บทความโดย สุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลช่องไม้แก้ว ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ภูเขาที่ราบสูง และค่อยลาดต่ำมาทางทิศตะวันออกของตำบล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกต้นไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียนเงาะ มังคุด ยางพารา กาแฟ และส้มโอ และพืชผักต่างๆ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เลี้ยงตามธรรมชาติ เช่น สุกร เป็ด ไก่ เพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรม 70 % อาชีพพาณิชกรรม 10% อาชีพประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมหัตถกรรม 5% รับจ้าง 10% และอื่นๆ 5%
นาย โกศล บัวชาวเกาะ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลช่อไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่ตำบลมีการรวมกลุ่มองค์กรชุมชนหลากหลาย ดังเช่น กลุ่มกองทุนหมู่บ้านมีจำนวน 8 กลุ่ม กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ 8 กลุ่ม กลุ่มพัฒนาสตรี 8 กลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 8 กลุ่ม กลุ่ม อสม.8 กลุ่ม กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล 7 กลุ่ม กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยางพารา 1 กลุ่ม กลุ่มชาวสวน 3 กลุ่ม สหกรณ์การเกษตร 1 กลุ่ม กลุ่มผลิตขนมทองม้วน 1 กลุ่ม กลุ่มเลี้ยงไก่ชน 1 กลุ่ม กลุ่มผู้ปลูกกาแฟ 2 กลุ่ม กลุ่มผู้ใช้น้ำ 1 กลุ่ม และกลุ่มเพาะเห็ดฟาง 3 กลุ่ม ซึ่งการมีกลุ่มหลากหลายทำให้ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนหากแต่ในพื้นที่ยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง การไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาหนี้สิน และที่สำคัญคือการขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนในการร่วมกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ และด้วยเหตุผลนี้เองในช่วงปี 2553 ทางแกนนำชุมชนได้ปรึกษาหารือกันจนนำไปสู่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลช่องไม้แก้วขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีกลุ่มที่มาจดแจ้งรวม 15 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน
ภายใต้ฐานทุนชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายในปัจจุบันมีกลุ่มผลิตเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการเพาะเห็ดตลอดทั้งปี และมีเกษตรกรบางส่วนจะทำการเพาะเห็ดเฉพาะช่วงฤดูกาลระยะเพาะประมาณ 5 เดือน โดยมีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มจำนวน 60 ครอบครัว (ที่ดำเนินการต่อเนื่อง) ซึ่งการเพาะเห็ดของที่นี่เน้นนำความรู้และวัสดุที่หาได้ในชุมชนเป็นหลักนั่นคือทะลายปาล์ม ทั้งนี้การเพาะเห็ดสามารถใช้วัสดุเพาะได้หลายชนิด เช่น เปลือกถั่วเขียว กากมันสำปะหลัง ผักตบชวา ชานอ้อย ขี้เลื่อยไม้ยางพารา และทะลายปาล์มน้ำมัน ก็เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพราะสามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ดี ไม่แพ้กับการเพาะด้วยฟางข้าว และเหมาะในการเพาะในพื้นที่สวนยางพารา เกิดการเกื้อกูลกันของพืช ต้นยางพาราสร้างร่มเงาและแสงแดดรำไรช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดี และเมื่อเห็ดหมดดอก ทะลาย ปาล์มก็จะกลายมาเป็นอาหารอย่างดีให้กับต้นยางพาราด้วย ในพื้นที่สวนยางพารา สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเห็ดจะประกอบด้วย ทะลายปาล์ม เชื้อเห็ดฟาง หรือเห็ดอื่น ๆ ที่ต้องการ ผ้าพลาสติกความยาวม้วนละ 70 เมตร ไม้ไผ่สำหรับขึงผ้าพลาสติก และพื้นที่ ที่ใช้เพาะเห็ด
สำหรับขั้นตอน เริ่มจากนำทะลายปาล์มมากองรวม ล้อมกันเป็นวงกลม ฉีดน้ำ 2 วันต่อหนึ่งครั้ง คลุมด้วยผ้าพลาสติก รอประมาณ 3-7 วัน เพื่อให้ทะลายปาล์มชุ่มน้ำ ก่อนนำเอามาใช้ เตรียมพื้นที่โดยการถางหญ้ารอบ ๆ สวนยางพาราออก ซึ่งน้ำส่วนใหญ่จะใช้บริเวณร่องยางพารา โดยเลือกพื้นที่ที่มีร่มเงา อากาศถ่ายเทได้สะดวก แล้วจึงนำทะลายปาล์มมาวางเป็นร่องตามช่องว่างของต้นยาง ความยาวประมาณ 5 เมตร ฉีดน้ำลงบนทะลายปาล์ม เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก โรยเชื้อเห็ดลงบนร่องที่เตรียมไว้ โดย 1 ร่อง ใช้เชื้อ 3 ก้อน โรยเชื้อก้อนละ 1 เมตร รอประมาณ 3 วัน ขึ้นโครงไม้ไผ่เป็นแนวไว้สำหรับขึงผ้าพลาสติกประมาณ 4-5 โครง ดัดให้โค้งเป็นแนวยาว คลุมผ้าพลาสติกตามแนวโครงไม้ไผ่ 1 ร่อง ใช้ผ้าพลาสติกประมาณ 7 เมตร เสร็จแล้วรอประมาณ 79 วัน เห็ดก็จะงอก สามารถเก็บไปขายได้
จากข้อมูลพบว่าสมาชิกสามารถเพาะเห็ดได้เฉลี่ย 3-6 ก.ก. ต่อวัน คิดเป็นรายได้ 120 บาทต่อวัน (ราคาเห็ด ก.ก. ละ 30-35 บาท) มีระยะการปฏิบัติงาน 20 – 25 วัน ต่อเดือน ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นมูลค่า 3,000-4,000 บาท ต่อเดือน
กล่าวโดยรวมแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม ก่อให้เกิดผลสำเร็จที่สำคัญคือ 1) เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกร เดือนละ 3,000 – 5,000 บาท 2) เป็นการทำกิจกรรมอาชีพแบบครบวงจร โดยมีพ่อค้านำทะลายปาล์มและวัสดุอื่นมาจำหน่าย และรับซื้อเห็ดฟางถึงในไร่นา เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเสี่ยงกับภาวะด้านการตลาด และราคาผลผลิต และ 3) เศษทะลายปาล์ม สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชอื่น เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนถาวรต่อไป ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมามีปัจจัยความสำเร็จ คือ เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นกลุ่มอาชีพที่มั่นคงในโอกาสต่อไป มีการใช้เวลาว่างจากการประกอบกิจกรรมอื่นให้เกิดประโยชน์ เป็นการกระจายแรงงานที่เหมาะสม และครอบครัวเกษตรกรเองมีอาหารประเภทผัก ไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นการเพิ่มอาหารโปรตีน และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย