โดยสุวัฒน์ คงแป้น
รัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เดิมชื่อ “ตำบลสั้นใน” ต่อมาในปีพ.ศ.2483 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลรัษฎาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิษศรภักดี (คอชิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ว่าการมณฑลภูเก็ตประกอบด้วย 7 ชุมชน ประชากร 19,830 ครัวเรือน รวม 47,397 คน มีทั้งชนพื้นเมือง ชาวเลอูรักลาโว้ย คนภูเก็ตดั้งเดิม และผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในภายหลังเพื่อหางานทำ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อาชีพส่วนใหญ่ รับจ้าง ค้าขาย และประมงพื้นบ้าน
ชุมชนในเทศบาลตำบลรัษฎามีความเป็นอยู่แออัด ไม่มีความมั่นคงในด้านที่ดินที่อยู่อาศัย ขาดสาธารณูปโภคและการบริการพื้นฐานจากรัฐ รายได้ที่ได้มาจากการประกอบอาชีพของชาวบ้านต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติเช่น ค่าน้ำยูนิตละ 30 บาท ค่าไฟยูนิตละ 7 บาทโดยเฉพาะการอาศัยอยู่ของชุมชนดั้งเดิมอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล “อุรักลาโว้ย” บริเวณแหลมตุ๊กแก บนเกาะสิเหร่ยังมีการอยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม
จากปัญหาดังกล่าว สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรัษฎา ได้วิเคราะห์ปัญหา และความต้องการที่มีความหลากหลาย พบประเด็นปัญหาหลักอยู่ 2 ประการ คือ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย นำไปสู่ความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้วิถีชีวิตและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีความลำบากเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลรัษฎา จึงจัดทำแผนร่วมกับหลายภาคส่วนขอรับเงินงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามโครงการ “บ้านพอเพียงชนบท” ใน 2 ลักษณะ คือ 1) การให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่มีในชุมชน และ 2)การใช้สำหรับเป็นเงินทุนในการหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือคนทั้งตำบลในอนาคต โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชุมชนชาวเลดั้งเดิม
นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2557 ชุมชนในตำบลรัษฎายังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต มีมูลนิชุมชนไททำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง ใน 6 ชุมชน ได้แก่ (1) ชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 (2) ชุมชนปลากระตัก (3) ชุมชนท่าเรือใหม่ (4) ชุมชนประชาอุดม (5) ชุมชนโหนทรายทอง (6) ชุมชนมะลิแก้ว
ในปี 2562 ได้มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งตำบลอีกครั้ง โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินป่าชายเลน พบว่า มีข้อมูลชุมชนผู้เดือดร้อน อีก 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชน กิ่งแก้ว ซอย 9 และซอย10 ชุมชนท่าจีน กว่า 1000 ครัวเรือน ล่าสุดจึงได้มีการออกแบบการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยโดยการจัดทำแผนพัฒนาเมืองทุกมิติ โดยมีกลไกการทำงานร่วมหลายฝ่าย ทั้ง ตัวแทนผู้เดือดร้อน ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่และภาคีอื่นๆ ที่เกียวข้อง และจะมีการนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เพิ่มเติมอีกครั้งนอกเหนือจากที่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้วใน 6 ชุมชน ดังกล่าว
ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรัษฎาใช้มาตรา 23 แห่งพรบ. สภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยจำนวน 11 คนโดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านพอเพียงชนบทและโครงการบ้านมั่นคง โดยได้มีการประสานงานกับสำนักงานเทศบาลตำบลรัษฎาในการทำงานร่วมกัน มีการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครพัฒนาชุมชน แกนนำกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสตรี (ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชุมชน ทั้งการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ)
ผลการดำเนินงานบ้านพอเพียงชนบทไม่เพียงทำให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเท่านั้น แต่คนชายขอบอย่างชาวเลก็สามารถเข้าถึงงบประมาณ นำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยงภาคีพัฒนามาร่วมกันวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยกันทั้งหมด โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นเวทีกลางให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหา รวมทั้งขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆอย่างเป็นระบบ เช่น การร่วมกับภาคีแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
และที่เป็นมิติสำคัญของคนที่นี่ก็คือการเชื่อมโยงภาคประชาชนทั้งสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ตให้มาทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ร่วมของคนรัษฎา ทั้งหมด