โดย สุวัฒน์ คงแป้น/วารุณี สกุลรัตนธารา
เทศบาลนครภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 22 ชุมชน มีประชากรทั้งหมด 23,294 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นอิสลาม จีน และคริสต์บางส่วน ประชากรประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย เป็นอาชีพหลัก อาชีพประมง ธุรกิจส่วนตัว และทำสวน เป็นอาชีพรอง เกิดจากการรวมตัวของตำบลตลาดใหญ่และตำบลตลาดเหนือ ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครภูเก็ต เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547
ประชากรในพื้นที่มีความหลากหลายทั้งคนภูเก็ตดั้งเดิม คนที่มาจากถิ่นอื่นรวมทั้งคนเชื้อชาติจีนมีลักษณะของที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มีทั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจ การค้าขาย พื้นที่ที่เป็นแหล่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชิโนโปรตุกีส รวมถึงพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่หนาแน่นแออัดถึง 15 ชุมชน ที่ประสบปัญหาในหลายด้านทั้งด้านสังคม การลักขโมย เป็นแหล่งการค้ายาเสพติด รวมทั้งการเสื่อมถอยของวัฒนธรรมอันดีงามที่เคยอยู่กันแบบการช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้ออาทรก็ขาดหายไปประกอบกับบ้านเรือนในชุมชนมีสภาพแออัดเสื่อมโทรม ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน
สภาองค์กรชุมชน เทศบาลนครภูเก็ตร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลนครภูเก็ต กรรมการชุมชน เทศบาล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลงสำรวจข้อมูลผู้ได้รับความเดือดร้อนจากที่อยู่อาศัย ที่ทรุดโทรมไม่มั่นคง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้การช่วยเหลือโดยใช้โครงการบ้านพอเพียงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชุมชนใช้วงสภาองค์กรชุมชนในการพูดคุยแก้ไขปัญหาร่วมกันจนกระทั่งได้บ้านที่จะซ่อมแซมในปี 2561 จำนวน 30 หลัง โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. จำนวน 570,000 บาท โดยตั้งเป็นกองทุนและให้ผู้ที่ได้รับการซ่อมแซมบ้านส่งเงินคืนเดือนละไม่น้อยกว่า 100 บาท เพื่อที่จะได้นำเงินส่วนนี้มาซ่อมแซมบ้านที่เรียงลำดับถัดไป
การดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทเทศบาลนครภูเก็ต มีกำงานเป็นขั้นตอนตั้งแต่ การประสานงานและการสื่อสารเพื่อเตรียมความพร้อมในพื้นที่ มีสภาองค์กรชุมชน จัดประชุมทำความเข้าใจกับท้องที่ ท้องถิ่น และผู้เดือดร้อน เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ แผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสภาองค์กรชุมชน หลังจากนั้นคณะทำงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูล โดยใช้พื้นที่ตำบลของผู้นำในพื้นที่เป็นสำคัญ และทำความเข้าใจในระดับพื้นที่ และตรวจสอบความพร้อมของคนในชุมชน ไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานบ้านพอเพียงตำบล มีองค์ประกอบมาจากตัวแทนจากทุกหมู่บ้านและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ มีการกำหนดเกณฑ์ กติกาด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเลือกครัวเรือนเป้าหมาย การคืนทุน การบริหารวัสดุ ก่อสร้าง การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน อาชีพ ค่าแรง การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น
การสำรวจข้อมูล เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคน ยากจนจริงๆ ซึ่งจะนำมาสู่จัดลำดับในการช่วยเหลือและเกิดการยอมรับจากคนในชุมชน โดยคณะทำงาน ลงสำรวจครัวเรือนผู้เดือดร้อน ด้วยการทำแบบสอบถามและถ่ายรูปภาพบ้านและ เจ้าของบ้าน จากนั้นให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต./สท. เซ็นต์รับรองว่าผ่านการสำรวจข้อมูลผู้เข้าร่วมโครงการ ก่อนเข้าเวทีประชาคมรับรองข้อมูลทั้งเทศบาล
เนื่องจากบ้านพอเพียงมีงบประมาณจำกัดดั้งนั้น การบูรณาการทุนและความร่วมมือร่วมบูรณาการทุนในพื้นที่จากกลุ่มองค์กรในท้องถิ่น ผ่านการ ระดมทรัพยากรด้านต่างๆ เช่น ความรู้ ช่าง เงิน อาหาร แรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและ เป็นการต่อยอดขยายวงการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้มากขึ้น
เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงมีข้อตกลงร่วมของเทศบาลนครภูเก็ต คือ ให้มีกองทุนและการคืนทุน เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่น ซึ่งพบว่าแต่ละตำบลได้มีการกำหนดการคืนทุนในอัตราไม่เท่ากัน ส่วนจุดรวมของกองทุนมีทั้งกองทุนใหม่และใช้กองทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในตำบล เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนที่ดิน จากเจตนารมณ์ของกองทุนที่ต้องการช่วยเหลือคนจน ทำให้ได้รับความร่วมมือในการคืนทุนตามข้อตกลง โดยทุกพื้นที่มีกติกายกเว้นให้ผู้ยากลำบากมากๆ หรือผู้พิการ ผู้สูงอายุบางราย ผู้เจ็บป่วย ไม่ต้องคืนทุน
จุดสำคัญของที่นี่ คือ เราได้ช่วยคนจนชายขอบได้จริงๆ ทำให้คนเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และยังเสริมศักยภาพสภาองค์กรชุมชนตำบลให้มีความเข้มแข็ง มีความสำเร็จเป็นรูปธรรม ที่สร้างการยอมรับจากภาคีพัฒนาต่างๆได้มากขึ้น