โดย นายสุวิทย์ จันทวงษ์
ตำบลไทรโสภา อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่โดยประมาณ 98 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 63,700 ไร่ ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน จำนวน 2,240 ครัวเรือน ประชากร 6,106 คน เป็นหญิง 2,995 คน ชาย 3,111 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยแยกมาจากตำบลไทรขึง มีต้นไทรที่สวยงาม และมีแหล่งธรรมชาติ ที่มีตาน้ำไหลมาจากภูเขาทั้งปี จึงได้ชื่อว่าตำบลไทรโสภา มีคำขวัญ “อุทยานอ่างน้ำร้อนบ้านต้นไทร สักการะเลื่อมใสหลวงพ่อโทน น้ำตกแก่งโตนที่สวยงาม เลื่องชื่อลือนามไทรโสภา”
ตำบลไทรโสภา มีสภาพภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่สูง สลับกับที่ราบ จากตอนเหนือสู่ตอนใต้ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การปลูกพืชไร่และพืชสวน มีอาชีพหลักคือ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือคลองอิปันไหลผ่าน
ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ มีการลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมี ทำให้ต้นทุนสูงและเสี่ยงต่อโรค ดินเสื่อมสภาพ และราคาพืชผลยังตกต่ำทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งทำให้เป็นปัญหาของคนในชุมชน เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการหารายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว
อย่างไรก็ดีตำบลไทรโสภามีการรวมกลุ่มต่างๆ ที่รวมตัวแก้ปัญหาของตนเอง เป็น “สภาองค์กรชุมชนตำบลไทรโสภา” โดยมีการรวมกันของทุกกลุ่มในตำบล รวมทั้งหมด 37 กลุ่ม และจดแจ้งจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 เพื่อใช้เป็นเวทีกลางนำปัญหาของชาวบ้านมาพูดคุยและหาทางแก้ไขรวมกัน
จากการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลไทรโสภา ได้ข้อสรุปชาวบ้านประสบปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รายได้น้อยแต่ภาระค่าใช้จ่ายมีมาก จำเป็นที่จะต้องมีอาชีพเสริมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จึงมีแนวคิดในเบื้องต้นดำเนินการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดย การปลูกพืชเศรษฐกิจแซมในสวนและที่สาธารณะต่างๆ การปลูกข้าวไร่แซมในสวนก่อนที่จะได้รับผลผลิตจากพืชเชิงเดียว และปลูกพืชผักต่างๆ แล้วใช้เป็นวัตถุดิบมาผลิตผลิตภัณฑ์เป็นการส่งเสริมอาชีพการทำเครื่องแกง
หลังจากได้มีมติร่วมกันจากสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลไทรโสภาทั้ง 37 กลุ่ม มีองค์การบริหารส่วนตำบลไทรโสภาเป็นที่ปรึกษา จากนั้นก็ได้มีการสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 30, 000 บาท เป็นทุนเริ่มแรก วิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เมล็ดพันธ์ข้าวจากองค์การยางแห่งประเทศไทย สาขาพระแสง
พืชที่ปลูกแซมในสวนและตามหัวไร่ปลายนา ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พริกไทย ตะไคร้ ผักเหรียง มะเขือ พริก เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียเงินซื้อาหาร และเริ่มมีเหลือขายสร้างรายได้อีกด้วย
ส่วนการปลูกข้างพื้นจะเป็นข้าวไร่ เริ่มได้ผลแล้วซึ่งจะทำให้ข้าวปลอดสาร บริโภคภายในครัวเรือน และแบ่งปันให้เพื่อน ๆในชุมชนได้อีกด้วย แต่การทำงานก็ต้องค่อยทำไปเรื่อยๆ เนื่องจากชาวบ้านยังไม่เข้าใจและขาดความรู้ คุ้นเคยกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นอาชีพหลัก จึงต้องพยายามทำความเข้าใจ จัดอบรมให้ความรู้จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอและวิธีดำเนินการจากวิทยากรชุมชนในพื้นที่
จากการทำงานชาวบ้านไทรโสภาพบว่ากการปลูกพืชแซมในสวนและที่สาธารณะทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มขึ้นจำนวน 100 ครัวเรือน ,มีการลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางเกษตรจำนวน 50 แปลง ประมาณ 3,000 ไร่ ส่งผลให้มีการพัฒนาการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนที่สมดุลกันและมีมูลค่าเพิ่ม โดยในอนาคตจะขยายพื้นที่ และจำนวนครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 50 ของประชากร ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรให้เกิดระบบการผลิตที่มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาไปสู่ระบบการตลาดในชุมชนอันจะส่งผลถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมั่นคงตลอดจนสามารถนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เช่น การรวมกลุ่มแม่บ้านนำผลผลิตชุมชนไปแปรรูปเป็นเครื่องแกงเป็นต้น
การดำเนินงานครั้งนี้เป็นบทสะท้อนการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางในการนำปัญหาของชาวบ้านมาพูดคุยและหาทางแก้ไขปัญหารวมกัน นำไปสู่การบริหารจัดการที่มีศักยภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ การลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน