เรียบเรียงโดย ฟาริด้า ยะหรี่
ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กลางหุบเขามีภูเขาหลวงล้อมรอบอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าต้นน้ำ มีน้ำตกกระโรมและน้ำตกโยงและคลองเขาแล้วซึ่งในอดีต เป็นเส้นทางเดินเรือค้าขายกับต่างอำเภอ โดยคนเขาแก้วมีอาชีพเกษตรกร เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ และรับจ้างปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้น แต่ในฤดูฝนด้วยสภาพที่เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขาทำให้เกิดน้ำหลากดินสไลด์ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประชาชน เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ การเกษตรสิ่งที่ตามมาคือรายได้ในครัวเรือนลดลง
ในตำบลเขาแก้วมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่มีสมาชิกประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด เงินกองทุนกว่า 3 ล้านบาท และได้จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างหลากหลายเสนอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีอยู่กว่า 400 คน กองทุน ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุเทิดไท้องค์ราชินี เพื่อเชื่อมร้อยผู้สูงอายุในตำบลเขาแก้ว เป็นรากฐานชีวิตในชุมชน/ตำบลที่เอื้ออาทรกันต่อไป รวมทั้งจ่ายสวัสดิการตามโครงการ “เขาแก้วไม่มีอด”
ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วใช้ได้เปิดเวทีสภาองค์กรชุมชนวิเคราะห์ ข้อมูล สภาพปัญหาของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ มีการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงและผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติ
ดังนั้น เพื่อเป็นการดูแลและสร้างสิ่งแวดล้อมการการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวให้มีความอบอุ่น ได้รับความสะดวก เช่น ที่อยู่อาศัย สุขภาพ สวัสดิการ อาชีพ สังคม ประเพณีวัฒนธรรม
จะได้จัดทำแผนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นแผนพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนในด้านสังคม และนำเสนอแผนพัฒนาไปยังองค์การบริการส่วนตำบลเขาแก้ว อบต.เขาแก้วได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนา4ปี(61 – 64)ขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันและจัดทำแผนงานรองรับสังคมผู้สูงวัยในตำบล
เพื่อให้งานบรรจุเป้าหมายกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว ได้แต่งตั้งคณะทำงาน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุเทิดไท้องค์ราชินี ตำบลเขาแก้ว
โดยมีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนและ สภาองค์กรชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านร่อน เกษตรอำเภอลานสกา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย องค์การบริหารส่วนตำบลแก้วและผู้สูงอายุทั้งตำบล 6 หมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมหนึ่งขิงโครงการคือการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุชื่อโรงเรียนผู้เชี่ยวชาญชีวิตเมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม 2560
การดำเนินกิจกรรมของโครงการมีผู้สูงอายุที่ประสงค์จะเข้าร่วมโรงเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ติดขัดเรื่องสถานที่เนื่องจากคับแคบทำให้รับนักเรียนได้รุ่นละ 32 คน มีผู้สูงอายุบางคนเมื่อมาเรียนแล้วก็หยุดเรียนเพราะสูงอายุมีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องเรียนรู้ดูแลตัวเองในด้านต่างๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพ ที่อยู่อาศัย นันทนาการ เศรษฐกิจ
ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนจัดทำคู่มือหลัก 10 อ. เรื่องการกินต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมกับวัยเพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย เรื่องการออกกำลังกาย ใช้วัสดุ / อุปกรณ์เลือกใช้ที่ตัวเองทำได้ตามถนัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม เรื่องการตรวจสุขภาพ ไปโรงพยาบาลตามใบนัดลูกหลานหรือญาติต้องดูแลเพื่อรักษาโรคประจำตัว เรื่องที่อยู่อาศัย ปรับปรุงบ้านให้มีสภาพแวดล้อมสะอาดและปลอดภัย เรื่องนันทนาการ การรำ การร้องเพลง ทำให้ร่างกายสดชื่นเกิดการกระตุ้นได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆรวมถึงการบริการผู้อื่น การเสียสละ ทำให้มีสุขภาพจิตดีและทำให้สุขภาพกายดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมกับเครือข่าย เช่น การทำน้ำยาล้างจาน/น้ำมันเหลือง-เขียว การออกนอกสถานที่ การเรียนรู้ของผู้สูงอายุอยากรู้อยากเห็นเมื่อทำสำเร็จได้รับการยกย่อง ทำให้เกิดความพึงพอใจรวมทั้งให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท ตำบลเขาแก้ว เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมโดยได้รับการซ่อมสร้างไปแล้ว จำนวน 10 ครัวเรือนงบประมาณจำนวน 108,400 บาท ที่สำคัญก็คือสวัสดิการชุมชนกองทุนรับผู้สูงอายุมาดูแลโดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบโดยได้รับสวัสดิการเหมือนสมาชิกทั่วไปจำนวน 463 คน
และมีการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุตามที่ตัวเองถนัด เพื่อสนับสนุนให้มีผู้สูงอายุมีรายได้ โดยนำผลิตภัณฑ์ มาจำหน่ายที่ตลาดนัดชุมชน ปัจจุบันมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทำโตร๊ะ(สำหรับใส่พืชผัก) ไม้กวาดดอกหญ้า ตะกร้าโยงมังคุด ไม้เก็บมังคุด(ตรอม) จักสานจากต้นคุล้มรูปแบบต่างๆ การสานทางมะพร้าวใส่ลูกจำปาดะ(กน)รายได้ประมาณ 3,000 บาท/เดือน
“ชุมชนต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคลที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้มีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ด้านสังคมสิ่งแวดล้อมร่างกายและจิตใจเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุได้อย่างเหมาะสม”