โดยสุวัฒน์ คงแป้น
ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 97 ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาพุทธ ประเพณีและงานประจำปี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ งานเมาว์ลิดประจำตำบลเกาะกลาง และโครงการเข้าสุนัต ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น คือ กลุ่มเตยปาหนัน หมู่ที่ ๒ บ้านร่าหมาด ผลิตเตยปาหนันเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน กลุ่มรองแง็ง หมู่ที่ ๒ บ้านร่าหมาด รักษาวัฒนธรรมพื้นบ้าน สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกโดดเด่น คือ กาแฟโบราณบ้านร่าหมาด ในพื้นที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น ป่าโกงกาง ป่าทุ่งทะเล ภูเขาร่าปูดอน ร่าปูเล เกาะสนกลาง เกาะหินงาม เกาะเขาพัง เกาะย่าหนัด เกาะเคี่ยมงาม ชายหาดประกอบด้วย หาดทุ่งทะเล หาดเจ้าอูฐ
ราษฎรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรมได้แก่ทำนา ปลูกข้าว สวนยางพารา สวนปาล์ม และยังมีการทำประมงที่ขึ้นชื่อคือ บ่อเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพส่วนตัวและรับจ้างทั่วไป
กลุ่มองค์กรและแหล่งเรียนรู้ในตำบล มีหลากหลายด้าน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเกาะกลาง กองทุนสวัสดิการฟื้นฟูชีวิตใหม่หลังประสบภัยสึนามิบ้านลิกี (หมู่บ้านจัดการตนเอง) ออมทรัพย์เพื่อการลงทุนบ้านขุนสมุทร กลุ่มเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังบ้านขุนสมุทร กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังบ้านร่าหมาด กลุ่มตัดเย็บร่าหมาดร่วมใจ กลุ่มจักสานเตยปาหนัน กลุ่มกาแฟโบราณบ้านร่าหมาด ระบบสืบสานวิถีชุมชนสู่ความยั่งยืน คือ กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย กลุ่มท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนบ้านร่าหมาด-ขุนสมุทร กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะกลาง ที่มีการรวมตัวของกลุ่มองค์กร เครือข่ายในตำบลกลไกเชื่อมโยงให้ทุกองค์กรมาทำงานร่วมกัน
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะกลาง ได้มีการประสานงานกลุ่มองค์กรและภาคีต่างๆ ในการร่วมกำหนดแผนพัฒนาตำบลภาคประชาชนปี 2561-2563 โดยมี วิสัยทัศน์ คือ สภาองค์กรชุมชนเข้มแข็ง เป็นรากฐานการพัฒนา เชื่อมโยงภาคี สู่วิถีชีวิตดั้งเดิม ประกอบด้วยแผนพัฒนา 4 ด้าน คือ 1) การสร้างความร่วมมือองค์กรชุมชนในตำบล 2) ขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาร่วมกันในชุมชนอย่างบูรณการ 3) สร้างความร่วมมือประสานภาคีภายนอก และ 4) ฟื้นฟูและรณรงค์วัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมของตำบล
ปี 2561 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.สำนักงานภาคใต้ ได้ สนับสนุนงบประมาณไปยังสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะกลาง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่ที่ 3 6 และ 9 ที่ว่างงานมีอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัว
จัดเวทีประชุมร่วมกันในตำบล ระหว่าง สภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะกลางกับสภาวัฒนธรรมตำบล เพื่อวางแผนการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาความเป็นชุมชนดั้งเดิม รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน จัดระบบกลไกการทำงานร่วมกัน แบ่งความรับผิดชอบในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวิถีความเป็นชุมชนดั้งเดิม โดยมีระบบการจัดการร่วมกัน มีที่พักโฮมสเตย์เรียบง่ายอบอุ่นไปด้วยวิถีวัฒนธรรมกับชุมชนมุสลิม ที่ตั้งอยู่ริมชายคลองปากแม่น้ำ สามารถเดินทางเข้าถึงโดยเรือหัวโทง อันเป็นเรือประจำถิ่นในชุมชนชายฝั่งอันดามันอันเกิดจากทักาะภูมิปัญญาของชาวเลเกาะกลาง นอกจากนี้ในตำบลยังมีแหล่งเรียนรู้การทำเรือหัวโทง และชมการสาธิตทำเรือหัวโทงจำลองได้อีกด้วย
นายทิตอารุณ สัจจสุจริตกุล เยาวชนตำบลเกาะกลาง กล่าวให้ฟังว่า “เกาะกลางมีลักษณะพิเศษมาก มีทั้งภูเขา ชายทุ่ง ชายฝั่งและท้องทะเลที่สามารถทำประมงได้ทั้งปี ในพื้นที่เกาะกลางยังมีการปลูกข้าวหลายหมู่บ้าน จุดที่นักท่องเที่ยวชอบ คือ การชมท้องทุ่งรวงทองบนเกาะกับข้าวสังข์หยดรสชาติดีที่ปลูกได้ปีละครั้ง และชมศิลปะบนผืนผ้าตั้งแต่การปั๊มลายเทียนจนย้อมสีกลายเป็นผ้าปาเต๊ะที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ ในเกาะกลางมีอาหารทะเลสด ทุกเมนูซีฟู้ดของที่นี่อร่อยๆ ฝีมือแบบเข้มๆของคนเกาะกลาง และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีเทศกาลตกปลาที่อ่าวทองหลาง และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพานักท่องเที่ยวออกชมทะเลชมวิถีชุมชนดั้งเดิมของคนรอบอ่าวได้”
นอกจากนี้ยังเกิดเวทีการประชุมสัญจรในแต่ละพื้นที่ในการสร้างคุณค่าการทำงานร่วมกัน ร่วมถึงการเชื่อมร้อยเครือข่ายระหว่างตำบลเพื่อให้เกิดพลังร่วมในการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ร่วมกันกับตำบลอื่นๆ เช่น ตำบลคลองยาง ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย และได้นำกรรมการกับเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน นอกสถานที่เพื่อจุดประการให้กรรมการได้มีแนวทางใหม่ๆ นำมาปรับใช้ในการทำงานในตำบลของตนเอง
การดำเนินงานครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคีพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแกนนำที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมสืบทอดงานพัฒนาบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย