โดยสุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ที่ราบระหว่างหุบเขาและทะเลอันดามัน พื้นที่อุดมสมบูรณ์มากเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ทำให้มีฝนตกชุก สภาพของดินเหมาะสมต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร เช่น ปลูกยางพารา ทำสวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนมะพร้าวและพืชผลอื่นๆ และนอกจากนี้ยังมีแม่น้ำสายสั้่นๆ ไหลผ่านทุกหมู่บ้าน มีบางส่วนที่ทำอาชีพประมง รับจ้าง และการท่องเที่ยว
ปัญหาหนึ่งของบางวัน คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ปริมาณขยะเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งในอดีตชาวบ้านมีการจัดการขยะตามยถากรรม บ้างก็กองไว้ข้างบ้านทิ้งในสวน หรือเผา สร้างผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมที่สกปรก รกรุงรัง และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค โดยเฉพาะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในพื้นที่ถูกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางวัน หยิบยกขึ้นมาหารือกันในที่ประชุมของสภาองค์กรชุมชนตำบลซึ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุก็พบว่า เพราะมีขยะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน อีกทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ตำบลบางวันตั้งอยู่บนเส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อหลายแห่ง จึงมีขยะทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ตามข้างถนนใหญ่ เรื่องการจัดการขยะจึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันจัดการขยะต้นทาง
ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญและต้องร่วมมือแก้ไขกันอย่างเต็มความสามารถเพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกระดับ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั้งนี้เนื่องจากความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ตลอดจนพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของคนเราเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยใช้ตะกร้าเวลาไปจ่ายตลาด ใช้ปิ่นโตใส่อาหารใช้ใบตองหรือใบบัวซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายห่ออาหารแต่ปัจจุบันมีการใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์จำพวกพลาสติก โฟม แก้ว กระดาษ โลหะ อลูมิเนียม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้เกิดมูลฝอยสูงขึ้นตามไปด้วย ผลกระทบที่จะตามมามีทั้งความสูญเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ดินเสื่อมสภาพ ความเสียหายจากเหตุรำคาญส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
นายทรงวุฒิ อินทรสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน บอกว่า นโยบายไร้รถเก็บขยะและถังขยะเป็นของนายกคนเก่า ตนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีเลยสานต่อโดยจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ตำบล คือ “ตำบลไร้รถถัง” ที่หมายถึงไม่มีรถขยะไม่มีถังขยะ
นายนนท์ นวลศรี ผู้อำนวยการกองฯ เล่าว่า ได้ทยอยจัดอบรมแกนนำหมู่บ้านละ 50 คนเรื่องการคัดแยกขยะและการจัดการขยะเปียกเพื่อนำมาทำปุ๋ยและได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการทำปุ๋ยให้แก่ประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหลือเพียงขยะพิษที่ประชาชนไม่สามารถจัดการได้เอง ส่วนใหญ่คือ หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย บรรจุภัณฑ์สารเคมี ฯลฯ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ได้จัดให้มีจุดรับขยะพิษตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อรวบรวมเก็บแล้วนำส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดการต่อไป
นอกจากนำวิชาการมาแก้ปัญหาโดยการให้ความรู้อย่างเป็นระบบผ่านการอบรมแกนนำชุมชน กลยุทธ์สำคัญในการทำงานคือ การจัดกิจกรรม Big cleaning day ก่อนการประชุมประจำเดือนของแต่ละหมู่บ้าน ที่กลายเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการจัดการขยะได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในวันดังกล่าวผู้นำชุมชนต่างร่วมใจกันลงมือลงแรงเก็บขยะ ทำความสะอาดถนน และสาธารณะสมบัติของชุมชน สร้างแรงกระเพื่อมให้ประชาชนตั้งใจจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้น
การกระตุ้นให้ชาวบ้านคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เป็นผลงานที่ทำให้ อบต.สามารถประหยัดงบประมาณได้อย่างน้อย 6 ล้านบาท เพราะหากต้องซื้อรถเก็บขยะต้องใช้งบประมาณ 3.5 ล้านบาท ค่าจ้างคนงานจัดเก็บขยะ 4 คนต่อรถขยะ 1 คัน ค่าถังขยะที่แจกตามบ้าน ค่าน้ำมันรถ และค่าทิ้งขยะที่ตอนนี้มีบ่อขยะที่อยู่ใกล้ที่สุด 2 จุด ก็ใกล้จะเต็ม ซึ่งการนำขยะไปทิ้งต้องจ่ายค่าทิ้งขยะกิโลกรัมละ 60 สตางค์ ในอนาคตการหาที่ทิ้งขยะจะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ
คู่ขนานไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ การกระตุ้นให้ประชาชนลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะนโยบาย No Foam โดยองค์การบริหารส่วนตำบลได้เชิญผู้รู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยจากกล่องโฟมแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และขอความร่วมมือจากร้านค้าในพื้นที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ รวมทั้งมีการจัดทำ MOU กับหน่วยงานในท้องถิ่น คือ โรงเรียน 6 โรง วัด 6 แห่ง มัสยิด 4 แห่ง รพ.สพ. 3 แห่งและร้านค้าทั้งหมดในการงดใช้โฟม
“วิธีการคือ 3R Reuse Reduce Recycle แต่ว่าสุดท้ายตอนนี้สิ่งที่เราพยายามรณรงค์มากที่สุดคือ ลดการใช้ และ No Foam” นายทรงวุฒิ อินทรสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในฐานะหน่วยงานในท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน ยังได้ร่วมกันจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายของท้องถิ่นซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการร่าง เพื่อนำเข้าสู่สภาตำบลเพื่อลงมติประกาศใช้เป็นธรรมนูญของตำบลต่อไป
ตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการจัดการขยะที่ได้ผลดี คือ หมู่ 1 ที่มี นายยงยุทธ โดยดี ประธานสภา องค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน เป็นหัวเรี่ยวแรงใหญ่อยู่ในพื้นที่ทำการรณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมกันจัดการขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนจนได้รับรางวัลบ้านสวยเมืองสุขระดับประเทศ
นายยงยุทธ โดยดี เล่าวิธีการทำงานว่า “เราเป็นแค่คนตั้งโจทย์ ดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ชี้ให้เขาเห็นว่าสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับประโยชน์คือพวกเขา สู่กระบวนการทำงานก็มาจากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน” แต่การจะสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้นั้น ยอมรับว่าต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้เห็น แล้วค่อยๆ ชักชวนให้คนร่วมทำจนทุกวันนี้นับว่าเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกไปไกลมาก เพราะ “ยุทธศาสตร์ปิดหลุมขยะ” ในหมู่ 1 คือ กุศโลยายในการสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ เมื่อขยะเหลือน้อย หลุมขยะก็จะถูกปิดไปโดยอัตโนมัติ”
“ความสุขที่คุณสัมผัสได้เมื่อมาที่บางวัน คือ การจัดการขยะตั้งแต่แนวคิดการทำงาน ชุดความรู้เรื่องการคัดแยกขยะวิธีการสนับสนุนกลุ่มนำร่องจัดการขยะ รูปธรรมบ้านสวยเมืองสุขที่ปลอดขยะ และมีภูมิทัศน์ที่งดงาม” นายทรงวุฒิ ทิ้งท้ายอย่างน่าคิด
ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ปีพ.ศ. 2535 ที่ระบุให้ท้องถิ่นต้องให้บริการสาธารณะ ดังนั้นบทบาทของท้องถิ่น คือ การสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่ สิ่งที่นายก อบต.ทรงวุฒิ อินทรสวัสดิ์ ทำคือ เดินสายชี้แจงและให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางโดยผ่านเวทีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อการขยายผลต่อในแต่ละหมู่บ้าน
“ประชาชนแต่ละคนเป็นผู้สร้างขยะขึ้นมา คนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือผู้ที่สร้างปัญหา จึงใช้วิธีเข้าไปพูดคุยชี้ชวนให้ชาวบ้านเห็นข้อมูล เห็นปัญหาบอกเขาไปตรงๆ ว่า รถขยะราคา 3 ล้านกว่าบาท ถังขยะ 2,000 กว่าใบ ผมซื้อให้ได้ คนเก็บขยะ 4 คนก็จ้างได้ ค่าใช้จ่ายรวมปีหนึ่ง 4-5 ล้าน แต่ถามว่าขยะที่เก็บมาจะเอาไปทิ้งที่ไหน ชวนเขาคิดง่ายๆ ว่าคน 1 คน ทำให้เกิดขยะ 1 กิโลกรัม ประชากรเรามี 7,000 กว่าคน วันหนึ่งตำบลบางวันมีขยะ 7 ตัน ทำอย่างไรขยะจึงจะเหลือน้อยที่สุด”
ด้วยเหตุนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน จึงเดินหน้าให้ความรู้ในการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มีกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลบางวัน เป็นแม่งาน ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลบางวัน
วิธีการอบรมจะทำเป็นคนต้นแบบของแต่ละหมู่บ้านโดยผ่านเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบล รับสมัครครัวเรือนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จัดอบรมกระบวนการคัดแยกขยะว่ามีกี่ประเภทและการใช้ประโยชน์จากขยะ เช่น ขยะรีไซเคิลคัดแยกให้ชาวบ้านนำไปขายหรือนำไปแลกของใช้ที่สหกรณ์ศูนย์บาท ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหารไว้ใช้ทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ ขยะพิษก็มีโครงการขยะพิษแลกไข่ โดยทำตู้รับขยะพิษไว้ที่ศาลาในทุกหมู่บ้าน และด้วยกิจกรรมดังกล่าวที่สามารถทำให้ประหยัดงบประมาณ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจึงได้นำงบมาสนับสนุนในการจัดกิจกรรมการให้แก่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง(แผนชุมชน) จำนวน 50,000 บาท ฝึกอบรมให้ความรู้ในการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพ จำนวน 100,000 บาท และสนับสนุนการอบรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จำนวน 30,000 บาท