โดยชณาฎา เวชรังษี
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” สิ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม คือ การส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิต และอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนนั้นๆ จึงควรปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก ตื่นตัวและสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนให้ดำรงอยู่ โดยผ่านบอกเล่าหรือการปฏิบัติจากผู้เฒ่าผู้แก่ นักปราชญ์ชุมชนสืบต่อกันมา
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอนชาวบ้านเรียก “โคก” มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ทั่วไปกลายเป็น “บ้านโคกม่วง”
ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นแห่งหนึ่งที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยเพราะประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นประเด็นสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพของผู้สูงอายุทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าทางสังคม การมีชีวิตความเป็นอยู่มีความสุขร่วมกันรวมถึงการให้สังคมเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุตามวิถีวัฒนธรรมชุมชน ที่ตำบลโคกม่วงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
โคกม่วงมีทุนของชุมชนที่เข้มแข็งมีทั้งกลุ่มออมทรัพย์กองทุนสวัสดิการตลอดจนกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆจำนวนมาก กลุ่มเหล่านี้มาจดแจ้งเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี พ.ศ. 2558 และได้ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีสำคัญในการทำงานกับชาวบ้านและภาคีพัฒนาต่างๆ
สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกม่วง นำเรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับปากท้องของพี่น้อง คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงการนำโอกาสที่คนในตำบลจะได้รับนำมาหารือในที่ประชุมด้วย ซึ่งโครงการต่างที่ทางภาครัฐ องค์กรต่างๆให้การสนับสนุนมายังพี่น้องในตำบล ก็จะผ่านเวทีสภาองค์กรชุมชนโคกม่วง ก่อนทุกครั้ง ได้โครงการขอรับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ตำบลโคกม่วงเป็น 1 ตำบล ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “หอมกลิ่นลำดวน” จึงเป็นจุดเริ่มของโครงการ นี้
ชื่อโครงการหอมกลิ่นลำดวน เกิดจากมติที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกม่วง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และได้มีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในตำบลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนโคกม่วง รพ.สต. เทศบาลตำบลโคกม่วง สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา เป็นต้น ผู้สูงอายุ เปรียบเสมือนดอกไม้ ที่มองอย่างไรยังคงสวยงามอยู่ตลอดเวลา ต่างจากบุคคลทั่วไปที่มอง ผู้สูงอายุเป็นเพียงคนแก่ อยู่ติดบ้าน ไปไหนมาไหนลำบาก ทำอะไรไม่ได้มากไม่มีคุณค่าทางสังคมเท่าไรนัก จะทำอย่างไรให้ความรู้สึกเหล่านี้มันจะหายไป จึงพยายามให้ประชาชนในตำบลเปลี่ยนความคิดว่า “ผู้สูงอายุแท้จริงแล้วพวกเขามีคุณค่าสมควรที่จะเอาใจใส่และดูแล” เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ ได้รับรู้ว่าเขามีความสำคัญต่อสังคมเหมือนกับกลุ่มคนทั่วไปเช่นกัน จึงใช้ดอกลำดวน เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุในชุมชน
เริ่มจากค้นหาจุดเด่นของผู้สูงอายุ ที่บุคคลทั่วไปไม่มีแต่คนเหล่านี้มี นั่นคือภูมิปัญญาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านยาสมุนไพร หมอชาวบ้าน จักรสาน ขนมไทยพื้นบ้าน ดนตรี เพลงกล่อม เป็นต้น ที่มีอยู่จากผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลโคกม่วง ภูมิปัญญาเหล่านี้ล้วนสามารถถ่ายทอดให้กับลูกหลานรุ่นหลังได้ เพราะผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน การที่เยาวชน ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้ จากการถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ เข้าใจถึงรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรม การแบ่งปันเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยการศึกษาเรียนรู้ตามวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนที่มีมาช้านาน บนพื้นฐานของธรรมชาติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตได้อยู่คู่ชุมชนตลอดไป
