บทความโดย สุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ประชากร รวมทั้งสิ้น 6,876 คน 1,213 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกรีดยางพารา และทำสวนผลไม้ รับจ้างทั่วไป
ในตำบลกาตองมีกลุ่มองค์กรชุมชนหลายกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนสวัสดิการชุมชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ปัจจุบันมีสมาชิก 785 คน จากสมาชิกทั้งหมดของ 6 หมู่บ้าน จำนวน 6,876 คน คิดเป็น 12% ของประชากรทั้งหมด เพื่อต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มและเกิดการช่วยเหลือด้านสวัสดิการเข้าถึงครอบคลุมคนในชุมชน และให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี เป็นคนดี
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล มีการดำเนินการเชื่อมโยงงานกับ สภาองค์กรชุมชนตำบลกาตอง ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ตามวิถีวัฒนาธรรมของชุมชน โดยพี่น้องมุสลิมในชุมชนรวมกลุ่มกันพัฒนาอาชีพ เช่น กลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพ น้ำพริกกุ้งเสียบ และกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงประจำตำบล กลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านเจาะตาแม กลุ่มสตรีอุปกรณ์ขันหมาก เป็นต้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2549 มีการพูดคุยหารือกันบนปัญหาเรื่องการจัดสวัสดิการภาครัฐที่ไม่เข้าถึงภาคประชาชนอย่างทั่วถึง จึงเริ่มต้นหารือกันในส่วนของชุมชน สอดคล้องกับการสนับสนุนงบประมาณโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สมทบกองทุนสวัสดิการเพื่อเกิดการหนุนเสริมที่ยั่นยืน และยังมีการสมทบจากท้องถิ่นในการดูแลสวัสดิการของคนในท้องถิ่น และกองทุนก็ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน
การทำงานจะมีตัวแทนจากทุกหมู่บ้านมาเป็นคณะกรรมการ มีการแบ่งหน้าที่การทำงานเป็นฝ่ายๆ ปัจจุบัน 1,774,834.00 บาท โดยมีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก จำนวน 9 ประเภท ได้แก่ 1. สวัสดิการกรณีเสียชีวิต 2.สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 3.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 4.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/คนพิการ 5.สวัสดิการค่าตอบแทนคณะกรรมการ 6.สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม 7.สวัสดิการผู้สูงอายุ 8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 9.สวัสดิการอื่นๆ
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนทำให้สมาชิกได้รับสวัสดิการต่างๆตามที่กองทุนได้จัดให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึง สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพ ฟื้นฟูช่วยเหลือคนพิการ และผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาอาชีพให้กับสตรีที่ว่างงานให้มีอาชีพทำแล้วยังจัดกิจกรรมให้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย
นอกจากนี้สวัสดิการชุมชน ยังมีการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม เช่น วันขึ้นปีใหม่ เข้าสุนัตเด็กอิสลาม รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการภัยพิบัติ น้ำท่วม ด้านส่งเสริมสุขภาพ เช่น กีฬาประเพณี เดินเพื่อสุขภาพ แฮโรบิก และสาธารณประโยชน์ เช่น พัฒนาหมู่บ้านทุกๆเดือน มีเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับฐานรากเข้าถึงสวัสดิการ เกิดความรัก ความสามัคคี การดูแลแบบพี่น้อง และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการดำรงชีวิต วิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
นอกจากประสานกับชุมชนด้วยกันเองแล้ว ท้องถิ่นก็เห็นความสำคัญร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนทุกปี และเพื่อให้มีการหนุนเสริมชาวบ้านได้อย่างครอบคลุม จึงมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกให้ได้ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดภายใน ปี 2563 และจะเน้นสวัสดิการด้านการส่งเสริมอาชีพให้มากขึ้น โดยการประสานการทำงานกับภาคีทุกภาคส่วน