ตำบลกองควาย (คำว่ากอง หมายถึง ทางควายเดินผ่านโดยหลายๆ หมู่บ้านจะต้อนควายเดินทางมากินน้ำที่นี่ ชาวบ้านจึงเรียกตำบลนี้ว่า “กองควาย” ซึ่งหมายถึงทางเดินของควาย) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 2486 เดิมได้ถูกยุบเข้ากับตำบลดู่ใต้เพื่อความสะดวกในการปกครอง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ตำบลกองควายจึงแยกออกจากตำบลดู่ใต้อีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ.2537 ได้จัดตั้งการปกครองตำบลเป็น สภาตำบลกองควายและยกฐานะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลกองควาย เมื่อ พ.ศ.2539 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ยกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตำบลกองควายจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย 6 หมู่บ้านได้แก่ บ้านธงหลวง บ้านดอนน้ำครก บ้านนาผา บ้านน้ำครกใหม่ บ้านน้ำครกเก่า บ้านดอนเจริญ
เทศบาลตำบลกองควาย ได้รับการยกฐานะมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลกองควาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลกองควาย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นเทศบาลตำบลกองควาย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 มีประชากรทั้งสิ้น จำนวน 5,436 คน แยกเป็นชาย 2,664 คน หญิง 2,772 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 1,884 ครัวเรือน โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองน่าน ประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 22.00 ตารางกิโลเมตร หรือ 13,750 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่างๆดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดกับตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ทิศใต้ ติดกับตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ทิศตะวันตก ติดกับตำบลนาซาว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
เนื่องจากพื้นที่ตำบลกองควายนั้นมีที่นามากและมีพื้นที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำน่านไหลผ่านจึงทำให้คนตำบลกองควายทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยในปี 2557 มีการริเริ่มรวมกลุ่มเพื่อทำการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับใช้ในกลุ่มและการทำขาย โดยเกิดการรวมกลุ่มกันโดยความสมัครใจ มีการฝึกอบรมการคัดเมล็ดพันธุ์และองค์ความรู้ในการดูแลแปลงที่ทำเมล็ดพันธุ์จากหน่วยงานด้านการเกษตร เช่น ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เกษตรอำเภอ ในระยะเริ่มแรกได้มีการวางแผนการดำเนินงานโดยการหารือร่วมกันกับเทศบาลตำบลกองควาย ในการหนุนเสริมการทำงาน โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า หากกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว เทศบาลตำบลจะเป็นผู้รับซื้อแล้วจะนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ที่มีความต้องการ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้กลุ่มมีกำลังใจในการลงมือผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
ปี 2558 จากการรับองค์ความรู้และการลงมือปฏิบัติการของสมาชิกกลุ่มจำนวน 40 รายในการทำเมล็ดพันธุ์ข้าว กข.6 ปรากฏว่า พี่น้องสมาชิกสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้คุณภาพและปริมาณแต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว รวบรวมผลผลิต และการเสนอผลผลิตต่อเทศบาลตำบลกองควาย ปรากฏว่าทางเทศบาลไม่สามารถรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากกลุ่มเกษตรกรได้เนื่องจากราคาเมล็ดพันธุ์จากข้างนอกต่ำกว่าราคาเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มจึงทำให้เกิดปัญหา และทำให้เกษตรกรหมดกำลังใจในการทำ ในระยะนี้เอง ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนสามอาชีพก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยรับซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปกระจายต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มอ่อนกำลังลงมาก จึงไม่มีการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้วรวมกันขายอีก มีแต่ผลิตใช้ในครอบครัวเท่านั้น
จนเมื่อปี 2559 ตำบลกองควายได้มีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลกองควายขึ้น และมีการรื้อฟื้นกลุ่มขึ้นมาจดทะเบียน โดยประธานกลุ่ม นาย ชวน อินทะจักร ประธานสภาเทศบาลตำบลกองควายและได้มีการประชุมสมาชิกกลุ่มเดิมได้หารือในการวางแผนริเริ่มการรื้อฟื้นกลุ่มขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวก็มีความสำคัญเนื่องจากมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากนอกชุมชนมาใช้ซึ่งทำให้คนในชุมชนซึ่งมีองค์ความรู้มีความสามารถสูญเสียโอกาสทางรายได้ ประกอบกับได้รู้จักเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่านและการก่อเกิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จึงทำให้เกิดกำลังใจในการรื้อฟื้นและทบทวนการทำงานของกลุ่มขึ้นมาในปี 2560 กลุ่มได้มีการเตรียมการด้านองค์ความรู้ การศึกษาเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้และเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำเมล็ดพันธุ์ที่จะทำในลักษณะเชิงการค้า และสภาองค์กรชุมชนตำบลกองควายได้รับงบประมาณในการจัดทำแผนสามด้าน จึงได้บรรจุแผนงานในการขับเคลื่อนของกลุ่มลงในแผนงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลกองควาย
กระทั่งปี 2561 ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ได้เข้ามาให้ความรู้และให้กลุ่มยืมเครื่องจักรในการดำเนินงานของกลุ่ม เช่นเครื่องนวดหรือสีข้าวเปลือกสมรรถนะสูงเพื่อช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วในการทำมากขึ้น มีการระดมทุนกันอีกครั้งเพื่อเป็นทุนในการพัฒนากลุ่ม มีการทบทวนความล้มเหลวของการดำเนินการที่ผ่านมาและการวางแผนทางด้านการตลาดใหม่ โดยจะริเริ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบอินทรีย์ หรือ นาอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค จากเดิมที่เคยทำแต่เกษตรปลอดภัยเท่านั้น นอกจากนั้นยังได้ศึกษาเรื่องของการทำเพจเกจ การทำเรื่องระบบมาตรฐานเพื่อรองรับด้านการตลาดและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดกลุ่มเรียนรู้จากความล้มเหลวจากจุดอ่อนของการดำเนินการแล้วปรับตัวพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มให้มากขึ้นกว่าเดิมซึ่ง นายชวนอินทะจักร์ กล่าวว่า “ทุกอย่างจะสำเร็จต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจและการมีเพื่อนให้มาก” จึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับหลายหน่วยงานองค์กรเพื่อที่จะหาช่องทางในการพัฒนากลุ่มให้อยู่รอดและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในด้านชุมชนนั้นคนในชุมชนมีความสามัคคี เรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งกลุ่มก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงชุมชนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นลดการพึ่งพิงจากภายนอก มีความสามารถในการคัดเมล็ดพันธุ์การลดต้นทุนการผลิตได้ และยังมีการทบทวนและพัฒนาด้านวิธีคิดและเกิดการขยายตัวขึ้น กลุ่มมีความรู้ในการผลิต การดูแลรักษาระบบนิเวศน์ และกลุ่มมีกำลังใจในการทำเมล็ดพันธุ์เพราะมีภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน
ในการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมีการตื่นตัวเรื่องการสร้างเศรษฐกิจในชุมชนคนในชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพเกษตรกรที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และในการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่พบ คือ มีหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการ หนุนเสริมด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีความร่วมมือ และยังเป็นโอกาสต่อการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตร เกษตรอินทรีย์
เมื่อกล่าวถึงผลลัพธ์ความสำเร็จในเชิงคุณค่าก็จะพบว่า ในด้านเศรษฐกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต มีอาชีพรองรับคนในชุมชน มีตลาดรองรับผลผลิตมีช่องทางการตลาดที่มากขึ้น และข้าวของชุมชนถูกยกระดับให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านสังคม พบว่า คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดความร่วมมือ เกิดการเชื่อมโยงการทำงานมากขึ้น มีการทำแผนในการพัฒนาตำบลร่วมกันด้านเศรษฐกิจของชุมชน และในด้านทรัพยากร มีการฟื้นฟู การอนุรักษ์ดิน พื้นที่ทางการเกษตรให้มีดีขึ้น เกิดอาหารตามธรรมชาติในท้องนา เป็นการอนุรักษ์สัตว์และพืชน้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด พืชน้ำ และลดปริมาณสารเคมีในแหล่งน้ำของชุมชน และผลความสำเร็จในเชิงมูลค่านั้น กลุ่มได้รับการสนับสนุนให้ยืมเครื่องจักรฟรีคิดเป็นมูลค่าเช่ายืม 30,000 บาทต่อปี สมาชิกกลุ่มจะมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อย่างน้อยรายละ 15,000 บาทต่อปี คนในชุมชนได้มีเมล็ดพันธุ์
ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน/ชุมชนริเริ่ม และเชื่อมั่นแนวคิดของการรวมกลุ่ม มีผู้นำชุมชนที่มีความเสียสละ มีความเข้มแข็ง ชุมชนเองมีความพร้อมจากทุนเดิมคือมีความเป็นเกษตรกร มีที่ดิน มีภูมิปัญญา/ความรู้ มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ อีกทั้งมีการวางแผนการทำงาน มีกติกา และสรุปงานเพื่อปรับปรุงพัฒนา โดยมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามาหนุนเสริม เช่น ศูนย์วิจัยข้าวแพร่มาเป็นทีมพี่เลี้ยง ตลอดจนมีหน่วยงาน/องค์กร/เอกชนให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน(ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนสามอาชีพ) รวมถึงการเอื้ออำนวยของนโยบายรัฐ
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า จะดำเนินการขยาย/และพัฒนาศักยภาพเพิ่มความรู้ให้กับสมาชิก ขยายช่องทางการตลาดไปต่างจังหวัด ปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐานเพื่อใช้เองและจำหน่าย และทำการขยายผลด้านการเรียนรู้สู่คนรุ่นใหม่/เยาวชน
คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ชุมชนตำบลกองควาย นางเสาวนีย์ สุรินทร์/นางดวงเดือน ขัติยะเนตร
เจ้าขององค์ความรู้ นายชวน อินทะจักร และคณะทำงานกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าว