โดยพอช.สำนักงานภาคเหนือ
ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์เดิมเป็นชุมชนเล็ก ๆ สมัยที่มีการสู้รบกับพม่า โดยชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มเพื่อต่อต้านข้าศึก และมีท่าน้ำ คือ แม่น้ำน่าน ที่มีด่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ ต่อมาชาวบ้าน จึงเรียกว่า ตำบลบ้านด่าน ปัจจุบัน หมู่ 10 หมู่บ้าน บ้านคลองสรวง บ้านคลองดินหม้อ บ้านด่าน บ้านหาดสารส้ม บ้านไร่ บ้านคุ้งยาง บ้านเนินตาตุ้ม บ้านน้ำวังหลวง ตั้งงอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ซึ่งตำบลบ้านด่าน จะมีแม่น้ำไหลผ่านตรงกลางตำบล และมีบ้านเรือนติดกับแม่น้ำน่านทั้งสองฝั่ง และมีพื้นที่ภูเขาลาดชันพื้นที่ดินดอนและพื้นที่ดินลูกลื่นลอดลาด
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ตำบลบ้านด่านมีพื้นที่ทั้งหมด 23,462 ไร่ หรือ 37.54 ตารางกิโลเมตร มี 12 หมู่บ้าน มีประชากรจำนวน 5,331 คน ทิศเหนือ ติดกับตำบลวังดิน ทิศตะวันออกติดกับตำบลแสนตอ ทิศใต้ติดกับตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน ทิศตะวันตกติดกับตำบลผาจุก ตำบลบ้านด่านมีแม่น้ำน่านไหลผ่าน
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 เกษตรกรทำนาโดยใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ การทำนามักจะใช้สารเคมีแทบทุกครัวเรือน ซึ่งส่งผลให้ชาวนามีค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงตามไปด้วย เนื่องจากราคาสารเคมี ทางการเกษตรกรสูงขึ้นทุกปีอีกทั้งสุขภาพของเกษตรกรมักจะทรุดโทรมลง อันเนื่องมาจากการใช้ สารเคมีในปริมาณมาก ต่อเนื่องกันมายาวนานและมีการสะสมสารพิษในร่างกายจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตในการทำนา เฉลี่ย 5,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก
ในปี พ.ศ. 2552 จึงได้จัดตั้งกลุ่มสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีกลางให้คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา ติดตามสถานการณ์ร่วมกัน และในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุการปลูกข้าว และพบว่าเกษตรกรมีปัญหาด้านการผลิต ได้แก่ น้ำที่ใช้ในการเกษตรยังมีสารเคมีตกค้าง ต้นทุนการ ผลิตสูง ชาวนาขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต ด้านการแปรรูป และไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ค่าขนส่งในการจำหน่ายสูง ราคาในการจำหน่ายผันผวน ไม่มีตลาดในการจำหน่าย นอกจากนี้ปัญหาของเกษตรกรพบว่าคู่ค้ายังไม่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเกษตร เพราะยังไม่มีการรวมกลุ่มอย่างเป็น ทางการ ขาดแกนนำของกลุ่มที่เป็นทางการ ข้าวมีโรครบกวนหลายชนิด ได้แก่ โรคใบขาว หนอนกอ และหนอนห่อใบ มีปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอสำหรับทําการเกษตร และราคาข้าวตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ ส่วนความต้องการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกษตรกร ได้แก่ การสร้างและพัฒนา เครือข่ายเกษตรกร เงินทุน องค์ความรู้ในการผลิต การรวมกลุ่ม องค์ความรู้ในการแปรรูป และองค์ ความรู้ในการจำหน่ายผลผลิต 2. การพัฒนาเครือข่ายเกษตรผู้ปลูกข้าว ปี พ.ศ. 2558 ได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่สนใจทำข้าวอินทรีย์ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลให้ความรู้และงบประมาณสนับสนุน มีเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์เต็มรูปแบบ และได้ในรับรองข้าวอินทรีย์จากกรมการข้าว และมีเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยน หมายถึง เกษตรกรที่เริ่มเข้ามาสู่กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์โดยมีกระบวนการผลิตที่ ปลอดภัยจากสารเคมีและมีการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปี พ.ศ. 2559 มีงบเกษตรอำเภอให้การสนับสนุนและฝึกอบรมให้เกษตรกรทำปุ๋ยโบกาชิ และทำราขาวราเขียวโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี จนเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้เริ่มนำผลผลิตข้าวอินทรีย์ ออกจำหน่ายตามตลาด
การเปลี่ยนแปลง จากเดิมเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำนาเป็นหลัก ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในร่างกายและผลผลิตตกต่ำ ดังนั้นกลุ่มสมาชิกกลุ่มศูนย์ข้าวมีแนวคิดจะนำเกษตรอินทรีย์มาปรับใช้ในกลุ่ม โดยเริ่มจากการปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะมีแนวทางที่จะทำให้ดินที่เสื่อมสภาพ กลับคืนมาเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย
