บ้านแม่ละนา เป็นชุมชนเก่าแก่ชาวไทใหญ่ อพยพมาจากฝั่งพม่า ตั้งรกรากมานานกว่า 200 ปี บนพื้นที่ราบลุ่มกลางหุบเขา อ.ปางมะผ้า ปัจจุบัน มี 165 ครอบครัว ประชากร 850 คน มีพื้นที่ของหมู่บ้านทั้งหมด 4,840 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์เป็นเขตป่า (1,000 ไร่) พื้นที่อยู่อาศัย (200 ไร่) พื้นที่สาธารณอนุรักษ์ (100 ไร่) พื้นที่ทำกิน (นา ไร่ สวน 3,540 ไร่) โดยมีการทำเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นข้าวนา มีข้าวไร่บ้างแต่ผลผลิตไม่ดีจึงลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งประชาการส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นจะมีอาชีพและมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ 44% เช่น เลี้ยงไก่ หมูดำ วัว ควาย ตามลำดับ รองลงมาคือการรับจ้างทั่วไป 31% เช่น งานก่อสร้าง พนักงานเอกชน พนักงานรัฐและอื่นๆเป็นต้น และการทำการเกษตร ทำสวน ทำนา ทำไร่ 21% และอื่นๆ 4%
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านแม่ละนาส่วนมากพื้นที่จะสูงชันเป็นหุบเขาสูง มีพื้นที่ราบลุ่มเป็นส่วนน้อยและมีแหล่งน้ำ ลำห้วยผ่านชุมชน สภาพดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก รวมทั้งมีแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภคสมบูรณ์ จึงมีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้น เกิดการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม และมีภูมิอากาศเหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป พอถึงฤดูร้อนจะมีอากาศเย็น มีลมพัดผ่านเย็นสบายเหมาะแก่การปลูกพืชผลเมืองหนาวและทำการเกษตรอื่นๆ เช่น การทำไร่ชา ,ไร่กาแฟ ,ไร่ส้ม , และไม้ผลต่างๆ เป็นต้น
ระบบการผลิตพืชบ้านแม่ละนาเป็นการผลิตพืชเพื่อสร้างรายได้ และเป็นอาหารให้กับคนและสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน ชนิดพืชที่ปลูกมีไม่หลากหลาย เนื่องจากสภาพดินในบริเวณพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสม และสามารถปลูกได้เพียงช่วงฤดูเดียว คือ ฤดูฝน ในที่ดอนพืชที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ไร่ มีงาดำ งามน ถั่วแดง ถั่วไร่ ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดพื้นเมือง ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่งจะเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีนี้ อีกทั้งแม่ละนายังเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเสริมที่หลากหลาย เช่นการท่องเที่ยวที่จัดการโดยกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน มีสมาชิก 70 ครัวเรือน มีที่พัก Home Stay ได้รับรางวัลอันดับ 1 ระดับประเทศ กลุ่มนี้เชื่อมกิจกรรมสู่หลายกลุ่ม เช่นกลุ่มไกด์ กลุ่มน้ำมันงา กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มทอผ้า กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี
ในอดีตมีการเลี้ยงวัว-ควายเป็นจำนวนมาก รูปแบบการเลี้ยงในฤดูฝนจะให้หากินตามดอย (แบบปล่อย) เพราะพื้นที่ในที่ดอนและที่สูงยังไม่มีพืชเศรษฐกิจมาก มีเพียงข้าวไร่ ซึ่งมีการล้อมรั้วเป็นอย่างดี ส่วนในฤดูแล้ง จะพาวัว-ควายมาเลี้ยงในพื้นที่นา ใกล้หมู่บ้าน เพราะน้ำไม่เพียงพอจึงไม่มีพืชหลังนา ปี 2520 มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเตรียมดิน โดยเกษตรกรหลายรายขายวัว-ควายมากขึ้น หันไปซื้อ “ควายเหล็กแทน”ปี 2543 มีการฟื้นฟูการเลี้ยงสัตว์อีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนสร้างอาชีพ” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวน 15 ราย ภายหลังเลิกไปจึงแบ่งวัวควายคนละ 3 ตัวปัจจุบันบ้านแม่ละนามีผู้เลี้ยงวัว-ควายทั้งหมด 13 ครัวเรือน แบ่งเป็น เลี้ยงวัว 10 ครัวเรือน รวม 140 ตัว เลี้ยงควาย 3 ครัวเรือน รวม 20 กว่าตัว ทั้งหมู่บ้านแม่ละนามีการเลี้ยงวัว ควาย รวมมากกว่า 175 ตัว แต่ยังไม่มีการรวมเป็นกลุ่มหรือแนวทางในการจัดการระบบร่วมกันที่ชัดเจน และไม่มีกองทุนหมุนเวียน
จุดเด่นของระบบวัว-ควาย คือ ต้นทุนต่ำ เลี้ยงแล้วคุ้มทุน หากินเองได้ ราคาไม่ตก มีความต้องการของตลาดสูง ขายเมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งสภาพพื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านไม่ค่อยเหมาะสมกับการปลูกพืชโดยเฉพาะในช่วยฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอที่จะทำการเกษตร
สภาพปัญหาหลักในการเลี้ยงวัว-ควาย คือ หญ้าหรือทุ่งหญ้าที่เลี้ยงที่มีปริมาณลดลงเพราะความแห้งแล้ง ป่าลด สถานที่เลี้ยงเริ่มน้อยลงเพราะมีพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การขยายตัวของพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปลูกบนที่สูง ที่ดอน ในฤดูฝน ปัญหาน้ำ/ แหล่งน้ำ มีปัญหาในฤดูแล้ง เมื่อน้ำในลำห้วยแห้งขอด และปัญหาการทำลายพืชผลของเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องเสียค่าปรับคนละประมาณ 30,000 บาท/ ปี [1] เนื่องจากขอบเขตพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่ทำกินของหมู่บ้านรอบๆ ชาวบ้านหลายคนจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงเพราะไม่คุ้มกับการเสียค่าปรับในแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามชาวบ้านบางส่วนก็ยังเห็นถึงคุณค่าของการเลี้ยงเลี้ยงวัว-ควาย เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งการนำวัว-ควายมาปล่อยเลี้ยงในพื้นที่นา ทำให้ไม่มีหญ้าขึ้นรก ลดปัญหาจากการที่จะต้องตัดหญ้าหรือการใช้ยาฆ่าหญ้า อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้กับพื้นที่นาตามธรรมชาติไปในตัว ชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการพึ่งพากันและกันในการเลี้ยงวัว-ควายกับการทำนา
เมื่อทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการเลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนา (อดีต – ปัจจุบัน) พบว่า ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในชุมชนบ้านแม่ละนาชุมชนจะมีวิถีการทำเกษตร และการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก ทำนาปลูกข้าวใช้แรงงานสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อใช้แรงงาน มีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นนารวมของชุมชน และมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์มาก มีการเลี้ยงสัตว์จะช่วยกันดูแลมีพื้นที่สาธารณะของชุมชน มีพื้นที่อาหารที่อุดมสมบูรณ์ และระบบการเลี้ยงจะไม่ขาย เช่น วัว ควาย หมูดำ และในสมัยก่อน วัว ควาย เอาไว้ใช้แรงงาน จะไม่กินเพราะมีความเชื่อว่าสัตว์ที่ใช้ทำงานกินแล้วจะไม่ดีและปัจจุบันยังมีแนวคิดเช่นนี้อยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ความเชื่ออีกเรื่องของสัตว์เลี้ยงที่ตายด้วยสัตว์ป่ากิน หรือตายแบบไม่รู้สาเหตุ เชื่อว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้กระทำความผิดในบางเรื่อง เกิดการลงโทษ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องเรียกขวัญของอภัยโทษ ซึ่งในอดีตจะเคารพต่อสัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงานมาก เช่น วัว ควาย จะมีการเรียกขวัญสัตว์ทุกฤดูกาลในการผลิตข้าว หรือการทำการเกษตร ในชุมชนมีการเลี้ยง วัว ควาย มากเพื่อใช้แรงงานและใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในการทำการเกษตร ในอดีตจะไม่มีการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรอย่างใด ใช้ปุ๋ยจากมูล วัว ควาย ในการปรับปรุงดินปรับปรุงพืช
ปัจจุบันเกิดการพัฒนาของสังคมในชุมชน ทำให้ระบบการเลี้ยงสัตว์ชุมชนบ้านแม่ละนาโดยรวมเป็นการเลี้ยงเพื่อขาย และการบริโภคในครัวเรือน ชาวบ้านเน้นในการค้าขายไม่เน้นการกิน มาหลังๆชุมชนเริ่มมีถนนหนทางที่สะดวกสบายขึ้น มีการสัญจรไปมาได้ดีขึ้นทำให้มีพ่อค้าเพื่อนบ้านเข้ามาหาซื้อสัตว์ถึงที่ และในชุมชนมีเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มหันมาในแนวทางความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เกิดการใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนชีวิตบ้าง มีการขายสัตว์เลี้ยงยังตลาดพ่อค้า เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว แต่เป็นการปรับวิถีการอยู่ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สภาพการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของสังคมโลกทุกวันนี้ ทั้งนี้การขายสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องใหญ่ที่เน้น เพราะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากกว่าภาคการทำเกษตร ชาวบ้านในชุมชนยังคงเน้นการเลี้ยงเพื่อขายคงเดิมตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และปัจจุบันมีการเลี้ยงสัตว์น้อย (วัว ควาย) เนื่องจากพื้นที่เลี้ยงสัตว์ไม่มี กลายเป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจไปหมด อีกทั้งเวลาในการเลี้ยงสัตว์ไม่มีด้วยของเกษตรกร และการขาดความรู้ในการจัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ที่ดี
บ้านแม่ละนาเป็นหมู่บ้านชาวไทยใหญ่(ไตเดิม) บริเวณหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ลักษณะหมู่บ้านในปัจจุบันในรอบๆหมู่บ้านมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน ประกอบอาชีพการทำไร่ ทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งการพึ่งพิงอิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นอาหาร และรายได้ เช่น การหาของป่ามาบริโภคและขาย เป็นต้น
