร่สามารถทำได้ในระยะเพียงสามปี จากนั้นจึงต้องย้ายพื้นที่ทำให้ไม่มีความแน่นอนของพื้นที่ และการสนับสนุนจากหน่วยงานไม่ต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จำนวนการทำข้าวไร่ลดลงในอนาคต ด้วยเหตุนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลมะมุจึงได้จัดทำ
พัฒนามาตรฐานการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างช่องทางการตลาดของ “ข้าวไร่อินทรีย์” ตำบลมะมุ และมีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างช่องทางการตลาดของ “ข้าวไร่อินทรีย์” ตำบลมะมุให้พึ่งตัวเองได้ต่อไป