โดย เกศณี คิ้วนาง
เทศบาลตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัด ในอดีตการเดินทางคมนาคมใช้เรือเป็นพาหนะ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ทำให้คนย้ายถิ่นฐานมาอยู่มากขึ้น และมีคนไททรงดำที่เริ่มอพยพจากจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เข้ามาอาศัยในพื้นที่ ด้วยเห็นว่าจังหวัดชุมพรเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงนั่งเรือกลไฟมาและเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยดั้งเดิมนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 65 และเป็นชาวไททรงดำ ร้อยละ 35 ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พืชครัวเรือน เช่น ใบเหลียง ไผ่รวก ชะออก กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม
การดำรงชีวิตของชาวไทยทรงดำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา เป็นหลัก เช่นเดียวกับชาวชุมพรทั่วไป ส่วนภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นภาษาถิ่นชุมพร และภาษาลาวโซ่ง ชุมชนบ้านดอนรวบ บ้านคอเตี้ย และในหมู่ต่าง ๆ ของตำบลบางหมากในปัจจุบันมีชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ประมาณ 1,020 ครัวเรือน มีความเป็นอยู่เหมือนกับคนในท้องถิ่น แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการแต่งกายไว้เมื่อมีพิธีกรรม หรืองานตามเทศกาลสำคัญๆ เช่น ประเพณี งานศพของชาวไททรงดำมีการนำเสื้อที่ทอไว้นำมาประกอบพิธี มีผ้าไหม และผ้าทอต่าง ๆ รวมถึงเสื้อที่ใช้สวมใส่ (เสื้อฮี) ที่ใช่ใส่นำปิดบนหีบ และสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ที่เป็นลูก หลาน สะใภ้ มีการแต่งตัวที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณี ที่เป็นที่ยอมรับและสืบทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ได้แก่ งานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำ บ้านดอนรวบและบ้านคอเตี้ย งานพ่อปู่พวงและคนในตำบลบางหมากมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ หลวงปู่จอน พระเกจิชื่อดังในด้านอาคม เป็นอาจารย์ของเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพร
ชาวไทยทรงดำนิยมบริโภคอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และในพิธีกรรม ส่วนใหญ่จะมี แกงหน่อส้ม เลือดต้า แกงผำ ผักจุ๊บ ผัดเผ็ดไส้หมู แจ่วเอือดด้าน รวมอยู่ด้วย เป็นต้น และคนไทยเองก็นิยมชมชอบ เนื่องจากอาหารนั้นเป็นอาหารที่มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากอาหารทั่วไป ทำให้คนไทยนิยมหันมาบริโภค
นางสาวลิวรรณ ศรีสุทยะคุณ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางหมาก ให้ข้อมูลว่าสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางหมาก มีการจดแจ้งจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 54 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มไทยทรงดำก็เป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบล ปัจจุบันชาวไทยทรงดำต้องใช้ไผ่รวกในชีวิตประจำวันรวมถึงใช้ประกอบอาหารในทางพิธีกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก เนื่องจากไผ่รวกลดจำนวนลงมากจากการที่ออกดอกแล้วตายและคนในปัจจุบันมองไม่เห็นถึงความสำคัญขาดความรู้และเทคนิคในการปลูก มารู้ตัวเมื่อต้องเสียเงินซื้อไผ่รวกในราคาที่แพงขึ้น จากทั้งที่เมื่อก่อนไม่ต้องซื้อสามารถหาบริโภคได้ภายในชุมชน แต่ปัจจุบันต้องซื้อจากภายนอก เมื่อก่อนไผ่รวกดองกิโลกรัมละ 20 บาท ปัจจุบันราคาสูงขึ้นกิโลกรัมละ 60 บาท ส่งผลให้ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งที่ในชุมชนสามารถปลูกได้ และมีความรู้ถึงวิธีการที่จะทำให้ไผ่รวกมีหน่อเพิ่มมากรวมทั้งออกมากกว่าเดิม
จากเหตุผลข้างต้น สภาองค์กรชุมชนและเทศบาลตำบลบางหมาก จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากงานที่ทำอยู่และนำไปสู่การสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ครอบครัวพัฒนา (ต่อเนื่องจากที่ได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยแล้ว ในปี 2560) โดยได้มีการกำหนดแผนในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกไผ่รวกร่วมกันทั้งตำบล ดังนี้ 1) ให้ความรู้เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารตามวิถีวัฒนธรรมไทยทรงดำ และ การอนุรักษ์และพัฒนาไผ่รวกให้มีเพียงพอกับชุมชนไทยทรงดำและใช้ในพิธีกรรมของคนไทยทรงดำ พร้อมกับเพื่อจำหน่าย 2) สนับสนุนการปลูกไผ่รวกโดยยึดหลักธนาคารไผ่รวกเพื่อพัฒนาความเข้มแข็ง รวมทั้ง เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของกลุ่มผู้ปลูกไผ่รวกของตำบลบางหมาก 3) รณรงค์และอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมความมั่นคงทางด้านอาหารของชาวไทยทรงดำ
และที่เป็นหัวใจสำคัญของชาวบางหมากคือการร่วมจัดงานสืบสาน ส่งเสริม วัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำขึ้น ซึ่งในงานนอกจากจะมีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ พี่น้องชุมชนและยังมีพี่น้องชาวไทดำ จากเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี พิจิตร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร ที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นการสืบทอด ส่งเสริม วัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ ให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประเพณีวัฒนธรรม และส่งเสริมให้ชาวไททรงดำจากทั่วทุกแห่งในประเทศ ได้กลับมาพบปะ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงวัฒนธรรมการเล่นลูกช่วง (มะก๊อน) การรำแคนแบบดั้งเดิมของชาวไทดำ นิทรรศการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ การแสดงนิทรรศการวัฒนธรรมประชาคมอาเซียน และร่วมรับประทานอาหารผสมผสานพื้นบ้านไทดำ
การร่วมจัดงานในครั้งนี้เป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลบางหมากในการสร้างความร่วมมือกับภาคี หน่วยงานในพื้นที่เพื่อเดินหน้าพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนบนฐานชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและยังเป็นการส่งเสริมฟื้นฟูอาหารไทยทรงดำ นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นางสาวลิวรรณ ศรีสุทยะคุณ เลขที่ 13/4 หมู่ที่ 8 ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86000
โทร 093-5832302