ชุมชนไทยใหญ่ มีประเพณีที่สำคัญๆ หลายอย่าง เช่น งานปอยส่างลอง ปอยต้นที ปอยหลู่ข้าวยากู้ ปอยปีใหม่ประจำปี เป็นต้น ชาวบ้านไทยใหญ่บ้านแม่ละนาจะมีงานปอยทุกเดือน เป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้เกิดการเคารพทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่างจึงสามารถเชื่อมคนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อบอุ่นเชื่อมร้อยมิตรสหายมีแต่สิ่งดีงาม ซึ่งทั้งสองล้วนมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนบ้านแม่ละนา แต่ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ระบบการอยู่การทำมาหากินก็เปลี่ยนทำให้เกิดการปรับตัวทั้งคนและสัตว์
ระบบวิถีการดำรงชีวิตในชุมชนบ้านแม่ละนา
ระบบนา
ชุมชนบ้านแม่ละนา ภาพรวมมีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชทั้งหมดประมาณ 1,500 ไร่ ชาวบ้านโดยรวมมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยประมาณ 5 ไร่ ต่อครัวเรือน ลักษณะการทำนา ได้รับน้ำจากลำห้วยธรรมชาติ หนึ่งปีสามารถปลูกได้ครั้งเดียวปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมปลูกข้าวเจ้ามากกว่า
ระบบสวน
ชาวบ้านบ้านแม่ละนาประมาณ 60 % มีการทำสวน โดยมี 2 ลักษณะ คือ สวนหลังบ้าน และสวนไกลบ้าน ทั้งสองระบบมีการปลูกพืชผสมผสานและมีการเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วยกัน เมื่อได้ผลผลิตชาวบ้านมีการจัดการทั้งแบบไว้กิน แบ่งปัน และการขาย ซึ่งเป็นการรักษาระบบวิถีทางอาหารที่หลากหลาย เป็นระบบการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในบ้านแม่ละนา เช่น การขายสัตว์เลี้ยง หมู ปลา ไก่ เป็นต้น หรือพืชผักสวนครัวต่างๆ รายได้ที่เข้ามาในครัวเรือนหลายร้อยบาทต่อเดือน การทำเกษตรระบบสวนเป็นอาชีพที่เหมาะสมต่อชาวบ้านแม่ละนา เนื่องจากพื้นที่เป็นที่สูงเป็นหุบเขาเป็นส่วนใหญ่ เป็นสวนที่อยู่ตามลำห้วย รอบๆชุมชน เป็นสวนที่ไว้ผลิตอาหารที่หลากหลายสร้างรายได้ มีระบบเชิงการค้าขาย จะนิยมปลูกพืชปริมาณมากๆเพื่อขายเป็นหลัก เช่นการปลูกพืชอายุสั้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่งแดง ถั่วดำ มัน เผือก เป็นต้น และพืชอายุยาว ได้แก่ กาแฟ เสาวรส ไม้ผลชนิดต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลา ไก่ หมู วัว ควาย และเป็ด เป็นการทำสวนแบบผสมผสาน มีกระท่อมในสวนไว้เฝ้าดูแลพืชผัก สัตว์เลี้ยงในสวน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรเชิงการค้าอย่างพอเพียง มีมากขายมาก มีน้อยขายน้อยหรือไม่ขายเก็บไว้กินเอง
ระบบไร่
ระบบไร่ ปัจจุบันและอดีตบ้านแม่ละนาจะไม่มีรอบการหมุนเวียนเหมือนพี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยง เนื่องจากบ้านแม่ละนามีพื้นที่จำกัดและมีวิถีที่ต่าง ระบบไร่เป็นระบบการเกษตรที่สำคัญต่อชุมชน มีความเด่นในเรื่องความหลากหลายของพืชอาหาร ช่วยเรื่องการผลิตอาหารนานานพันธุ์ทำหน้าที่ในการผลิตอาหารเป็นหลัก เช่น ข้าวหลายสายพันธุ์ และพืชผักธัญญาหารนานานชนิดผสมผสานกัน เป็นการช่วยให้ชาวบ้านลดรายจ่าย มีพืชอาหารกินตลอดปีไม่ต้องซื้อ ระบบไร่บ้านแม่ละนามีส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นระบบสวน
ระบบการเลี้ยงสัตว์
ชาวบ้านบ้านแม่ละนามีระบบการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยตามธรรมชาติเป็นส่วนมาก เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย จะปล่อยให้ออกหากินตามธรรมชาติ ยกเว้นสัตว์เลี้ยงหมูดำจะขันคอกไว้ เป็นรูปแบบเรียบๆง่ายๆ เป็นธนาคารออมทรัพย์ของชาวบ้าน แต่ถ้ากรณีไปเลี้ยงในพื้นที่สวนชาวบ้านจะมีการขันไว้เพื่อไม่ให้ออกไปทำลายพืชผักของคนอื่น ซึ่งเป็นความรู้แบบเดิมที่มีความมั่นคงไม่เสียค่าปรับ แต่ละปีชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายสัตว์เลี้ยงหลายพันบาท เช่น ขายวัว หมู ไก่ ปลา ถึงเป็นระบบการจัดการที่ดีอีกระบบหนึ่งของชุมชนบ้านแม่ละนา ทุกครัวเรือนจะมีระบบการเลี้ยงสัตว์ไว้สำรองอาหาร ใช้ในประเพณีพิธีกรรมต่างๆ และการขายสร้างรายได้ คิดเป็นร้อยละ 70 % ของชุมชนที่มีการเลี้ยงสัตว์
ระบบการอิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ
ลักษณะของการทำการเกษตรของชุมชน ทรัพยากรอาหารจากธรรมชาติทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือเป็นสัตว์ทุกอย่างไม่มีเจ้าของ ในการเก็บหาอาหารจากธรรมชาติถ้าหากไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมนั้น จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ตนเองและส่วนรวม ดังนั้นจึงมีข้อปฏิบัติมากมายต่อการเก็บหาอาหารจากป่า เช่น กฎการดูแลป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ ป่าไร่ พื้นที่สัตว์เลี้ยง พื้นที่สัตว์ป่า เป็นต้น มีการถือปฏิบัติตลอดมาในชุมชน อาหารจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ชาวบ้านเชื่อว่าจะมีผี หรือเทพารักษ์ดูแลคุ้มครองอยู่ จะใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น และควรมีการสำนึกในการใช้และมีพิธีกรรม ขออนุญาต ขอบคุณ ขอโทษ ขอวิงวอน ฯลฯ ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชนที่ได้ร่วมกันสืบทอดและตั้งไว้โดยเคร่งครัด และถือเป็นภารกิจที่ทุกคนต้องช่วยกัน สอดส่อง ตรวจสอบ ป้องกัน ดูแล รักษา ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะเป็นพื้นที่ที่สำคัญยิ่งกับชุมชนในการผลิตอาหารที่หลากหลายที่สมบูรณ์ที่สุด
ความรู้ของระบบการเลี้ยงสัตว์ของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การเลี้ยงสัตว์จะต้องอาศัยความรู้ในการบริหารจัดการให้เป็นระบบ ซึ่งปัจจัยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตต่างๆเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เทคนิคความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ด้านต่างๆ พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ อาหารในการเลี้ยงสัตว์ แรงงาน/เวลาการดูแลสัตว์เลี้ยง ระบบตลาด และการรวมกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพในส่วนต่างๆเหล่านั้นให้ประสิทธิภาพ
เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่ระบบการเลี้ยง ระบบการตลาด ข้างต้น ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในชุมชน การเลี้ยงสัตว์จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการยอมรับ ดังนั้นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์จึงควรมีการพัฒนาการเลี้ยงในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้สายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาสำหรับการเลี้ยงที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านการจัดการอาหารสัตว์ โดยเฉพาะแหล่งพื้นที่อาหารหยาบ ควรมีการส่งเสริมให้มีกลุ่มเกษตรกรหาพื้นที่อาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น
ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์เกษตรกรบ้านแม่ละนา
ด้านเศรษฐกิจ การเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และหมูดำ บ้านแม่ละนา ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้จากการเลี้ยงในแต่ละปี เกษตรกรมีเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาในด้านรายจ่ายและการมีหนี้สิน สามารถทำการลงทุนที่เป็นของตนเอง เช่น การลงทุนทำการเกษตร การซื้อสัตว์มาเพาะเลี้ยงหรือการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในครัวเรือน การซ่อมแซมต่อเติมบ้านเรือน การซื้อของใช้ที่จำเป็นเพื่อความสะดวกในครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งชุมชนมีการจัดการระบบการเลี้ยงที่ดี โดยชุมชนบ้านแม่ละนาจะเลี้ยงสัตว์ประเภทหมูดำเป็นส่วนมาก รองลงมาคือการเลี้ยงไก่ มีระบบการเลี้ยงในพื้นที่สวน ไม่ต้องใช้ค่าใช่จ่ายอาหารมากในการเลี้ยงโดยการทำอาหารตามแบบธรรมชาติ“หมูดำ”เป็นสัตว์เลี้ยงประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้ เป็นสัตว์เศรษฐกิจในชุมชน เพราะความต้องการของตลาดในช่วงฤดูกาลประเพณีมีจำนวนมาก
ด้านสังคม ช่วยให้ผู้เลี้ยงมีอาหารไว้รับประทานภายในครอบครัว ในกรณีที่เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เช่น การเลี้ยงไก่เพื่อนำเนื้อและไข่มาเป็นอาหาร และช่วยให้ผู้เลี้ยงมีแรงงานจากสัตว์ไว้ช่วยในการทำงาน เพราะการทำการเกษตรบางอย่างยังต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ เช่น การใช้แรงงานจากควายในการไถพรวนดินเพื่อปลูกพืช การใช้แรงงานจากวัวในการขนข้าว
สังคมชุมชนบ้านแม่ละนายังมีความเชื่อทางประเพณี วัฒนธรรม ในอดีต ในเรื่องสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ชาวบ้านจะไม่กินสัตว์เหล่านั้น เชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้แรงงานเป็นเพื่อนร่วมทำงาน จะไม่นิยมกิน และแต่ละปีจะมีพิธีกรรมทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับสัตว์ก่อนเริ่มถึงช่วงทำนา ทำไร่ในการเกษตร เพื่อเรียกขวัญ ขออภัยโทษต่อสัตว์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการอนุรักษ์ รักษาพันธุ์สัตว์ไว้ ไม่ให้สูญหาย และเป็นการเคารพ แสดงความรักซึ่งกันและกัน
ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงสัตว์ทำให้ทรัพยากรมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากเป็นระบบที่เชื่อมความสันพันธ์ในเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากร เช่น มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในการปลูกพืช ลดการใช้สารเคมี ลดการเสื่อมสภาพของดิน และการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำ ฯลฯ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อก่อนการใช้ชีวิตของชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ละนาอยู่อย่างแบบเรียบง่ายพอมีพอกิน ทำการเกษตรไว้กิน แบ่งปันญาติพี่น้องและสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้แรง อยู่อย่างพอเพียงตามวิถีคนไทยใหญ่ ชาวบ้านในชุมชนมีความสัมพันธ์กันรักกันซึ่งกันและกันและมีการแบ่งปันสูง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอามือเอามื้อกันในภาคการเกษตร ไม่มีการจ้างแรงงาน ซึ่งมีความเชื่อความเคารพในประเพณีวิถีวัฒนธรรมอย่างดีเยี่ยม
ต่อมาเกิดการพัฒนาทางสังคม ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในชุมชน โดยมี ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยง ดังนี้
- พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ลดน้อยลง พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นส่วนบุคคล ใช้เป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้ระบบการเลี้ยงเปลี่ยนแปลงไป ต้องมีเวลาดูแลสัตว์มากขึ้น มิฉะนั้นสัตว์เลี้ยงอาจเข้าสวน ไร่ ชาวบ้าน จะต้องเสียค่าหมายค่าปรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่คุ้มค่ากับผู้เลี้ยงสัตว์
- พื้นที่อาหารสัตว์ในสวน ในลำห้วย และในป่า มีน้อยลง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกบุกเบิกเป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจ เกิดการใช้สารเคมีทำให้พืชอาหารสัตว์หายไป และน้ำในการดื่มกินของสัตว์ปนเปื้อนสารเคมี สามารถที่จะใช้ดื่มกินได้อีกต่อไป
- สุขภาพสัตว์เลี้ยงมีความแข็งแรง อุดมสมบูรณ์น้อยลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมถูกทำลาย อาหารการกินของสัตว์ลดน้อยลง และพืชอาหารไม่ปลอดภัยมีความปนเปื้อนสารเคมี
- การขยายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่มี เกิดจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยงเกิดโรค ล้มตายมากขึ้น เกิดจากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงของสัตว์เลี้ยง
- ภาวะทางเศรษฐกิจของผู้เลี้ยงมีน้อยรายได้น้อยกว่ารายจ่าย มีหนี้สินจำนวนมาก เป็นสาเหตุของการขายสัตว์เพื่อลดหนี้ ทำให้จำนวนสัตว์มีน้อยลงในชุมชน
การวิเคราะห์สภาพการณ์
ปัจจัยเงือนไข ปัญหา – สาเหตุของการเลี้ยงสัตว์ มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนาไม่สามารถเลี้ยง วัว – ควาย ในจำนวนที่มากได้ เนื่องด้วยปัญหาหลักที่สำคัญได้แก่ ปัญหาเรื่องพื้นที่อาหารสัตว์โดยเฉพาะอาหารหยาบ ซึ่งเป็นอาหารหลักของ วัว – ควาย ในทุกระยะการเจริญเติบโต เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการจัดการอาหารหยาบเลย ยังคงเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติให้หากินเองในพื้นที่ที่มีแต่หญ้าพื้นเมืองซึ่งมีคุณค่าทางอาหารต่ำ และมีปัญหาเรื่องพื้นที่แปลงหญ้า ไม่มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์
จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนา ในปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่มีปริมาณสัตว์เลี้ยงน้อย เนื่องจากปัญหาหลักๆ คือพื้นที่มีน้อย ซึ่งจำนวนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของชุมชน 2 พื้นที่ /โซนโซนเหนือ จำนวน 100 ไร่ โซนใต้ จำนวน 300 ไร่
ในฤดูแล้งเมื่อไม่มีหญ้า เกษตรกรก็ยังคงเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองในพื้นที่เดิมๆ วัว – ควายจึงได้กินอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและซูบผอม จนบางครั้งอาจถึงตายเนื่องจากการขาดอาหาร อาหารหยาบจึงนับได้ว่าเป็นแหล่งโภชนะที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของวัว – ควาย การจัดการด้านอาหารหยาบจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นวัวหรือควาย ทั้งนี้การตลาดสัตว์เลี้ยงปัจจุบันของชุมชนบ้านแม่ละนา นับเป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน เนื่องจากลักษณะของตลาดยังคงเป็นการซื้อขายในลักษณะการตีราคาเหมาจ่ายเป็นตัว ดังนั้นพ่อค้าที่มีความรู้และประสบการณ์ในการซื้อขายมานาน จึงมักอาศัยข้อได้เปรียบดังกล่าวในการซื้อจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนาในราคาต่ำ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่สามารถกำหนดราคาได้ด้วยตัวเอง หรือไม่มีตลาดรองรับ
นอกจากนี้การเกิดโรคระบาดต่างๆ เช่นการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย หรือบาดแผงที่เกิดจาการต่อสู้ หรือสัตว์ป่าทำร้าย ฯลฯ เพราะปัจจุบันมีพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์มีน้อยลง ไม่สามารถจัดระบบในการจัดการเลี้ยงได้
ความรู้ที่เอื้อต่อการจัดการการเลี้ยงสัตว์ที่มีอยู่ในชุมชน ชาวบ้านบ้านแม่ละนามีพื้นที่เลี้ยงสัตว์อยู่ 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่โซนเหนือ และโซนใต้ โดยปกติชาวบ้านมักไปเลี้ยงในโซนเหนือ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างกว่าโซนใต้ (ปากถ้ำ) มีผู้เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ออกนอกพื้นที่ หนี้เข้าไปในสวนไร่ของชาวบ้าน และมีพื้นที่ปล่อยในช่วงนอกฤดูกาลผลิต (ฤดูร้อน)จะเลี้ยงในบริเวณนาของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมในการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน เป็นการจัดการที่มีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยเฉพาะเจ้าของแปลงนา เป็นการสร้างสมดุลของระบบนิเวศของแปลงนา เพราะในฤดูเพาะปลูกพื้นที่แปลงนาจะได้มีปุ๋ยปรับปรุงดินสร้างการเจริญเติบโตของพืชและได้ผลผลิตที่ดี
จากอดีตมีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก มีมูลสัตว์จำนวนมากสามารถเก็บมาปรับปรุงดินในสวนในไร่ได้ แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงของลงของสัตว์เลี้ยง ทำให้ไม่สามารถจะนำไปแบ่งตามสวนตามไร่ได้ สามารถใช้ได้ในพื้นที่นาที่เดียว
ความเชื่อในการเลี้ยงควาย การเลี้ยงควายของชาวบ้านบ้านแม่ละนา เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในภาคการเกษตร เช่น การทำนา ใช้ขนข้าวขนส่งสินค้าการเกษตร เป็นต้น ระบบการเลี้ยงในอดีตและปัจจุบันยังเป็นแบบเดิม ซึ่งการเลี้ยงควายของชาวบ้านจะมีความเชื่อ คือ ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนร่วมทำงาน มีคูณมีประโยชน์กับชาวบ้าน ชาวบ้านในชุมชนจะไม่กินควาย เชื่อว่าถ้ากินควายที่เลี้ยงจะไม่ดีกับตัวเอง ทำให้ตัวเองทำมาค้าขายไม่ดี การทำงานไม่รุ่งเรือน ความเชื่อดังกล่าวยังมีอยู่จงถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีความเชื่อของชาวบ้านบ้านแม่ละนา
การเลี้ยงควายจะมีการเรียกขวัญควายทุกปี และทุกครั้งในการก่อนลงทำนา หรือก่อนที่จะใช้แรงงานควาย จะมีการทำพิธีเรียกขอคำมาควาย เพื่อบอกถึงการดูแลซึ่งกันและกัน ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันการเลี้ยงควายน้อยลง พิธีกรรมดังกล่าวจะมีเฉพาะครอบครัวที่ยังเลี้ยงควายเท่านั้น เป็นต้น
ความรู้ในการจัดการระบบการเลี้ยง ที่ผ่านมาจากการศึกษาข้อมูลในชุมชน พบว่าสาเหตุปัญหาที่ทำให้ระบบการเลี้ยงสัตว์ไม่ดี เนื่องจากพื้นที่ทรัพยากรเริ่มมีความเสื่อมสภาพลง มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้อยลง มีการใช้พื้นที่มากขึ้นในการทำพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งพื้นที่ส่วนหนึ่งหลุดมือได้ขายที่ดินให้ญาติพี่น้องในต่างชุมชน และมีประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ถูกทำลายมากขึ้น
การแก้ไขเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มพูดคุยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการเลี้ยงของชุมชนแบบจริงๆจัง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรมีเวลาดูแลสัตว์ให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงรุกเข้าพื้นที่สวน – ไร่ เกษตรกร (ป้องกันการโดนปรับ) และในชุมชนควรมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรอาหารสัตว์ ให้มีการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคสัตว์ (สมุนไพร) และมีการสรุปบทเรียน ประเมิน สู่โอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม
ความรู้เรื่องการเลี้ยงหมูดำ การเลี้ยงหมูดำใช้วิธีการขังคอก ในรูปแบบหมูหลุด มีการล้างคอกหมูทุกวัน และใช้ปุ๋ยหมักธรรมชาติ เพื่อระงับกลิ่น การเลี้ยงจะไม่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปเพราะจะทำให้มีกลิ่นเหม็น ในการเลี้ยงเริ่มต้นจากการซื้อลูกหมูน้อย ใน 1 ปีจะอยู่ 2 รุ่น อาหารหมูจะมีการเตรียมไว้ทุกเช้า โดยการต้นข้าวกับรำข้าว และข้าวโพด มะละกอ ฟักทอง หน่อกล้วย และปลายข้าว ต้นไว้ในมื้อ เย็น – เช้า การให้อาหารหมูดำไม่ควรให้มากเกินไป ให้ที่เพียงพอ เมื่อให้อาหารหมูเสร็จจะต้องล้างคอกทุกครั้ง
