ท่าแหม็ด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นชื่อของท่าเรือและตลาดน้ำเก่าแก่ของตำบลท่าเสม็ด อยู่ตรงบริเวณหน้าวัดท่าเสม็ดในปัจจุบัน เป็นตลาดน้ำที่มีความสำคัญ ในการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าลุกค้าต่างถิ่น เช่น เชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง และชาวระโนด จังหวัดสงขลา สินค้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของตลาดแห่งนี้คือ เปลือกต้นเสม็ด ที่เอาไปคลุกกับน้ำมันยางแล้วใช้ต้อหมาก (กาบหมาก)ห่อผูกด้วยหวายหรือเถาวัลย์ทำเป็นใต้ ใช้จุดไฟตามแทนตะเกียง เรียกว่า “ขี้ใต้” ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ เกษตรกรรมได้แก่ ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีคลองธรรมชาติ 4 สายไหลผ่าน ได้แก่ คลองชะอวด คลองห้วยลึก คลองเลน คลองบางน้อย ทั้ง4สายจะไหลลงสู่ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งในฤดูฝนชาวบ้านที่เว้นจากการกรีดยางจะหันมาทำอาชีพประมง และสานกระจูด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยางและปาล์ม มีราคาตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาจึงได้ร่วมกันค้นหา อาชีพที่พอจะสร้างรายได้ ให้กับชุมชนโดยอาศัยสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน จนนำไปสู่การตั้ง “คณะทำงานด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน”
จากการทำงานที่ผ่านมา คณะทำงานด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชนได้เชื่อมโยงกับหน่วยงานในอำเภอชะอวดเพื่อพัฒนาต่อยอดการทำงานเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนให้มีการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยังยืนได้ เช่น ประสานสำนักงานเกษตรอำเภอชะอวด ได้เข้ามาสนับสนุนความรู้การจัดการผลผลิตการเกษตร เช่น เงาะ มังคุด เพื่อให้ได้คุณภาพเพื่อการส่งออกโดยไปเชื่อมโยงกับบริษัท Farming Farm โดยองค์การบริหารส่วนตำบล เข้าสนับสนุนงบประมาณในการพูดคุยถึงการรวมขายสินค้าเพื่อตัดพ่อค้าคนกลาง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจและทุนต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 และที่สำคัญคือ ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเชื่อมโยงทุนภายในมาสนับสนุน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อหาทุนสำรองในการรวมขายเพื่อการประมูลสินค้า
กิจกรรมของสมาชิก เริ่มจากการกลุ่มปลูกพริกไทย ที่รวมกลุ่มกัน “ปลูกพริกไทยแซมสวนยาง เพื่อเสริมรายได้” จากสมาชิก 30 คน จนเป็นที่รู้จักของคนในตำบลทำให้สมาชิกขยายเพิ่มไปเรื่อยๆ จากที่แรกๆสมาชิกไม่มั่นใจ อย่าง นาย เชย บำรุงชู (ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าเสม็ด) พูดว่า “บ่าวเห้อ… แล้งพันนี้อีปลูกพริกไทยพรื้อหวางมันอีโต หวางอีได้เก็บพริกไทย ชาวบ้านก็ต้องตัดยางโล 15 บาท ตางที่ขายยางซื้อกับข้าว ใช้หนี้ธกส.ก็ฉาดแล้ว” แต่ท้ายที่สุดก็ประสบผลสำเร็จและมีการปลูกเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ปัจจุบันเกษตรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก สามารถผลิตพริกไทยดำขายทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในรายได้หลัก คือ ยางพารา เพิ่มความหลากหลายการผลิตและรายได้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรกรได้อีกด้วย
จากผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้คนในชุมชนตื่นตัว หันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และมีแผนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนให้ชุมชน สู่เป้าหมาย “ชุมชนมั่งคั่ง เศรษฐกิจมั่นคง” ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เกิดการออมมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงและขยายไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป
อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ”การรวมขายผลไม้ (มังคุด เงาะ)” โดยนำผลไม้มารวมกันแล้วประสานงานพ่อค้าคนกลางมาประมูลสินค้านะจุดนับพบ ทำให้ขายผลไม้ได้ราคาสูงกว่าตลาดที่อื่นๆในจังหวัด ทำให้กลุ่มมีส่วนต่างสามารถนำมาสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกได้ทั่วถึง หลังจากนั้นขยับมาทำ “รวมขายเศษยางคุณภาพ” โดยได้มีการดำเนินไปแล้ว 1 ครั้ง นำเศษยางมารวมกันได้ จำนวน 30 ตัน ซึ่งจะดำเนินการจัดชื่อเดือนละ 2 ครั้ง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายรวมขายกับตำบลอื่นๆ ได้แก่ ตำบลท่าเสม็ด ตำบลขอนหาด ตำบลวังอ่าง ซึ่งสลับกันหมุนเวียน
จากคำพูดของชาวบ้านที่เคยไม่มั่นใจในสิ่งที่ร่วมกันทำและแสดงความกังวล เพราะราคายางตกต่ำ แต่วันนี้ท่าเสม็ด ก็ได้พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นแล้วว่า การร่วมกันค้นหาทางออก เพื่อการพึ่งพาตนเองย่อมผ่าวิกฤต ด้านเศรษฐกิจได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ต้องนั่งรอให้รัฐมาช่วย ยามเกิดปัญหาอีกต่อไป