บทความโดย อำนาจชัย สุวรรณราช
ชุมชนตำบลปากน้ำเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของประชาชนดั้งเดิมและประชาชนต่างถิ่นที่มาร่วมใจกันสร้างบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยรวมกันขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำหลังสวนตลอดจนถึงบริเวณปากแม่น้ำที่มาบรรจบกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะแก่การประกอบอาชีพการประมงและบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำที่เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์และเป็นจุดที่การเดินทางคมนาคมสัญจรไปมาและขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรได้และรวดเร็ว ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการประมง ทำสวน ทำนา ทำไร่และเลี้ยงสัตว์
นางเยาวลักษณ์ ศรีบูรพา เลขาสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2554 ได้มีการพูดคุยกันของแกนนำองค์กรชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาการทำงานที่ผ่านมาซึ่งเป็นลักษณะของเครือข่ายองค์กรชุมชน หากแต่ยังไม่รวมเป็นกลุ่มกันทั้งตำบล จึงทำให้การดำเนินงานประสานงานกับหน่วยงานต่างๆยังไม่ดีพอ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนมากนัก จึงนำไปสู่การรวมตัวกันจัดตั้งเป็น สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554
เลขาสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวนยังเล่าให้ฟังต่ออีกกว่าได้วิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งพบว่าในพื้นที่มีจุดอ่อนหรือข้อจำกัดที่สำคัญในพื้นที่ได้แก่ การขาดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรบุคลของชุมชน การขาดจิตสำนึกของประชากรในชุมชน ขาดการมีส่วนร่วมของประชากรในชุมชน นโยบายของแผนพัฒนายังไม่ครอบคลุมความต้องการของชุมชน การยังไม่มีกฎระเบียบของชุมชนที่เข้มแข็ง ขาดระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน ขาดการบูรนาการร่วมกันของหน่วยงานในชุมชน ไม่สามารถทำการประมงชายฝั่งได้ในหน้าลมมรสุม ในขณะที่พบว่ามีจุดแข็งหลายอย่าง เช่น มีหาดทรายที่สวยงามและมีระยะทางถึง ๒๕๐๐ เมตร เหมาะแก่การพักผ่อน มีเขื่อนกั้นทรายปากแม่น้ำเหมาะแก่การตกปลาเชิงอนุรักษ์ เป็นชุมชนที่มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีเรือจักรีนฤเบศรจำลองบนชายหาดเป็นที่ประทับของเสด็จในกรมหลวงชุมพร การประสานงานระหว่างหน่วยงานได้รับการตอบรับที่ดี มีสภาองค์กรชุมชนเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรต่างๆในชุมชน และเป็นชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ , และสามัคคี
จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นนำไปสู่แผนพัฒนาเทศบาลตำบลปากน้ำ
โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ คู่การท่องเที่ยว เชี่ยวชาญด้านประมง ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจแบบพอเพียง
ในแผนพัฒนานั้นกิจกรรมหนึ่งที่ถือเป็นภารกิจร่วมกันคือ ตลาดนัดปากน้ำหลังสวน ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณปากแม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ด้วยสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นมีป่าสนบริเวณริมชายหาดปากน้ำหลังสวน จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่นิยมของประชาชนทั้งในพื้นที่และท้องถิ่นใกล้เคียงใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงเย็น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ ในขณะนั้นหลายแห่งเกิดตลาดเปิดท้ายซึ่งปากน้ำหลังสวนก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดตลาดดังกล่าวเนื่องจากมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2548 ได้มีการรวมตัวกันจำหน่ายสินค้าของประชาชนในพื้นที่บริเวณป่าสนซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับตลาดเปิดท้ายขณะนั้น มีการรวมตัวของแม่ค้าประมาณ 50 ราย ด้วยความสวยงามและความสบายของชายหาดปากน้ำหลังสวนประกอบกับการเดินทางที่สะดวกสบาย ทั้งของที่จำหน่ายในตลาดมีความอร่อยจึงทำให้ตลาดดังกล่าวเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันตลาดนัดชุมชนมีจำนวนร้านค้ามากกว่า 200 ร้านค้า ในการดำเนินกิจกรรมจำหน่ายสินค้าของชุมชน ในช่วงแรกมิได้มีการเก็บเงินกับร้านค้าที่เข้ามาจำหน่ายแต่อย่างใด แต่ต่อมาเมื่อตลาดเติบโตมากขึ้นจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆ แม่ค้าในตลาดชุมชนจึงมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการเก็บเงินค่าที่เพื่อนำมาบริการจัดการในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเงินดังกล่าวและดำเนินการบริหารจัดการตลาดนัดชุมชนให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวปรับตัวเป็นตลาดนัดชุมชนปากน้ำหลังสวนอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันตลาดนัดชุมชนปากน้ำหลังสวนมีร้านค้าจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ อาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป อาหารพื้นเมือง เสื้อผ้าและของใช้อื่นๆ ด้วยความโดดเด่นของรสชาติอาหารที่จำหน่ายในตลาดนัดชุมชนปากน้ำหลังสวน ประกอบกับราคาที่ไม่แพงจึงทำให้ตลาดนัดชุมชนปากน้ำหลังสวนเป็นสถานที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้กับชุมชนปากน้ำหลังสวนตลอดมา