โดย สุวัฒน์ คงแป้น/ชณาฎา เวชรังษี
จังหวัดพัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “อู่นาข้าว” เมื่อสิบกว่าปีก่อน จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ทำนาประมาณห้าแสนกว่าไร่ แต่มาตอนนี้พื้นที่ทำนาได้ลดลงอย่างมากเหลือเพียงไม่ถึง 4 แสนไร่ เท่ากับว่าพื้นที่นาลดลงไปกว่า 10,000 ไร่ต่อปี หากการลดลงของพื้นที่ทำนาอยู่ในอัตราเช่นนี้ แล้วอีก 10 ปี คนพัทลุงคงต้องซื้อข้าวกินจากที่อื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน เป็นแห่งหนึ่งที่มีการปลูกเป็นอาชีพหลัก
วิถีการทำนาข้าวของคนตำบลหานโพธิ์ ลดน้อยลง ปัจจัยสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด คือ การขาดผู้สืบทอดการทำนา เมื่อขาดผู้สืบทอด ก็ไม่มีชาวนา มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีแรงเพียงพอ ต้องจ้างผู้รับเหมาจ่ายค่าแรงจนขาดทุน อีกทั้งราคาข้าวตกต่ำ สภาพอากาศที่แปรปรวน ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ตลอดถึงการบริโภคของคนในตอนนี้ไม่นิยมทานข้าวพื้นเมืองหันไปบริโภคข้าวหอมมะลิมากขึ้น ทำให้ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสิน สะสมไปเรื่อยๆไม่มีเงินจ่ายก็ต้องขายที่ดินเพื่อปลดหนี้ แต่บางครั้งพอจะมีกำไรบ้าง ก็ต้องส่งเงินให้ลูกหลานเรียนหนังสือ หรือออกเรือนไปอยู่ต่างถิ่นก็ยังต้องช่วยเหลือ จึงไม่มีเก็บสะสมไว้เป็นทุนต่อยอด หรือเงินเก็บในยามแก่ชรา
“ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ที่นาในตำบลหานโพธิ์ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือทำไร่นาสวนผสม เนื่องจากทำง่าย ได้ผลผลิตที่คุ้มค่าและมีราคาที่น่าพอใจ พื้นที่น่าลดลง ถูกปล่อยทิ้งให้เป็นนาล้าง คนทำนาก็สูญหายไปเรื่อยๆ” นายสามารถ ลักษณะ กล่าว
จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเกษตรกรตำบลหานโพธิ์ จากการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกกลางในการรวมคนชาวเกษตรกรที่มีอยู่ในพื้นที่ตำบล มีการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวที่พี่น้องประสบอยู่นำมาหารือ เพื่อหาแนวทางพร้อมทั้งกำหนดทิศทางการสร้างความมั่นคง คนตำบลหานโพธิ์อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเดียวกันที่ว่า “หานโพธิ์แหล่งเกษตรกรรม คุณธรรมล้ำเลิศ เชิดชูการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่มั่นคง” มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 คน ที่ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ 7 ตำบลหานโพธิ์ ขึ้น
สิ่งที่พบ การที่ชาวนาประสบปัญหาภาวะขาดทุน เนื่องจากการผลิตผลิตแล้วไม่คุ้มกับต้นทุน มาจากหลายๆปัจจัย ไม่ว่าราคาข้าวที่ลดต่ำ สภาพอากาศที่แปรปรวน ต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี การจ้างเหมาตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยไม่ได้ทำเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อกำไรที่จะสูญหายไปของชาวนาตำบลหานโพธิ์
มาดูกันเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ยกตัวอย่างที่นาของนางละออง ด้วงสุด ได้ผลผลิตจากการทำนาข้าวพันธุ์ไอ้เฉี้ยง ในหนึ่งไร่ ประมาณ 500 กิโลกรัม ขายข้าว ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท มีรายได้ 4,000 บาท หักต้นทุนที่จ้างผลิต 2,500 บาท (ไม่ได้ทำเอง) จะเหลือที่จะได้รับแค่ 1,500 บาทต่อไร่ เท่านั้น ไม่ต้องคิดอะไรให้มาก สรุปได้ว่า ชาวนามีภาวะหนี้สินเยอะ เนื่องจากทำแล้วได้น้อยกว่าผู้รับจ้าง เพราะไม่ได้ทำเอง ทุนที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูง นั้นเอง
กลุ่มเกษตรกรตำบลหานโพธิ์ ภายใต้สภาองค์กรชุมชนตำบลหานโพธิ์ จึงออกแนวทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ว่า “การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” โดยการส่งเสริมให้ชาวนาทำเอง ลดการจ้างเหมา แต่ใช้คนในกลุ่มร่วมไม้ร่วมมือซึ่งกันและกัน จากที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ตอนนี้เป็นการทำแบบพึ่งพา จากที่เคยทำของใครของมันแต่ตอนนี้เป็นการช่วยเหลือกันแบบหมุนเวียน หนุนเสริมให้ชาวนาทำเองให้มาก โดยไม่ต้องจ้างผู้รับเหมา หรือนายทุนจากภายนอก การผลิตที่ไม่พึ่งสารเคมี ใช้ปุ๋ยคอกแทน เป็นการทำนาข้าวอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าได้อีกวิธีหนึ่ง ทำได้แบบนี้ได้ก็จะสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาชาวบ้าน การทำนาที่ครบวงจร ในทุกขั้นตอน ผ่านระบบการบริหารจัดการเป็นกลุ่มเกษตรกรตำบลหานโพธิ์ ซึ่งค่อยๆทำไปต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่เมื่อพี่น้องเข้าใจถึงเจนตนาที่แท้จริง ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงทำให้คนในตำบลหานโพธิ์ มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
นางละออง ด้วงสุด กลุ่มเกษตรกรตำบลหานโพธิ์ ได้บอกถึงวิธีการทำนาข้าว ให้ฟังว่า พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกมีอยู่หลากหลายพันธุ์ แต่ที่ตำบลหานโพธิ์นิยมปลูกกัน คือ พันธุ์ข้าวสังข์หยด เล็บนก และไอ้เฉี้ยง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์ และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น บวกกับเป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรค มีปัญหาน้อย คือ ปัญหาเกี่ยวกับศัตรูข้าว เช่น หอยเชอรี่ หนอนกอ นก หนูกินต้นข้าว เป็นต้น
ในตำบลหานโพธิ์ ทำนาข้าวแบบการหว่าน เนื่องจากได้ผลิตดีและสะดวกกว่า โดยการไถดะและไถแปร แล้วจึงน้ำเมล็ดข้าวที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการเพาะเมล็ด มาหว่านลงในแปลงนาได้ทันที จากนั้นจึงทำการคราดหรือไถ เพื่อกลบเมล็ดข้าวที่หว่านลงไปอีครั้ง เนื่องจากดินมีความชื่นอยู่เมล็ดข้าวจะค่อยๆงอกหลังจากหว่านไประยะหนึ่ง การตั้งตัวของต้นกล้าจะตั้งได้ดีกว่าการหว่านสำรวย เพราะเมล็ดถูกกลบฝังลงในดิน
อาชีพทำนา เป็นอาชีพที่ยังสร้างรายได้สามารถเลี้ยงตนเองได้ แต่ต้องรู้จักทำ รู้จักใช้ หากเราบริหารจัดการดีสามารถลดต้นทุนได้ ในขณะเดียวกันหากมีผลผลิตเพิ่ม ยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้น แม้เรามีผลผลิตเท่าเดิมแต่ต้นทุนน้อยกว่าก็มีกำไรมากกว่า
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ว่าข้าวที่กินเลี้ยงตัวเองจนเติบใหญ่ไม่ใช่มาจาก หม้อข้าวไฟฟ้า แต่เบื้องหลังมีความเป็นมาที่เหนื่อยยากลำบากกว่าจะได้ข้าวสวยสักเมล็ด หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพื่อให้ได้รู้คุณค่าของข้าว และคุณค่าของคนที่ผลิต ให้คนรุ่นใหม่มีใจรัก และสืบทอดอาชีพการทำนาข้าวต่อไป