บทความโดย อำนาจชัย สุวรรณราช
จากสภาวะในปัจจุบันประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชุมพรประกอบอาชีพค้าขาย เป็นย่านธุรกิจการค้า มีการนำเข้าพืชผักผลไม้จากที่อื่น ซึ่งเป็นการปลูกที่ใช้สารเคมี และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย ทำให้ต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนหลายล้านบาทในการบำบัดรักษา ฉะนั้นสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองชุมพรเล็งเห็นถึงการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร โดยรณรงค์ให้คนในเทศบาลเมืองชุมพรปลูกผักพื้นบ้านและผักปลอดสารเป็นการส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่ม เพื่อให้ประชาชนในเขตเมืองได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษต่างๆด้วย ทั้งยังให้ผู้ปลูกผักพื้นบ้านและผักปลอดสารมีตลาดในการจำหน่ายและได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานสาธารณสุข รวมทั้งเชื่อมโยงสภาองค์กรในตำบลใกล้เคียงเทศบาลเมืองชุมพรเข้าร่วมตลาดด้วย
นางสุนี คงสุผล เลขาสภาองค์กรชุมชนได้เล่าให้ฟังว่า จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ทำเรื่องเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำเกษตรผสมผสานไม่ใช้สารเคมี ผลไม้ปลอดสารมีการปลูกผักปลอดสาร เช่น สวนกล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง กล้วยน้ำว้า ผลักปลอดสาร ทำโรงเห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดแครง ซึ่งหลายพื้นที่ทำเรื่อง ผักปลอดสาร แต่ต่างคนต่างทำต่างคนต่างขาย ไม่ได้รวมกลุ่มกันขาย ไม่มีตลาดกลางระดับอำเภอให้กับผู้ปลูกพืชผักปลอดสารได้มีตลาดกลางให้กับชาวบ้านในแต่ละอำเภอได้มีทางเลือกในการขายสินค้าพืชผักปลอดสาร เป็นตลาดกลางให้ผู้ผลิตได้มีตลาดขายตรง ต่อผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เก่งกำไรต่อผู้บริโภค
จากการวิเคราะห์ของสาธารณะสุขจังหวัด พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีสารปนเปื้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองชุมพร ได้ทำแผนเรื่องผักปลอดสารอาหารปลอดภัยและการจัดหาสถานที่ตั้งตลาดกลางพร้อมทั้งให้สาธารณะสุขจังหวัดรับรองคุณภาพสินค้าด้านอาหารบริโภคที่ปลอดภัยเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านโดยนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ด้านนี้ให้กับหน่วยงานเทศบาลไปแล้วในปี 2559 สภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองชุมพรจะเชื่อมโยงให้เกิดตลาดกลางในทุกอำเภอทั้ง 8 อำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านใน 8 อำเภอมีรายได้เพิ่มขึ้นและถักทอเป็นเครือข่ายใน 8 อำเภอ เป็นกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์เกษตรปลอดสารโดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์เสนอให้เป็นนโยบายจังหวัด เรื่องตลาดทางเลือกของภาคประชาชนคนชุมพรทั้ง 8 อำเภอ
การดำเนินงานดังกล่าว ได้มีการพัฒนาแนวทางการพัฒนาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการปลูกผักปลอดสารพิษและผักพื้นบ้านในชุมชนขึ้นมา ซึ่งมีกรอบเบื้องต้นในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนปลูกผักปลอดสารและผักพื้นบ้าน ดังนี้ 1) ให้ทุนหมุนเวียนรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาท/ปี และปลอดส่งต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน 2) คณะกรรมการตัวแทนชุมชนเป็นผู้ค้ำประกันผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการ 3) ผู้เข้าร่วมโครงการต้องส่งข้อมูลให้แก่โครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด และ 4) ให้มีการพิจารณาโครงการกู้ 2 เดือน/ครั้ง
นอกจากนั้นสภาองค์กรชุมชนได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร มีการสาธิตอาหาร ขนม และน้ำจากผักพื้นบ้าน มีการจำหน่ายผักปลอดสารจากผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ด้วยเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างตรหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อผัก อาหารที่ปลอดภัยสำหรับใช้ประกอบอาหารบริโภคในครอบครัว รวมทั้งการเลือกซื้อผักพื้นบ้านที่ผลิตตามขั้นตอนที่ถูกต้องปลอดภัยนั้นหาได้ยากในระยะนี้เช่นกัน
จากความสำเร็จในเบื้องต้นในการสร้างให้เกิดทางเลือกของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีได้มีโอกาสในการเลือกซื้อผักพื้นบ้าน อาหารปลอดภัยได้สะดวกและรวดเร็ว และมั่นใจในคุณภาพการผลิตได้นั้น ส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อผัก อาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกินความสามารถในการผลิตที่มีอยู่ ดังนั้นคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนจึงได้มีการประชุมหารือกันและมีข้อตกลงว่า จะทำการประสานผู้ผลิตผักอาหารปลอดภัยในสภาองค์กรชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในเมืองต่อไป
ทั้งนี้การดำเนินงานมีปัจจัยสำความสำเร็จที่สำคัญคือ กระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคต่อสารพิษจากอาหารทำให้หันกลับมาซื้อหาผักอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ความร่วมมือกันของผู้ผลิตที่มุ่งมั่นผลิตผักอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานโดยเฉพาะจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และหน่วยงานอื่นๆในการหนุนให้ชุมชนก้าวเดินบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง และสุดท้ายการมีสภาองค์กรชุมชนเป้นกลไกกลางในการเชื่อมโยงงานพัฒนาต่างๆที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นกลางและรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้นั่นเอง