โดยสุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา มี 4 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอกะปง ทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติเขาศก มีสภาพเป็นภูเขาดิน พื้นที่มีความลาดชัน ที่ราบน้อย พื้นดินขาดความอุดสมบูรณ์ มีการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากมีฝนตกชุก ประกอบกับการบุกรุกป่าเข้าไปทำการเกษตรในพื้นที่สูง จึงทำให้เกิดการกัดเซาะของน้ำที่ผิวดิน ทำให้เกิดแผ่นดินเลื่อน หรือดินถล่ม และยังทำให้พัดพาตะกอนลงไปทับถมในลำน้ำทำให้ตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่าริมตลิ่ง
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลมังคุด, เงาะ, ทุเรียน, ลองกอง, ละไม ฯลฯ รายได้ของประชากรส่วนใหญ่จะมีรายได้ประจำจากการขายพืชผลทางการเกษตร รายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาพืชผลและการส่งออกเป็นสำคัญ
ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ได้มีการจัดการทุนชุมชนโดยการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน เริ่มต้นจาก กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการมีการออมทรัพย์ รับปีละ 2 ครั้ง 6 เดือน พัฒนาไปสู่การผลิตน้ำดื่มชุมชนการท่องเที่ยว และสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่พึ่งของคนในชุมชนในยามต้องการใช้เงินทุนในการประกอบอาชีพหรือเพื่อความจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน การจัดการท่องเที่ยวที่ชุมชนจัดการเองก็ยังคงเดินต่อไปถึงแม้คนทั่วๆ ไปจะรู้จักไม่กว้างขวางมากนัก แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังคงสร้างรายได้ให้กับชุมชนพอสมควร ส่วนการผลิตน้ำดื่มหยุดชะงักและได้มาฟื้นกิจการด้วยสภาองค์กรชุมชนในปีที่ผ่านมาอีกครั้ง
ตำบลรมณีย์มีความมุ่งมั่น ในการการพัฒนากระบวนการกลุ่มกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มกิจกรรมที่มีปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจน้ำดื่ม สถาบันการเงินชุมชนตำบล กลุ่มเครื่องแกงธารทิพย์ กลุ่มชุมชนบริหารบ่อน้ำพุร้อนตำบลเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน ลานเทปาล์ม 1 ลาน เมื่อมีความมุ่งมั่นในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนสู่ความมั่นคงในอนาคตที่ดีกว่า จึงอาศัยกลไกที่มีคือสภาองค์กรชุมชนมาใช้ในการพัฒนาตำบล ที่มีกลุ่มองค์กรในชุมชนหลายหมู่บ้านมารวมตัวจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนเพื่อปรึกษาหารือทุกเรื่องของคนในชุมชน วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อกำหนดทิศทางของชุมชนจากอดีตสู่อนาคต
จากการหารือในสภาองค์กรชุมชนตำบล พบว่า ชุมชนขาดความรู้ด้านวิชาการ ขาดงบประมาณในการประกอบอาชีพขาดการรวมกลุ่มในการจำหน่ายผลผลิต ขาดอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ยาเสพติดระบาด ขาดเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ครอบครัวมีรายได้น้อย ค่าครองชีพสูง ต้นทุนสูง ฝนตกชุก ขาดอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ขาดความรู้ทักษะการใช้ภาษาการท่องเที่ยวชุมชน ไม่มีอาชีพเสริม
อย่างไรก็ดีจุดแข็งขอคนในชุมชนก็คือ มีอาชีพที่มั่นคง ไม่ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ สามารถทำอาชีพเสริมได้ เป็นพืชเศรษฐกิจยางพาราให้ผลผลิตระยะยาว สามารถนำไม้ขายได้เมื่อหมดอายุการกรีด ใบยางสามารถแปรรูปได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สวยงาน แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตราคาผลผลิตยางพาราราคาตกต่ำ สภาองค์กรชุมชนจึงหาทางออกเพื่อให้เพิ่มรายได้ทดแทนเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชนจึงเป็นอีกงานหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา โดยการรวมตัวมารับซื้อเศษยางร่วมกัน