โดย พินทร์อร มะธุระ
เทศบาลตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 120 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 61,164 ไร่ หรือประมาณ 97.86 ตารางกิโลเมตร ตำบลท่ายางแบ่งเขตการปกครองเป็น 12 หมู่บ้าน มีประชากร 9,237 คน 1,612 ครัวเรือน แยกเป็นชาย 4,698 คน และหญิง 4,539 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน
เมื่อปี 2551 เทศบาลตำบลท่ายาง จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลท่ายางขึ้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาสมาชิกชุมชนให้เกิดความรัก ความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน 2) เพื่อให้มีการบริการด้านสวัสดิการครอบคลุมใน 7 ชุมชน 3) เพื่อส่งเสริมสมาชิกในชุมชนให้เกิดความสำนึกมีความรับผิดชอบร่วมกัน 4) เพื่อฝึกความมีวินัยและความซี่อสัตย์ และ 5) เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการจัดการบริหารสวัสดิการกองทุน มีจำนวนสมาชิกกองทุนแรกก่อตั้งจำนวน 106 คน เงินทุน 51,100 บาท
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลท่ายาง มีสมาชิก 551 คน เงินทุนจำนวน 1,383,148.62 บาท สมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไป 230 คน,เด็ก/เยาวชน 70 คน,ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 200 คน,ผู้ด้อยโอกาส/ ผู้พิการ 51 คน มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสวัสดิการเสียชีวิต 20 คน งบประมาณ203,750 บาท,สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 108 คน งบประมาณ 62,050 บาท,สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 12 คน งบประมาณ 24,000 บาท,สวัสดิการคนด้อยโอกาส/คนพิการ 18 คน งบประมาณ 9,000 บาท,สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 2 คน งบประมาณ 1,000 บาท และ สวัสดิการเพื่อการศึกษา 17 คน งบประมาณ 8,500 บาท
นายวิเชียร ทัศเขียว เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2558 กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลท่ายาง มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการ อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการหาช่องทางสร้างรายได้ และการเพิ่มสมาชิกกองทุนสวัสดิการ จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกข้าวไร่เพื่อเป็นอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ช่วยให้สมาชิกประหยัดรายจ่าย และมีข้าวเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงการอนุรักษ์อาชีพการปลูกข้าวไร่และประเพณีลงแขกให้อยู่คู่กับชุมชน
“ข้าวไร่” คือ ข้าวที่ปลูกได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชัน บริเวณที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไร่ควรมีปริมาณน้ำฝน 130-140 มิลลิเมตรต่อเดือน ช่วงเวลา 4-6 เดือนติดต่อกัน ไม่ต้องทำคันนากักเก็บน้ำ การเตรียมดินปลูก ทำในขณะดินแห้งพอประมาณ นิยมปลูกกันมากในบริเวณที่ราบสูงตามไหล่เขาทั้งทางภาคใต้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณร้อยละ 10 ของประเทศ
กองทุนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ จำนวน 30,000 บาท ให้แก่สมาชิก จำนวน 8 คน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเท่านั้น เพื่อเป็นทุนในการจัดทำแปลงข้าวไร่และซื้อเมล็ดพันธ์ข้าว ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการปลูกข้าวไร่เฉลี่ยไร่ละ 2,700 บาท ใช้ข้าวไร่พันธุ์ภูเขาทอง ได้ผลผลิตรวม 264 กิโลกรัม แบ่งผลผลิตออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จำหน่ายเพื่อนำเงินที่ได้คืนให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน และส่วนที่ 2 แบ่งให้กับสมาชิกเพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และเป็นเมล็ดพันธุ์ในการปลูกครั้งต่อไปปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน
นายวิฑูรย์ รสมาลี ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่ายาง เล่าว่าการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าชาวบ้านมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคนว่างงาน รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในครัวเรือน สมาชิกได้เสนอแนวคิดที่จะปลูกขาวไร่แซมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ ปลูกข้าวไร่ในช่วงเดือนกรกฎาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ในการปลูกจะใช้ข้าวพันธุ์ภูเขาทอง และ ข้าวพันธุ์ สังข์หยด เนื่องจากข้าวสายพันธุ์ภูเขาทองปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีทนแล้ง เหมาะสำหรับปลูกเป็นข้าวไร่ในภาคใต้บ้านเรา และ ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน การชูรวงดี คอรวงยาวเหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวด้วยแกะ ค่อนข้างต้านทานโรค มีกลิ่นหอม โดยทำเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และในส่วนของ ข้าวสังข์หยด เป็นข้าวที่มีคุณภาพ ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี และที่สำคัญเมื่อหุงสุกแล้ว ข้าวสังข์หยดจะมีความอ่อนนุ่ม ค่อนข้างเหนียว ทำให้ย่อยง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุ ข้าวสังข์หยดยังมีคุณค่าทางด้านโภชนาการมากมาย รวมถึงช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ได้
ปัญหาการปลูกข้าวไร่แซมสวนยาง คือ มีศัตรูพืชจำนวนมากที่ทำลายเมล็ดพันธุ์ข้าวทำให้ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการปลูกข้าวไร่ของตำบลท่ายาง ไม่ใช้ยาสารเคมีในการปราบศัตรูพืช แต่เน้นให้สมาชิกใช้น้ำหมักปราบศัตรูพืชและใช้ปุ๋ยชีวภาพในการบำรุงต้นข้าวและดิน
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไร่แซมสวนยาง กลุ่มปลูกข้าวไร่จะใช้วิธีการ “ลงแขก” ซึ่งเป็นการอนุรักษ์
ประเพณีวิถีชุมชนดั้งเดิม รวมถึงการส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มมีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกด้วย
“ในการส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ของเรานั้น เป็นการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่คนชุมชน และสามารถยกระดับเป็นจุดรวบรวมผลผลิตข้าวไร่ที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตคนทำนา “ข้าวไร่” เทศบาลตำบลท่ายาง นายวิฑูรย์ รสมาลี กล่าวทิ้งท้าย