โดย สุวัฒน์ คงแป้น / ชณาฎา เวชรังษี
“ควนสตอ” เรียกชื่อตามต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นสะตอ แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 หมู่บ้าน มีประชากร จำนวน 8,126 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา ทำสวนยาง สวนผลไม้ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 15,500 ไร่ โดยมีอาชีพเสริม คือ การเลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง ส่วนอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการค้าขายมีบ้างเล็กน้อย โดยมากจะเป็นโรงสีข้าว และร้านค้าขนาดเล็ก ขายของใช้จำเป็นที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้าน ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม 99.99 %
นายยาหมาย หลีเยาว์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ และสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ เล่าว่า จากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ต้นทุนทางการผลิตที่มีราคาสูง เทียบกับราคาขาย ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรเกิดภาวะที่เป็นหนี้ รายได้ที่มีเริ่มไม่พอใช้จ่ายในการดำรงชีวิต รวมถึงการที่นำเงินไปทำเกษตรต่อก็เริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดแนวคิด จัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านทางงอ หมู่ที่ 5 ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ขึ้น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542 โดยได้รับการสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) กรมพัฒนาชุมชน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 17 คน มีสมาชิกแรกเริ่ม จำนวน 25 คน เริ่มฝากสัจจะคนละ 50 บาท รวมเป็นเงิน จำนวน 1,250 บาท
หลังจากนั้นก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้จักการออมเงิน เป็นสำคัญ
ในปี พ.ศ. 2552 เกิดเป็นกองสวัสดิการชุมชนตำบลควนสตอ สมาชิกแรกตั้ง จำนวน 100 คน เงินกองทุนฯ จำนวน 36,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 429 คน เงินกองทุนฯรวมทั้งสิ้น จำนวน 586,882 บาท จนกระทั้ง
พ.ศ. 2556 มีประชุมสามัญครั้งใหม่ ประกาศว่าจะมีกาปันผลกำไรให้กับสมาชิกทุกคนประจำทุกปี มากน้อยขึ้นอยู่กับกำไรที่ได้ในปีนั้นๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจทำให้กับสมาชิก หลังจากประกาศครั้งนั้น ทำให้มีคนที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันสมาชิกกว่า 800 คน เงินทุนสะสม จำนวน 7,800,000 บาท ผลกำไร จำนวน 221,976 บาท
ระเบียบ/กติกาของกลุ่ม คือ 1) สมาชิกจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลควนสตอ 2) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ 3) เป็นผู้มีความประพฤติดี 4) เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติเสียหาย ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถลงทะเบียนเป็นสมาชิก เสียค่าสมัคร 20 บาท และต้องมีการเปิดบัญชีเงินฝากและจะต้องนำเงินฝากเป็นประจำทุกเดือน 100 บาท
กลไกของคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ เกิดจากคนที่มีคุณสมบัติดี มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีองค์ประกอบ 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 5 ท่าน 2.คณะกรรมการฝ่ายสินเชื่อ (เงินกู้) จำนวน 4 ท่าน 3. คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบ จำนวน 3 ท่าน และ 4. คณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ จำนวน 3 ท่าน
นายยาหมาย หลีเยาว์ เล่าต่อว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ จัดตั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556สมาชิก จำนวน 14 คน กลุ่มองค์กรที่ร่วม จำนวน 14 กลุ่ม ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานของประเด็นงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม อสม. ฯลฯ และ
สภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ ได้มีการประชุมและจัดให้เกิดเป็นพื้นที่กลางในการหารือของคนในตำบลร่วมกันกับหน่วยงาน ท้องที่ ท้องถิ่นต่างๆ มีการวางแผนการพัฒนาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มออมทรัพย์ฯ การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยงโดยชุมชน เป็นต้น
กระบวนการทำงานโยงเป็นเครือข่ายชุมชน โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอเป็นพื้นที่กลางในการร่วมปัญหาของพี่น้องในชุมชน กลุ่มองค์กร เกิดการบูรณการและประสานเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมสร้างและเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบการทำงานร่วมที่เป็นความต้องการของพี่น้องในชุมชนนอย่างแท้จริง
นางสุณี หลีเยาว์ สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ และเป็นสมาชิกกลุ่มสตรี ผลิตลูกประคบสมุนไพร เล่าว่า ที่ผ่านมาตนก็เป็นคนหนึ่งที่มีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา ไม่มีงานประจำ ไม่มีรายได้ที่มั่นคง พอมาถึงช่วงราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ประสบปัญหาภาวะหนี้สิ้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละวัน ทำให้มีการพูดคุยกันในกลุ่มคนที่มีปัญหาจะทำอย่างไร ที่จะให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้นำปัญหาเหล่านี้เข้าหารือในวงสภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา และต้นทุนที่เป็นแหล่งของการผลิตอาชีพ สร้างรายได้ว่าในพื้นที่ตำบลควนสตอ มีฐานทรัพยากรฯที่สมบูรณ์ บุคคลกรมีความรู้ด้านสมุนไพร มีผลผลิตของสมุนไพรหลายชนิดในพื้นที่ รวมถึงมีตลาดในการส่งสินค้าเนื่องจากพื้นที่ติดกับเขตการค้าไทย-มาเลเซีย จึงเป็นจุดเริ่มของกลุ่มอาชีพต่างๆในตำบลควนสตอ ที่ได้รับการยอมรับ เป็นสินค้า OTOP ระดับตำบล และได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มนวดแผนไทยและการผลิตภัณฑ์สมุนไพรตำบลควนสตอ เนื่องจากเชื่อว่า ลูกประคบสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำบัดอาการของโรคทางกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ผิวหนัง สมุนไพรที่คลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและเซลล์ที่อยู่ใต้ผิวหนัง ลดการตึงเครียดทำให้เส้นเอ็นหย่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดการอักเสบ แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว บรรเทาอาการคันตามร่างกาย บำรุงผิว ช่วยรักษาเม็ดผดผื่นคันตามผิวหนัง ลูกประคบสมุนไพรสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยของบรรพบุรุษไทยได้อย่างน่าทึ่งยิ่งนัก
นางมารียำ อุสมุน เล่าให้ฟังต่อว่า สิ่งค้าที่ได้รับความนิยมของประชาชน นอกจากลูกประคบแล้ว ทางกลุ่มยังมีการผลิตขี้ผึ้งไพล ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งหมด
สภาองค์กรชุมชนตำบลควนสตอ มีการสนับสนุนกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการนวดแผนไทย การจัดตั้งร้านชุมชน ออกบู๊คร้านค้าชุมชนตามงานที่ทางหน่วยงานๆต่างจัดขึ้น
จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้พี่น้องมีงาน มีรายได้เสริม ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รู้จักการเก็บออมเงิน มีสวัสดิการที่รองรับ เกิดความสามัคคี ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรักแบบพี่น้องดูแลเอาใจกัน อยู่กันอย่างสงบสุข