จากที่เคยขายเศษยางกับพ่อค้าเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการ ลานเทรับซื้อเศษยางหรือยางก้นถ้วยโดยชุมชนเองและเชื่อมโยงไปถึงการผลิตโรงน้ำดื่มชุมชน ผันตัวเองมาเป็นนายทุนน้อยที่ต้องใช้เงินในการลงทุนที่สูง จึงอาศัยต้นทุนที่มีอยู่คือ สถาบันการเงินชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชน สำหรับกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี มีเงินสมทบจากสมาชิกและทางรัฐบาลสนับสนุนผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวนเงินประมาณ 2 ล้านบาท หลังเกิดราคายางตกต่ำ ได้หารือเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากองทุนสวัสดิการชุมชน ก็สามารถนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดสวัสดิการสมาชิกและเป็นการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าทางผลผลิตให้กับคนในตำบลได้ จึงตัดสินใจร่วมกัน นำเงินส่วนหนึ่งมาลงทุน โดยมีคณะกรรมการจำนวน 9 คน ได้แบ่งหน้าที่ตามกิจกรรม มีคณะกรรมการฝ่ายผลิตน้ำดื่ม คณะกรรมการลานเทในการจัดซื้อเศษยางหรือยางก้นถ้วย มีแผนกฝ่าย คัด-ชั่ง-ส่ง มีวันรับซื้อที่ชัดเจน แต่เมื่อซื้อเศษยางมาแล้วไม่มีที่จัดเก็บจึงต้องใช้พื้นที่ข้างถนนในการจัดเก็บเศษยาง ตั้งกองยาวตามถนนประมาณ 100 กว่ากองต่อครั้งและใช้แรงงานคนทั้งหมด แต่เศษยางที่กองเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในการรับซื้อเศษยางจากสมาชิกต้องใช้เงินแต่ละครั้งจำนวน 1 ล้านบาท สมาชิกจะมารับเงินในวันถัดไป ซึ่งมีส่วนต่างจากการขายกับพ่อค้าที่ต่างคนต่างขาย มีผลกำไรกิโลกรัมละ 2-3 บาท จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีผลกำไรมากถึงประมาณ 1 ล้านบาทเศษ
ตำบลรมณีย์มีการบูรณาการทุน เป็นสถาบันการเงินชุมชนนำไปสู่การรวบรวมผลผลิตยางพารา(ยางก้อนถ้วย) เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุกเนื่องจากสภาพพื้นที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์การท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมอีกหนึ่งทางเลือก อีกทั้งคนในตำบลมีจุดมุ่งหมายต้องการ อนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เสื่อมถอยลงตำบลรมณีย์เป็นทางผ่านและเป็นจุดกลางการมาทำกิจกรรมการท่องเที่ยว ระหว่างพื้นที่เขาหลักและเขาศกมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น บ่อน้ำพุร้อน กลุ่มล่องแพไม้ไผ่ ปางช้างน้ำตก มีกลุ่มองค์กรที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งภายในและภายนอกคนในชุมชนมีอัธยาศัย ไมตรี มีปราชญ์ชาวบ้านแต่คนในชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการกลุ่มท่องเที่ยวที่ดีขาดการรวมกลุ่ม ขาดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ขาดความร่วมมือจากหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องขาดงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแต่มีโอกาสดีคือภาครัฐและภาคการศึกษาให้การสนับสนุน การท่องเที่ยวจังหวัดพังงามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมโยงการตลาดกับหน่วยงานภายนอก ได้ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหอการค้า
อย่างไรก็ดีมีปัญหาอุปสรรคบางประการ โดยแหล่งท่องเที่ยวบางที่อยู่ในเขตป่า แก้ปัญหาโดยการตั้งวงพูดคุยระหว่างท้องถิ่นท้องที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อประสานหางบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยอาศัยหลักมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นตัวตั้ง
การทำงานที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้าน ได้บทเรียนว่า การรับซื้อเศษยางสามารถกำหนดพ่อค้าทั้งภายในและภายนอกได้อย่างเป็นระบบ การศึกษาดูงานจากจังหวัดใกล้เคียงที่ดำเนินการในเรื่องนี้สามารถมาปรับใช้กับงานของตนเอง การเดินไปหาตลาดที่เป็นโรงงานทำให้มีการตกลงกับโรงงานที่เข้ามารับเศษยางในชุมชน การประสานกับพ่อค้าคนกลางหลายๆ คนมาประมูล แม้มีกำไรไม่มากแต่ดีกว่าถูกเอาเปรียบ สามารถมีรถขนส่งของตนเอง มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอีกจากการที่พ่อค้าคนกลางมาประมูลในตำบล
