ประชาชนตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ปากแม่น้ำและเมืองท่าชายฝั่งทะเล มีพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่ทับซ้อนกับดินป่าชายเลน ดินเจ้าท่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมจึงมีข้อติดขัดมากมาย หน่วยงานต่างๆ แม้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ติดขัดด้วยข้อกฎหมาย จึงทำให้มีความหนาแน่นแออัดของบ้านเรือน มีครัวซ้อนในหนึ่งหลังหลายครอบครัว สภาพบ้านเรือนไม่สามารถ ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรมั่นคง เนื่องจากสภาพความไม่ชัดเจนของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเกิดการรวมตัวกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มก่อตัวรวม กลุ่มของผู้เดือดร้อน จำนวน 7-8 คน มีนางสุกัญญา พรหมแทนสุด เป็นแกนนำในการประสานงานไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ปัญหาด้วยรกระบวนการสำรวจข้อมูลเมือง ปัญหาที่ดิน ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เพื่อเข้าใจประวิติศาสตร์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมการค้นหาคน/แกนนำชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตนเอง/สร้างทีมระดับชุมชน-เมืองเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาชุมชน นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนารายชุมชน และแผนพัฒนาทั้งเมืองนำเสนอแผนต่อหน่วยงาน/ภาคี
จากการสำรวจข้อมูลทั้งเมือง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ คือ มีฐานทรัพยากรธรรมที่สำคัญทั้งทะเล ภูเขา สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น (วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันระหว่าง พุทธ อิสลาม จีน) การหาหอยแครงแบบวิถีดั้งเดิมใช้ดานแผ่นเดียวถีบ การทำเคยธรรมชาติ ภูมิปัญญาการต่อเรือและการทำโมเดลเรือ การเพาะเลี้ยงพันธ์กล้วยไม้ มีฐานทุนเดิมในการขับเคลื่อนงานทั้งกลุ่มองค์กร คนทำงานและความร่วมมือของผู้นำ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนให้การส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณในการประกอบอาชีพ และนโยบายกาจัดการที่ดินของป่าชายเลนที่เอื้อต่อการพัฒนาในพื้นที่ป่าชายเลน ในขณะเดียวกันก็พบปัญหาหลายประการ เช่น บ้านชำรุด ทรุดโทรม บ้านอีโห๊ะ บ้านมีแต่ตอม้อ สภาพชุมชนแออัด ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ในที่ดินเจ้าท่า ดินป่าชายเลน ดินนายทุน สิ่งแวดล้อม ขยะ/น้ำเสียไม่มีการบำบัดจากครัวเรือน สังคมผู้สูงอายุเยอะ คนพิการ หญิงหม้าย เด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน วัยรุ่นแต่งงานก่อนวัย ยาเสพติด และปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สินนอกระบบ ว่างงาน ภัยคุกคาม นโยบายภาครัฐ กฎหมายส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม เช่นการกำหนดการใช้เครื่องมือประมงชายฝั่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปวางแผน สู่เป้าหมาย “พัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งเมือง”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เริ่มมีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก้ปัญหาผู้เดือดร้อนทั้งเมือง ทุกชุมชนโดยการประสานหน่วยงานเจ้าของที่ดิน นำไปสู่การออกแบบวางแผนพัฒนาทุกมิติ โดยมีแนวทางการดำเนินงานในที่ดินป่าชายเลนร่วมกัน คือ
- มีการกันแนวเขตเป็นแปลงใหญ่รายชุมชนอย่างถาวร ชั่วลูกชั่วหลาน ครัวขยายสามารถสร้างบ้านเพิ่มได้แต่อย่าล้ำไปนอกแนวเขต
- กำหนดขอบเขตประเภทการใช้สอย เขตป่าเลนใช้สอย เขตป่าอนุรักษ์ ป่าเสื่อมโทรมกันเป็นที่อยู่อาศัย และช่วยกันดูแลแนวเขต (เป็นเหมือนหลักโฉนดของคนในชุมชน)
- จับพิกัดตำแหน่งบ้าน ขอบเขตชุมชนและการถือครองที่อยู่อาศัยของชุมชน
- อนุญาตการอยู่อาศัยรายชุมชนตามนแนวทางการจัดการที่ดินป่าชายเลนของกระทรวงทรัพฯ ตามนโยบายการจัดการที่ดิน คทช. สร้างกฎ กติการ่วมบ้านร่วม
จากการประชุมร่วมกับสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 25 (สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9) มีแผนดำเนินการในระยะต่อไปร่วมกับชุมชนแหลมสัก คือ สร้างกฎกติการ่วมบ้านร่วม ในเรื่องการสร้างบ้าน เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน จัดทีมอาสาสมัครดูแลป่าชายฝั่ง ฟื้นฟู ปลูกเสริมและการใช้อย่างยั่งยืน อนุบาลปูไข่นอกกระดอง กระชังปูม้า และการจัดการขยะร่วมกัน สำหรับที่ดินเจ้าท่า มีการหารือเจ้าท่าสาขากระบี่ โดยมีการสำรวจเพื่อรับรองครัวเรือนอาศัยเขตเจ้าท่าเพื่อดำเนินการตามเงื่อนไข
นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ยังสนับสนุนการออมเงินเป็นรายเดือนๆละ 170 บาท/คน โดยแบ่งเป็น 1) สัจจะ 2) สวัสดิการ 3) ที่อยู่อาศัย และ 4) รักษาดินรักษาบ้าน
จากกระบวนการสำรวจเพื่อพัฒนาเมืองแหลมสักสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยกรณีชุมชนอยู่ในที่ดินของรัฐ (ป่าชายเลน และกรมเจ้าท่า) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ในการปรับปรุงและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภค การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ ประชาชน จำนวน 427 ครัวเรือน มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและที่ดิน ที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องในระยะยาวชั่วลูกชั่วหลาน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความรักความสามัคคี มีความรักถิ่นฐาน มีขวัญและกำลังใจในการที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรในทะเลและผืนป่าชายเลน เกิดข้อตกลงร่วมของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเห็นคุณค่า
ที่สำคัญชุมชนเกิดการตื่นตัวในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เกิดอาสาสมัครผู้นำชุมชนที่เป็นคนใหม่ๆ ที่เป็นผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเองเป็นจำนวนมาก