โดยเริ่มจากการวางรากฐานของชีวิต คือ เรื่องความมั่นคงทางการเงิน ผลการสำรวจพบว่ามีผู้สูงอายุในตำบลโคกม่วงมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานหางานเงินเลี้ยงตนเอง บางคนเงินที่ได้จากการทำสวน ทำไร่ ต้องแบ่งให้ลูกหลาน บางคนมีลูกหลานทำงานดีๆก็ได้พึ่งพาอยู่บ้าง การส่งเสริมการออม เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้ให้ความมั่นคงของผู้สูงอายุ ตามวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการสืบค้นประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนตำบลโคกม่วงมีอยู่มากมายกว่าสิบประเภท สามารถรวบรวมจัดเป็นประเภทใหญ่ได้ 5 ประเภท ดังนี้ 1.นวดแผนไทย 2.ยาสมุนไพร 3. วรรณศิลป์ 4.จักรสาน และ 5.ขนมไทย โดยแต่ละประเภทมีผู้สูงอายุขึ้นทะเบียนประวัติภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 25 คน เพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยการผ่านเวทีกิจกรรมทั้ง 5 ประเภท ให้เกิดผลและความยั่งยืนของการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละด้านให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และร่วมกันอนุรักษ์ให้เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชนตำบลโคกม่วงต่อไป ได้มีการประสานความร่วมมือกลุ่มผู้สูงอายุและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆในพื้นที่ตำบลโคกม่วง
การดำเนินงานได้จัดการอบรมวิทยากรภูมิปัญญาเพื่อถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้แก่ประชาชนในตำบล จำนวน 1 ครั้ง ที่ เทศบาลตำบลโคกม่วง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในแต่ละด้านได้มีวิธีการในการสื่อสารกับผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้อย่างมืออาชีพ เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละท่านส่วนใหญ่ฐานะทางการศึกษาไม่ได้จบระดับสูง หรือบางท่านก็ไม่ได้เรียนหนังสือ มีแต่ความรู้ที่ได้จากการสะสมประสบการณ์ในการดำรงชีวิต ที่ถูกถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อๆกันมา โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลโคกม่วงเป็นวิทยากรให้ความรู้หลังจากการอบรมเป็นวิทยากรภูมิปัญญา โดยตัวแทนแต่ละด้านต้องลงพื้นที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปในชุมชนได้เรียนรู้ โดยเริ่มจากนวดแผนไทย ร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกม่วง รส.พต.โคกม่วง ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยหลังคลอด ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ เป็นต้น ในการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทางทีมนวดแผนไทย นางพรั่ง ชุมทอง คณะกรรมการโครงการฯ และเป็นประธานกลุ่มนวดแผนไทย ทำการปฏิบัติงานในการนวดแผนไทยให้ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคล้าย คลายความปวดเมื่อยร่างกาย ผู้ป่วยมีความสุขสบายใจมากขึ้น
เพื่อให้มีการขยายผลจึงได้มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต้นแบบภูมิปัญญาบนเวทีและการบอกเล่าเรื่องราวศิลปวัฒนธรรรมที่มีอยู่ทั้ง 5 ประเภท โดยการจัดซุ้มภูมิปัญญาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลโคกม่วง กำหนดเวทีสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น “หอมกลิ่นดอกลำดวน” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชุมชน ทั้ง 5 ประเภทภูมิปัญญา กว่า 200 คน ในการเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน พร้อมแนวทางในการอนุรักษ์สร้างคุณค่าในการสืบสานวัฒนธรรมของคนตำบลโคกม่วงร่วมกัน ทำให้เด็กเยาวชนและคนในชุมชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ของการดำรงชีวิตตามวิถีชุมชนดั้งเดิม ที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญที่คนรุ่นหลังจะต้องเรียนรู้และสืบทอดให้เกิดความยั่งยืนของภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป