บทความโดย พินทร์อร มะธุระ
ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนยางพารา และอาชีพรับจ้าง ค้าขาย เป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่เป็นที่ราบประกอบด้วยภูเขาเตี้ยๆ และป่าไม้กระจายทั่วทั้งพื้นที่ มีแม่น้ำตรังไหลผ่าน นางจำเนียร ไชยรัตน์ ประธานกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี 2511 ชาวบ้านตำบลเขาโรได้มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าในตำบลเขาโรเป็นสวนยางพาราของชาวบ้านเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านของตำบล
ต่อมา ในปี 2530 ได้มีปัญหาเกี่ยวกับราคายางพาราตกต่ำ รายได้ของชาวบ้านไม่แน่นอน รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวไร่ในระหว่างแถวยางพาราในสวนที่ปลูกใหม่ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้และมีข้าวไว้บริโภคก่อนสวนยางจะเปิดกรีด และอีกอย่างหนึ่งอาชีพนี้ผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ ในการทำข้าวไร่โดยชาวบ้านเน้นหลักการทำกินเอง ไม่ต้องซื้อกิน และเพื่อไม่ต้องการให้ชาวบ้านบริโภคสารเคมีที่เจอปนมากับข้าวสารที่ซื้อมารับประทานจากร้านค้าต่างๆ
ในปี 2537 ได้มีการตั้งกลุ่ม “ปลูกข้าวไร่” โดยมีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 10 คน มีเงินทุนครั้งแรก 2,000 บาท (เป็นการรวมหุ้นของสมาชิกคนละ 200 บาท) ปัจจุบันมีสมาชิก 97 ครัวเรือน ครอบคลุม 5 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 11 หมู่บ้าน และมีเงินทุน 400,000 บาท สมาชิกมีการออมเงินประจำทุกเดือน โดยการออมของสมาชิกเดือนละ 100 – 300 บาทต่อครัวเรือน การปลูกข้าวไร่จะใช้ข้าวสายพันธ์พื้นเมือง อาทิ พันธ์ดอกพะยอม,ข้าวเหนียวพันธ์น้ำผึ้ง,ข้าวพันธ์ข้อดำ,ข้าวพันธ์ภูเขาทอง ซึ่งมีความเหมาะสมกับภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น คุณภาพดี มีความต้านทานโรคและแมลง โดยจะปลูกกันในเดือนสิงหาคม และทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือน ธันวาคมของทุกปี นิยมทำกันปีละครั้ง
การปลูกข้าวไร่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 200 – 300 กิโลกรัม เป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิก 40,000 บาท ดังนั้นในรอบการปลูกข้าวไร่หนึ่งครั้ง จะได้ผลผลิตครัวเรือนละ 1,000 กิโลกรัม/ครัวเรือน
ทางกลุ่มจะเน้นขยายพันธ์ข้าวพื้นเมืองให้กับชาวบ้านในตำบล เพื่อที่จะสนับสนุนการปลูกข้าวไร่ให้เพิ่มมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งจะขายพันธ์ข้าวไร่ให้กับศูนย์วิจัยพันธ์ข้าวกิโลกรัมละ 30 บาท และขายให้กับชาวบ้านในชุมชนกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนบุคคลทั่วไปกลุ่มจะขายให้กิโลกรัมละ 60 บาท นอกจากนี้กลุ่มได้นำข้าวที่เหลือจากการเก็บไว้กินและเป็นเมล็ดพันธ์ข้าวแล้วนำมาแปรสภาพ บรรจุในถุงสุญญากาศออกจำหน่ายในนาม “กลุ่มข้าวไร่เขาโร” จำหน่ายตามงานต่างๆ ในพื้นที่ และในวันสถาปนา สปก. และงานโอท๊อปจังหวัดนครศรีธรรมราช ทุกปี
นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์จากข้าวแล้วยังมีการส่งเสริมกลุ่มให้ทำเกษตรอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เองเพื่อลดต้นทุนในการผลิตและรวมกลุ่มสืบค้นภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน เช่น การรวมกลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือ กลุ่มผลิตเครื่องแกง กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ให้กลุ่มและสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น
และนอกจากนั้นแล้วกลุ่มมีโรงสีข้าวซึ่งเป็นของสมาชิกในกลุ่ม โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คิดค่าขัดข้าวราคาสมาชิกกระสอบละ 20 บาท ส่วนบุคคลทั่วไปกลุ่มคิดเป็นกิโลกรัมๆ ละ 2 บาท ประมาณกระสอบละ 40 บาท
ผลิตภัณฑ์จากข้าวไร่ แปรสภาพเป็นสบู่นมข้าว โดยทางกลุ่มจะผลิตครั้งละ 100 ก้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบจากข้าวไร่ที่มีอยู่ และจำหน่ายในราคาก้อนละ 25 บาท
นางจำเนียร ไชยรัตน์ ได้เล่าต่อว่า ทางกลุ่มได้มีการรวบรวมเอาผลผลิตของสมาชิกที่เหลือจากการบริโภคมาแปรสภาพ บรรจุในถุงสุญญากาศออกจำหน่ายในนาม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองคล้าสามัคคี” นอกจากนี้ยังได้มีการรวมกลุ่มกันผลิตเครื่องแกง โดยใช้วัตถุดิบจากสมาชิกของกลุ่ม การรวมกลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มร้อยลูกปัดมโนราห์ กลุ่มถักผ้าเช็ดเท้า และได้ใช้บ้านของตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเขาโร จัดการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ให้ความสำคัญกับเยาวชนในการประกอบอาชีพเสริมและการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และหวังว่าข้าวไร่เขาโรจะต้องเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป “เมื่อไร่นึกถึงข้าวไร่ ต้องมาที่ตำบลเขาโรเท่านั้น”