การดูแลหมูในกรณีมีพยาธิให้นำใบกะทิ ให้หมูกิน 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน – หนาว ให้ซุ้มไฟให้หมู เพื่อป้องกันแมลง และยุ้ง ส่วนในช่วงฤดูร้อนให้นำน้ำซีดเพื่อให้หมูคลายความร้อนไม่ให้หมูเครียด ซึ่งจะทำให้ได้กำไรจากการเลี้ยงขาย 40,000 – 50,000 บาทต่อปี โดยจะมีราคาในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. เนื่องจากมีประเพณีทางวัฒนธรรมที่ต้องใช้หมูทางพิธีกรรมตามศาสนา ทั้งนี้เป็นการเอื้อต่อระบบการเลี้ยงหมูดำอย่างดี
โดยวิธีการการเพาะพันธุ์หมูดำ คือ นำแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ มาผสมกัน ไว้ให้อยู่ร่วมกันภายใน 3 วัน และภายใน 3 หมูคลอด ช่วงคลอดในนำลูกหมูน้อยเช็ดด้วยผ้าให้สะอาด แล้วตัดสะดึงและตัดฟันออก เพื่อไม่ให้ลูกหมูกัดนมแม่ในเวลาดื่มนม ปล่อยลูกหมูช่วงอายุไม่เกินหนึ่งเดือนครึ่ง พอถึง 2 เดือนในขังคอกไว้ไม่ให้ออกเล่นเพื่อป้องกันการทำลายพืชผลชาวบ้าน ในกรณีลูกหมูสามารถขายได้ตั้งแต่ 1 เดือนครึ่ง ในราคาตัวละ 1,000 บาท และการขายขี้หมูจะได้ในราคา 25 – 30 บาทต่อกระสอบ
การหุงต้มอาหารหมูดำ ใช้ไม้ (ฟืน) 1 วัน ต่อ 20 ท่อน ในหนึ่งปีจะใช้ครั้งละ 1 ลำรถจักรยานยันต์ โดยไปเก็บจากในสวนในไร่ที่ปล่อยทั้งไว้
ปัญหาการจัดการหมู หรือหมูดำ
- อาหารหมูแพงขึ้น เช่น รำข้าว
- กลิ่นขี้หมู
- ไม่สามารถเลี้ยงจำนวนมากๆได้ เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบอาหารมากขึ้น เช่น แกลบข้าว ต้นกล้วย
- ข้อจำกัดผู้เลี้ยงจะต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูง
- เสียเวลาในการจัดเตรียมอาหาร ให้อาหาร
- หมูมีการเจริญเติบโตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป
ราคาขายสัตว์เลี้ยงชุมชนแม่ละนา(ปัจจุบัน)
- วัวเล็ก 12,000 บาท / วัวใหญ่ 25,000 บาท
- ควายเล็ก 38,000 บาท / ควายใหญ่ 50,000 บาท
ราคาหมูดำ
- ลูกหมู(เหย้านมแม่) 1,000 บาท /ตัว
- ลูกหมูน้อย (ตัว) 100 บาท /กก.
- หมูใหญ่ เฉลี่ย 8,500 บาท /ตัว (ขึ้นอยู่กับอายุการเลี้ยง)
- หมูใหญ่ อายุ 4-5 ปี ราคา 12,000 บาทเป็นต้นไป
กฎกติการ่วมของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนา (วัว – ควาย –หมูดำ)
- สมาชิกทุกคนต้องมาร่วมกลุ่มด้วยความสมัครใจและเต็มใจ
- สมาชิกทุกคนต้องมีการออมทรัพย์เดือนละ 50 บาท (มติเห็นชอบกลุ่ม)
- ในกลุ่มสมาชิกจะมิให้บุคคลภายนอกมาร่วมเป็นสมาชิก (ปิดรับสมาชิกเพิ่ม)เว้นแต่มีข้อตกลงจากสมาชิกกลุ่มทุกคน
- หากสมาชิกบุคคลไหนมีการพูดโกหกพูดเท็จในการพัฒนาหรือกิจกรรมกลุ่ม บุคคลนั้นจะถูกลงโทษในการพัฒนากิจกรรม 2 เท่า ถ้าบุคคลใดไม่ทำตาม สมาชิกทุกคนเห็นชอบให้ออกจากกลุ่ม และสามารถรับเงินออมได้เท่าจำนวนเงินที่ได้ออมไว้เท่านั้น
- ในระยะ 5 ปี หากสมาชิกคนใดมีความต้องการจะออกจากกลุ่มสามารถไดรับเงินออมจากการออมของตนเองเท่านั้น
- ในระยะ 5 ปีแรกที่มีสัญญาเงินกู้อยู่ ถ้าบุคคลใดเกิดการล้มตายจะได้รับตามเงินออมเอาไว้เท่านั้น และได้รับส่วนปันผลของลูกสัตว์เลี้ยงตามสัดส่วนของสมาชิกเท่านั้น
- ในระยะที่คืนเงินกู้หมดแล้ว หากสมาชิกคนใดต้องการออกจากสมาชิกกลุ่มหรือตาย ก็จะได้รับสิทธิผลประโยชน์ตามสัดส่วน
- ในกรณีสมาชิกในกลุ่มมีเหตุจำเป็น เช่น ตาย เจ็ดปวด สามารถขายสัตว์เลี้ยงไปก่อนได้ แต่ต้องชำระคืนกลุ่มเท่าที่มีเป็นงวดๆ
- หากมีการประชุมสมาชิกกลุ่ม สมาชิกคนใดไม่มาประชุมให้ปรับ 20 บาท ในกรณีที่อยู่และไม่มีเหตุผลอื่นใด และมาหลังการประชุม 1 ชั่วโมง
- ในกรณีการบริหารจัดการดูแลกลุ่ม ให้หมุนเวรการจัดการกลุ่ม ครั้งละ 2 คน
ผู้เลี้ยงสัตว์ในชุมชนโดยเฉลี่ยมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนผู้เลี้ยงสัตว์ 4 คน เป็นแรงงานในภาคการเกษตรเฉลี่ย 2 คน (พ่อ แม่) และมีอายุ ประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์มากกว่า 30 ปีขึ้นไป
การจัดการด้านอาหารสัตว์เลี้ยง 90 % มาจากธรรมชาติ ลักษณะการเลี้ยงเป็นรูปแบบของการขังคอก – ปล่อยอิสระ เป็นส่วนมาก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ของตนเองโดยเฉลี่ยในครัวเรือน (ส่วนบุคคล) 3 แปลง ในพื้นที่ ไร่ นา สวน และ อาชีพหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของชุมชน คือ การทำนา ทำสวน และอาชีพรอง คือ การรับจ้าง กับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ช่องทางการตลาดในการขายมี 2 ทาง ได้แก่ ติดต่อพ่อค้าโดยตรงพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ และช่องทางผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยรวมการขายสัตว์เลี้ยงแต่ละครั้งเกษตรกรเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความพอใจกับราคาที่ขายได้
ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดระบบการเลี้ยงสัตว์บ้านแม่ละนา
จากการศึกษาระบบการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน พบว่า การเลี้ยงสัตว์มีจำนวนผู้เลี้ยงน้อยลง และปริมาณสัตว์ลดลง โดยการเลี้ยงสัตว์จะใช้ทุนตัวเองเป็นหลัก เริ่มจากการเลี้ยงแม่พันธุ์ ในรูปแบบการขังคอก และการปล่อยให้กินตามสวน รินถนน พื้นที่นา และตามป่าภูเขา เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นอาชีพรอง มีประสบการณ์การเลี้ยงตั้งแต่ 20 -30 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีอายุตั้งแต่ 30 ปี สถานะภาพแต่งงานแล้ว มีบุตรแล้ว มีสมาชิกในครัวเรือน 3-4 คน ไม่ได้รับการศึกษา มีการนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่
ลักษณะการเลี้ยงส่วนใหญ่จะปล่อยในบางช่วงเวลา ในการเลี้ยงจะใช้แรงงานคน 1 คน หรือ 2 คน (ในบางครั้ง) มีรายได้จากการเลี้ยงต่อปี 15,000 – 20,000 บาท การปล่อยให้ออกหาอาหารในขอบเขตชุมชนได้พบหญ้าส่วนใหญ่เป็นหญ้าพื้นเมืองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น หญ้าแพรก หญ้ายาง หญ้าปากควาย หญ้าหวาย หญ้าคลุมตอ หญ้ารังนก หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนกา หญ้าแห้วหมู หญ้ามาลาเซีย ผักปราบ ผักโขม หญ้าไผ่ ฯลฯ และใบพืชไม้ผลชนิดต่างๆ เกษตรกรบางคนจะเสริมฟางข้าวให้ และให้น้ำเกลือ ตามกำลังแรงเท่าที่มี ทั้งนี้ลักษณะการขังคอกในการเลี้ยงจะเป็นคอกที่มีแต่รั้ว และมีหลังคากับไม่มีอะไรเลย
แต่ทั้งนี้เกษตรกรยังมีข้อกังวลในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ฯลฯ และการเลี่ยนแปลงภายในชุมชน เช่น การทำเกษตรแบบไร่ถาวรมาปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์น้อยลง แหล่งอาหารสัตว์ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีความกังวลมากที่สุด ในการนี้การสานกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยง คือ การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติในการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน และหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับชุมชน โดยมีข้อเสนอดังนี้
- ปัญหาสัตว์เข้าสวนเกษตร – การถูกปรับ ให้มีการแบ่งโซนการเลี้ยงสัตว์ – แบ่งพื้นที่การเกษตรให้ชัดเจน /เกษตรกรที่ทำเกษตรให้ทำรั่วกันสัตว์เลี้ยงอย่างมาตรฐาน ผู้เลี้ยงสัตว์หม่ำดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด ควบคุมการสัตว์เลี้ยงไม่ออกนอกพื้นที่ และมีกฎระเบียบข้อบังคับเข้าสู่แผนองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เกิดการคุ้มครองผู้เลี้ยงสัตว์
- ให้มีการจัดการในระดับตำบล – ชุมชน มีกฎระเบียบการจัดการร่วมระดับตำบล/ชุมชนและมีกฎหมาย กฎระเบียบคุ้มครองผู้เลี้ยงสัตว์ และเจ้าของสวน เพื่อเกิดความเป็นธรรมทางสังคมชุมชน
- ให้มีการจัดการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน มีการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ และพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ (พื้นที่สาธารณะของชุมชน)
- ให้มีการสร้างการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ มีการสรุปบทเรียนถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเมินผล สู่กระบวนการดำเนินการแก้ไข เคลื่อนงานสู่แผนชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมกับแผนการทำงานของแหล่งทุนต่างๆที่เข้ามาทำงานในชุมชนต่อไป
- ให้มีเวทีหรือกิจกรรม พูดคุยหารือระบบการจัดการสัตว์ของเกษตรกรเจ้าของสวน ไร่ และผู้เลี้ยงสัตว์มาได้นั่งคุยกัน และก่อให้เกิดการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งมีการรวมกลุ่มการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน ให้มีกิจกรรมพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เป็นรูปธรรมในการศึกษาเรียนรู้ให้กับชุมชน
- ให้มีการจัดการอนุรักษ์ฟื้นฟู ความรู้ภูมิปัญญาในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ในการดูแลรักษาโรคสัตว์ในยามเจ็บป่วย ยาชนิดต่างๆในการรักษาสัตว์ ความรู้การคัดพันธุ์ขยายพันธุ์ ความรู้ในการทำอาหารสัตว์ และความเชื่อภูมิปัญญาที่เอื้อต่อการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเกิดการถ่ายสิ่งเหล่านั้นให้กับคนรุ่นหลัง เป็นต้น
- ให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและองค์กรต่างๆ เข้ามาหนุนเสริมด้านกิจกรรมอบรมความรู้ และด้านปัจจัยต่างๆ
บทความโดย นายวรวิทย์ คีรีเกิดเกียรติ ประธานเครือข่ายเกษตรทางเลือกอำเภอปางมะผ้า และคณะตำบลปางมะผ้า