โดย การทำปุ๋ยโบกาฉิ คือ การทำปุ๋ยหมักโดยเอาวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติมาหมักด้วยการใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม การหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเป็นปุ๋ยหมักกองเล็กใช้เวลาหมักไม่เกิน 7 วัน จะได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพสูงเพราะคุณลักษณะของจุลินทรีย์จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณสมบัติของปุ๋ยหมัก ซึ่งทางกลุ่มได้มีกระบวนการ ดำเนินงานขับเคลื่อน ให้ทางกลุ่มศูนย์ข้าวจัดประชุมสมาชิกขึ้นมาเพื่อหาข้อมูลปัญหาหมู่บ้าน นำมาสรุปปัญหาในรูปแบบตำบล จากนั้นจัดตั้งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชุนตำบลบ้านด่าน เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ และจัดหาเมล็ดพันธุ์ดี ทำสารชีวภัณฑ์ ภายในกลุ่ม จนทำแปลงเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ ตำบลบ้านด่าน
หัวใจสำคัญ ที่ทำให้เกิดผลสำเร็จเพราะมีปราชญ์ชาวบ้านให้คำแนะนำ มี อสม.ประจำหมู่บ้านคอยประสานงาน มีเกษตรตำบลให้ความรู้ในด้านการผลิตสารชีวภัณฑ์ มีการจัดหาเมล็ดพันธุ์ดี ทำสารชีวภัณฑ์ ภายในกลุ่ม มีพี่เลี้ยงที่ดีคือศูนย์ข้าวพันธุ์ดี จังหวัดแพร่
ตัวอย่าง เทคนิคการผลิตปุ๋ยโบกาฉิ คือ การทำปุ๋ยหมักโดยเอาวัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติหมักด้วยการใช้จุลินทรีย์ (EM) เป็นปุ๋ยหมักกองเล็กใช้เวลาหมักไม่ เกิน 7 วัน จะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง สามารถใช้สิ่งต่างๆ มาหมักทำโบกาฉิได้ ฟาง, เศษอาหาร หรือ มูลสัตว์ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโบกาฉิมูลสัตว์เท่านั้น
สิ่งที่ต้องเตรียม
- มูลสัตว์ทุกชนิด 1 ส่วน ( กระสอบ)
- แกลบดิบ 1 ส่วน ( กระสอบ)
- รำละเอียด 1 ส่วน ( กระสอบ)
- จุลินทรีย์ EM 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)
- กากน้ำตาล 20 ซีซี (2 ช้อนโต๊ะ)
- น้ำสะอาด 10 ลิตร หรือ 1 ถัง
วิธีทำ
- ส่วนที่ 1 เตรียมจุลินทรีย์ EM , กากน้ำตาล , น้ำสะอาด , ผสมไว้ในถังน้ำ
- ส่วนที่ 2 นำมูลสัตว์ + รำละเอียดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ส่วนที่ 3 นำแกลบดิบใส่ลงในน้ำที่ขยายจุลินทรีย์ EM ในส่วนที่ 1 จุ่มให้เปียกแล้วบีบพอหมาดๆนำมาคลุกกับส่วนผสม ขั้นที่ 2 ให้เข้ากันจะได้ความชื้น 40 – 50 %( กำแล้วไม่มีน้ำหยดจากง่ามมือ)
การเก็บรักษา เก็บรักษาเมื่อโบกาฉิแห้งสนิทควรเก็บรักษาในที่ร่ม ไม่โดนฝนและไม่โดนแดด สามารถเก็บรักษา ได้นานประมาณ 1 ปี
วิธีใช้
- ใช้ปุ๋ยแห้งในแปลงปลูกต้นไม้ทุกชนิดในอัตราส่วนปุ๋ยแห้ง 1 กำมือ/พื้นที่ 1 ตรม. แล้วทำการเพาะปลูกได้
- พืชผักที่มีอายุเกิน 2 เดือน เช่น ฟักทอง , แตงกวา , ถั่วฝักยาว , กระหล่ำปลี ใช้ปุ๋ยแห้งรองก้นหลุมก่อนปลูกใช้ประมาณ 1 กำมือ
- ไม้ยืนต้น , ไม้ผล ควรรองก้นหลุ่มด้วย เศษหญ้า – ใบไม้ ฟางแห้ง และปุ๋ยแห้งประมาณ 1 – 2 บุ้งกี๋ ส่วนไม้ยืนต้น , ไม้ผลที่ปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยแห้ง ให้รอบทรงพุ่มแล้วคลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง , ฟางแห้ง
- ไม้ดอก , ไม้ประดับ , ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยแห้งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ รอบๆ โคนต้น
จากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมีความสนใจเข้ามาร่วมกลุ่มเพื่อเรียนรู้กระบวนการปลูกข้าวอินทรีย์มากขึ้น และมีความตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งในด้านการผลิต และการตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับความรู้ใน การผลิตพืชผักอินทรีย์อื่นๆที่เกษตรกรสามารถนำไปช่วยเสริมในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง และเกษตรกรมีข้าวอินทรีย์บริโภคภายครัวเรือนและในตำบล ไม่มีสารพิษตกค้างในร่างกาย มีสุขภาพที่ดี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน และสภาพดิน น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์
นอกจากที่กล่าวมายังได้มีการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์ สามารถขยายข้าวพันธุ์ดีสู่ชุมชนรอบข้างและมีการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ในตลาดสินค้าเกษตรในจังหวัดอีก และทางศูนย์ข้าวแพร่ยังได้สนับสนุนการผลิตข้าว GAP ด้วย โดยความสำเร็จดังกล่าวนั้นล้วนเกิดจากการที่สมาชิกกลุ่มมีความสามัคคีภายในกลุ่ม มีกระบวนการขั้นตอนในการวางแผนที่ดี แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่ามีปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานที่สมาชิกยังไม่ครอบคลุมทั้งตำบล รวมถึงการจำหน่ายยังไม่มีตลาดรองรับข้าวอินทรีย์
แนวทางที่จะทำต่อในระยะข้างหน้าจึงต้องทำการประชาสัมพันธ์สมาชิกให้ครอบคลุมผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งตำบล และหาตลาดข้าวอินทรีย์ในแหล่งชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาต่อยอด การแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย