ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ตำบลชนแดนกับตำบลอ่าวตง อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง และตำบลลำนาว อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่างจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 75 กิโลเมตร ดินแดงประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 87 ตารางกิโลเมตร หรือ 54,375 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและเนินสลับกัน ทางด้านตะวันออกและส่วนกลางของหมู่บ้านจะมีภูเขาครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 3 ส่วนอีก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4, 5 และ 6 พื้นที่ลาดชัน ด้วยสภาพดินส่วนใหญ่ที่เป็นดินสีแดง มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชต่างๆ จึงตั้งชื่อตำบล “ดินแดง” และมีคำขวัญที่สะท้อนอัตลักษณ์ว่า “ชนหลากถิ่น ดินสีแดง แหล่งแร่หิน ถิ่นกาแฟ” ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ การทำเกษตรกรรม รองลงมาคือ ค้าขายและรับจ้าง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล กาแฟ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ หิน แร่โดโลไมต์
นายณัฐพงษ์ คงสุดรู้ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดินแดง เล่าให้ฟังว่า คนดินแดง มาจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งนคร สุราษฎร์ พัทลุงและตรัง กลุ่มคนแรกๆ ที่มาอยู่ที่นี้ปัจจุบันอายุประมาณ 25-30 ปี ส่วนใหญ่มาบุกป่าถางพงทำสวนกาแฟ ช่ระยะแรกมาเฉพาะคนหนุ่ม เมื่อเป็นถางป่าทำไร่ ทำสวน จึงเริ่มมีผู้หญิงและเครือญาติ มาสมทบสร้างบ้านขยายพื้นที่จนเป็นหมู่บ้าน และยกฐานะตำบลในปัจจุบัน”
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การตั้งรกรากและการประกอบอาชีพของคนดินแดง จึงพึ่งพาระหว่างธรรมชาติและวิถีเกษตรแบบเพื่อการเลี้ยงชีพมากกว่าการทำแบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือเกษตรเพื่อการค้า ในหลายหมู่บ้านมีการอนุรักษ์ป่าไม้เป็น ป่าชุมชน เช่น ป่าชุมชนบ้านปลายทับใหม่ นอกจากนี้ดินแดง ยังมีสำนักสงฆ์หรือวัดถ้ำหลายแห่ง เช่น สำนักสงฆ์ถ้ำดินแดง วัดถ้ำบุญรักษาภูผาราม วัดถ้ำขนมโค
คุณลุงผัน พรหมทอง อายุ 79 ปี ชาวบ้านบ้านปลายทับใหม่ เล่าถึงวิถีชีวิตคนในตำบลว่า “ลุงอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง ตอนนี้ทำงานได้ปกติ เวลาว่างๆ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม–มีนาคม ก็จะไปเก็บดอกไม้กวาดจากในป่าตามเชิงเขาหรือพื้นที่สูงมาทำไม้กวาดขาย เนื่องจากในพื้นที่ตำบลดินแดงจะมีดอกไม้กวาดขึ้นอยู่ตามป่าจำนวนมาก โดยการทำไม้กวาดของลุงจะใช้หวายมัดแทนเชือกพลาสติก ไม้กวาดมีความคงทนแข็งแรง ที่สำคัญราคาถูก เพียงแค่อันละ 100 บาท มีรายได้เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท ถือเป็นรายได้เสริมของลุงในยามว่าง”
คนดินแดงควรจะดำรงวิถีชีวิตอย่างปกติสุข พึ่งตนเอง พึ่งพากันเอง และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่หลายครั้งของการพัฒนาประเทศ หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ดินแดงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูเขา ป่าไม้ และแหล่งแร่โดโลไมต์ อย่างมากมาย จึงเปรียบเสมือนชนวนระเบิดเวลาที่นักลงทุนจะมีกดทำลายชุมชนได้ตลอดเวลา หากพื้นที่ไม่มีความเข้มแข็ง คนขาดความสามัคคี ผู้นำไม่เอาใจใส่ประชาชน แต่ไม่ใช่ที่ดินแดงแห่งนี้
นายพิศิษฎ์ เป็ดทอง ชาวบ้านดินแดง ให้ข้อมูลว่า “ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ในพื้นที่ตำบลดินแดง รวมเนื้อที่ กว่า 57 ไร่ ต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ และมีการจดทะเบียนรับคำขอไว้ ก่อนจะออกทำการสำรวจรังวัดกำหนดแนวเขตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพื้นที่นี้เป็นป่าที่สมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ อำเภอลำทับเรา ภูเขาพลูเป็นภูเขาที่อยู่ในแนวเขาเดียวกับวัดถ้ำบุญรักษาภูผาราม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การจะระเบิดภูเขาพลู จึงเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ที่คนกรระบี่ต่างภาคภูมิใจไปด้วย”
สภาองค์กรชุมชนตำบลดินแดง โดยนายเสริม เขียวเข็ม ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดินแดง และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดินแดง ตำบลดินอุดม ตำบลลำทับ และตำบลลำนาว รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้รวมตัวกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านคัดค้านการขอประทานบัตร ที่ลานวัดถ้ำบุญรักษาภูผาราม หมู่ 3 ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน จัดเวทีเรียกร้องให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทบทวนการเตรียมออกประทานบัตรทำเหมืองแร่โดโลไมต์ในพื้นที่กว่า 57 ไร่ บริเวณภูเขาพลู ด้วยมีความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพ การประกอบอาชีพ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป ด้วยภูเขาและถ้ำส่วนใหญ่ในตำบลดินแดงเป็นแหล่งสายน้ำใต้ดิน และเป็นต้นน้ำในเขตอำเภอลำทับและอำเภอบางขัน
นายเสริม เขียวเข็ม กล่าวว่า “การขอประทานบัตรของบริษัทเอกชน เป็นการสร้างผลกระทบต่อชุมชน จึงขอใช้ พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 21 (6) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการให้ ความคิดเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือ ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดําเนินการหรือเป็นผู้ อนุญาตให้ภาคเอกชนดําเนินการต้องนําความเห็นดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาด้วย”
โดยที่ประชุมของสภาองค์กรชุมชนตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ คัดค้านการขอสัมปทานเหมืองแร่โดโลไมต์ เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน พร้อมเตรียมนำพื้นที่ภูเขาพลู ทำเป็นป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกัน และพร้อมสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้เกษตร ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีในพื้นที่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านต้องการผลักดันพื้นที่ ม.3 ต.ดินแดง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดของพระยาช้างเผือกคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ และจังหวัดก็คัดเลือกให้พื้นที่ หมู่ 1 หมู่ 3 และ หมู่ 5 เป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี จึงขัดแย้งกันหากพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเหมืองแร่
นายมนัส แสนภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดินแดง กล่าวทิ้งท้ายว่า “ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการสัมปทานเหมืองแร่โดโลไมต์ ผมเองเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ก็เห็นร่วมกับชาวบ้านที่ต้องไม่มีการสัมปทานเหมืองแร่ต่อไป ผมเห็นด้วยครับ เห็นด้วยกับประธานสภาองค์กรชุมชน เห็นด้วยกับผู้ใหญ่บ้านที่เสนอมา ต่อไปจะไม่มีการสัมปทานเหมืองแร่ทุกชนิดในตำบลดินแดง และจะนำพื้นที่ภูเขาพลูมาทำป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และป้องกันการเข้ามาขอสัมปทานของกลุ่มทุนในอนาคตข้างหน้า”
การร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่ดินแดง แสดงออกถึงความเข้มแข็งและความรัก หวงแหนในวิถีชุมชนท้องถิ่น ที่ทุกคนต่างคิดเห็นที่จะรักษาให้คงอยู่คู่คนดินแดง และลูกหลานไปอย่างมั่นคง หากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสการพัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในหลายพื้นที่เราคงจะพัฒนาไปไกลและสร้างความมั่นคง ยั่งยืนได้โดยไม่ต้องเทเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อให้คนเกิดความรักสามัคคีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลอย่างที่ผ่านๆ มาอย่างแน่นอน
บทความโดย พอช.สำนักงานภาคใต้