การทำงานกับชุมชนต้องมีความรับผิดชอบสูง อดทนต่อการที่คนอื่นไม่ไว้วางใจ แต่ที่ประสบความสำเร็จเพราะคณะทำงานทุกคนมีหัวใจเต็มร้อย การดำเนินงานใดก็ตามถ้าคิดแต่เงินจะไม่ได้ใจคน หลังจากนั้นได้มีการแบ่งบทบาทความรับผิดชอบด้านต่างๆ ออกไปตามความถนัด นอกจากมีคณะกรรมการ 9 คนแล้ว ต้องอาศัยทีมงานรับผิดชอบประมาณ 20 คนที่มาจากกลุ่มทุกกลุ่มครอบคลุมทุกหมู่บ้าน มีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับสมาชิกตามผลกำไรที่ได้ เงินจะกลับคืนกลับเข้ากองทุนสวัสดิการ 10 เปอร์เซ็นต์ สมาชิกได้ราคาผลิตที่เพิ่มขึ้น ตามที่ชุมชนได้มีกติการ่วมกัน
บทเรียนสำคัญอีกอย่างที่เกิดจากการปฏิบัติคือคณะกรรมการและสมาชิกได้ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการและกลไกตลาด เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ความเชื่อมันของชุมชนทำให้คนรมณีย์ อยู่ได้ อยู่รอด อยู่เป็น อย่างยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ด้วยพลังของคนในตำบลที่ให้โอกาสแก่กัน คนในตำบลเกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน การรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างประหยัดและรู้คุณค่า การแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม พืชผักผลไม้ตามฤดูกาลขายได้ราคาสูงขึ้น ได้เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติว่าถ้าเราไห้ธรรมชาติมากเท่าไหร่ธรรมชาติก็จะคืนไห้เราไม่มีวันหมด การนำเอามูลช้างมาผลิตปุ๋ยเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิต
ได้เรียนรู้ด้านการตลาดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ภาษาที่หลากหลายการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานและการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัด
เหนือสิ่งอื่นใดจากกระบวนการจัดทำแผนของสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้มีโอกาสเชื่อมประสานการทำงานจากภายนอกที่มีผลดีต่ออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางสนับสนุนทุนในการจัดการปลูกตั้งแต่เริ่มต้น รัฐจัดให้มีการประกันราคา โรงงานอุตสาหกรรมสามารถแปรรูปได้หลากหลาย นโยบายรัฐมีแนวโน้มการช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นในการแปรรูป การนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศ พันธุ์ปาล์ม, น้ำมันพืช แต่สิ่งเหล่านี้ยังห่างไกลกับปัญหาปัจจุบันของคนในชุมชน ไม่สามารถตอบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน จึงได้หาทางออกโดยการสร้างความร่วมมือในการจัดการเศรษฐกิจและทุนชุมชนของชุมชนเอง โดยประสานความร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำท้องที่ ในการกำหนดอนาคตชุมชนเพื่อให้ตำบลรมณีย์ อยู่ได้ อยู่รอด อยู่เป็น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของคนในตำบล ปัจจุบันคงยังต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพการปลูกผักกางมุ้งและการจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ การปลูกป่าชุมชน รวมงบประมาณในการสนับสนุนกว่า 110,000 บาท
การบูรณาการทุนทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่องนี้ในอนาคตมีเป้าหมายให้เกิดศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว ในตำบลและพื้นที่ใกล้เคียงประวัติความเป็นมาเรื่องเล่าแผนที่ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจุดเช็คอิน และรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นในตำบล สร้างจุดศูนย์กลางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก เป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจของชุมชน